โศกนาฏกรรมซ้ำซาก… ลืมเด็กๆ ใน ‘รถโรงเรียน’ ได้เวลายกเครื่อง ‘รถรับส่ง-ออกกฎเหล็ก’!! / การศึกษา

การศึกษา

 

โศกนาฏกรรมซ้ำซาก…

ลืมเด็กๆ ใน ‘รถโรงเรียน’

ได้เวลายกเครื่อง ‘รถรับส่ง-ออกกฎเหล็ก’!!

 

กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ซ้ำซาก ที่ผู้เกี่ยวข้อง “ไม่เคย” นำมาเป็นบทเรียน กรณีเด็กเล็กๆ หรือนักเรียน “ถูกลืม” ไว้บนรถรับส่งนักเรียน จนเสียชีวิต

ล่าสุด เกิดเหตุสะเทือนใจอีก เมื่อ ด.ญ.เขมนิจ ทองอยู่ หรือน้องจีฮุน อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนเพลินจิตวิทยา อ.พานทอง จ.ชลบุรี ถูกครูเวรประจำรถ และคนขับรถตู้รับส่ง หรือครูผู้ควบคุมรถ ลืมน้องจีฮุนไว้ในรถ ทำให้ขาดอากาศ และเสียชีวิตในที่สุด เพราะกว่าที่ผู้เกี่ยวข้องจะรู้ ก็ปาเข้าไปช่วงเย็นของวันเดียวกัน ที่ครูผู้ควบคุมรถเตรียมนำรถตู้ไปส่งนักเรียนกลับบ้าน และเจอน้องจีฮุนนอนเสียชีวิตอยู่บนพื้นรถหลังเบาะคนขับ

โดยครูเวรประจำรถตู้รับส่งนักเรียน “ยอมรับ” ว่าลืมน้องในรถตู้จริงๆ

ภาพที่แม่ของน้องจีฮุนกอดกระเป๋านักเรียนของลูกสาวไว้กับตัวตลอดเวลา สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็นอย่างยิ่ง

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พานทอง ได้สอบปากคำพยาน และผู้เกี่ยวข้อง บวกกับผลการตรวจชันสูตรศพเบื้องต้น ไม่พบร่องรอยน้องจีฮุนถูกทำร้าย ขณะที่หมอชันสูตรพบสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากภาวะอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน ซึ่งเด็กที่ติดในรถจะเสียชีวิตจากกรณีนี้เป็นส่วนใหญ่

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาครูผู้ควบคุมรถ และครูเวรประจำรถ ในข้อหา “กระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา!!

 

หากย้อนดูข้อมูลสถิติย้อนหลัง 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค จะพบเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถ และทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพัง 129 ครั้ง ในจำนวนนี้เสียชีวิต 6 ราย โดยเด็กที่เสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 2-6 ปี

ส่วนสถิติด้านสถานที่เกิดเหตุที่พบเด็กเสียชีวิต พบว่า เกิดเหตุขึ้นในรถรับส่งนักเรียน 5 ราย และรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ราย โดยเด็กทั้ง 6 ราย ถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป

ขณะที่สถิติช่วงอายุของเด็กที่ประสบเหตุถูกลืม และทิ้งไว้ในรถ พบมากที่สุด อายุ 2 ปี คิดเป็น 38% รองลงมา อายุ 1 ปี คิดเป็น 20.9% และอายุ 3 ปี คิดเป็น 19.4% ตามลำดับ

สำหรับน้องจีฮุน อายุ 7 ขวบ ถือเป็นเด็กที่อายุมากที่สุด ที่ถูกลืมไว้ในรถ และเสียชีวิตรายล่าสุด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยังมีข้อแนะนำถึงครูอาจารย์ และพนักงานขับรถรับ-ส่งนักเรียน และผู้ปกครอง ให้เตือนตนเองใน 3 ข้อควรจำ เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ ดังนี้ “นับ” นับจำนวนเด็กก่อนขึ้น และหลังลงจากรถทุกครั้ง, “ตรวจตรา” ตรวจตราก่อนล็อกประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ อย่ามองข้ามเด็กที่นอนหลับ และ “อย่าประมาท” อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงเวลาสั้นๆ

อีกทั้งควรแนะนำเด็กให้รู้วิธีเอาตัวรอดด้วยการ “บีบแตรรถ” ขอความช่วยเหลือ หากติดอยู่ในรถตามลำพัง!!

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งการให้นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ลงพื้นที่ทันที พร้อมสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความบกพร่องของใคร ระหว่าง “โรงเรียน” หรือ “ครูเวรประจำรถ” หรือ “คนขับรถโรงเรียน”

ที่สำคัญ ให้ตรวจสอบด้วยว่า ในการใช้รถโรงเรียนรับส่งนักเรียน ทางโรงเรียนได้ปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2562 หรือไม่

ซึ่งในข้อ 11 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ “ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน” มีหน้าที่ตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับส่งแต่ละเที่ยว ให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อนักเรียน ประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับส่งนักเรียน และรายงานให้ทางโรงเรียนทราบทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น ฯลฯ

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำด้วยว่า นโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นนโยบายสำคัญของ ศธ.และเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาโดยตลอด สถานศึกษาทุกแห่ง ทุกสังกัด ทั้งรัฐ และเอกชน ต้องทำอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอาชีวศึกษา การลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียนจนทำให้เด็กเสียชีวิต ไม่ควรเกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือเวียนกำชับเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถโรงเรียนแล้ว

ดังนั้น จะบอกว่าไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้!!

นอกจากนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ย้ำว่า กมว.ไม่นิ่งนอนใจ โดยได้ตรวจสอบครูผู้ควบคุมรถ และครูเวรประจำรถ เพื่อเอาผิดทางจรรยาบรรณ พบว่า ครูผู้ควบคุมรถ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้น คณะอนุกรรมการด้านจรรยาบรรณจะตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอที่ประชุม กมว.พิจารณาโทษทางจรรยาบรรณต่อไป

ส่วนครูเวรประจำรถตู้ ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทำให้ กมว.เอาผิดทางจรรยาบรรณไม่ได้!!

 

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประสานไปยังสถานศึกษาในสังกัด ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ คิดค้นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ป้องกัน และช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถโดยด่วน

ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เสนอว่า นอกจากนวัตกรรมที่ป้องกันการลืมนักเรียนไว้ในรถแล้ว ควรจะเปลี่ยนรถรับส่งนักเรียนใหม่ เพราะรถตู้ที่ใช้ในปัจจุบัน นำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะไม่ได้ทำมาให้เด็กนั่งโดยตรง ซึ่งในหลายประเทศสร้าง “รถโรงเรียน” โดยออกแบบที่นั่งให้เหมาะสมกับเด็ก ศธ.ควรหารือกับโรงเรียนรัฐ และเอกชน เพื่อออกแบบมาตรฐานรถโรงเรียนใหม่ เน้นความปลอดภัย และทำที่นั่งให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัยด้วย

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ถ้ารัฐจริงใจ ตระหนักถึงปัญหา และต้องการหาทางแก้ไข ก็ควร “รื้อระบบ” ใหม่ และลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่อะไรๆ ก็ตั้งคณะกรรมการสอบ…

เพราะแม้ ศธ.จะสั่งประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมไฮเทคมาใช้ปกป้องชีวิตนักเรียน แต่หาก “ผู้บริหารสถานศึกษา” ปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ไม่เข้มงวดผู้เกี่ยวข้อง ก็อาจเกิดเหตุสลดขึ้นอีก

“ครูผู้ควบคุมรถ” และ “ครูเวรประจำรถ” จะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมดูแลการใช้รถรับส่ง อย่างเข้มข้น…

หรือแม้แต่ “ครูประจำชั้น” ที่ต้อง “ใส่ใจ” ว่าวันนี้นักเรียนในความดูแลของตนเอง ขาดเรียนเพราะสาเหตุใด…

รวมทั้งต้องจัด “อบรม” ให้เด็กๆ รู้จักป้องกันตัวเอง หรือเอาตัวรอดหากติดอยู่ลำพังในรถ…

ที่สำคัญ “รัฐบาล” และ “ศธ.” จะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องความ “ปลอดภัย” ของนักเรียนในการโดยสารรถรับส่งนักเรียน ตั้งแต่การ “เปลี่ยน” รถที่ใช้รับส่งนักเรียน ให้เป็นรถโรงเรียนโดยเฉพาะ สีสันของรถต้องเห็นเด่นชัดแต่ไกล เมื่อเห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเป็นรถโรงเรียน

รวมถึงการออก “กฎหมาย” ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับให้คนขับ ครูเวรประจำรถ หรือแม้แต่คนขับรถคันอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ หากใครฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องมี “บทลงโทษ” ที่เข้มข้น

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อปกป้องลูกหลานของพวกเรา ที่จะต้องเติบใหญ่ไปเป็นอนาคตของชาติ!! •