สำรวจโลกรับมือ ‘น้ำท่วม’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

สำรวจโลกรับมือ ‘น้ำท่วม’

 

ทุกครั้งที่ฝนตก กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำท่วม จราจรติดขัด ยิ่งฝนตกหนักเท่าไหร่ก็ยิ่งวิกฤตมากขึ้นเป็นทวีคูณ ความสูญเสียเกิดขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ พลังงานหรือสิ่งแวดล้อม เป็นความสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี

ฉะนั้น ถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนระบบป้องกันน้ำท่วมและลงมือวางแผนปฏิบัติการรับมือกับภาวะโลกร้อน “กทม.” ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้

“บางกอก” หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ก่อตั้งมาเมื่อ 240 ปีที่แล้ว เป็นการตั้งโดยไม่ได้จัดวางผังเมืองมาก่อน ซึ่งในเวลานั้นคงไม่มีใครคิดว่าเมืองจะขยายตัวใหญ่โตมีผู้คนเข้ามาอยู่แออัดหนาแน่น

กฎหมายผังเมืองเพิ่งมีหลังก่อตั้งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาแล้ว 170 ปี แม้เป็นกฎหมายผังเมืองฉบับแรก ในปี พ.ศ.2495 แต่ไปคัดลอกจากกฎหมายผังเมืองอังกฤษที่มีชื่อว่า Town and Coun-try Act 1944 และไม่ได้นำมาบังคับใช้จริงๆ จังๆ ทำให้เมืองขยายตัวอย่างสะเปะสะปะ

ส่วนกฎหมายผังเมืองรวม กทม. เพิ่งเกิดราวๆ 30 ปีที่แล้ว แต่มุ่งเน้นเรื่องของการสร้างมูลค่าที่ดินมากกว่าจะทำให้เป็นเมืองน่าอยู่

ดูได้จากการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวมีสัดส่วนน้อยมาก แต่ให้ความสำคัญกับการอนุมัติก่อสร้างตึกอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบๆ สร้างศูนย์การค้ากลางชุมชน หรือมีโรงงานอุตสาหกรรมโผล่ข้างๆ หมู่บ้าน

ผังเมืองรวม กทม. ไม่ได้ยึดโยงกับระบบการขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภค เพราะคนคิดโครงการอยู่คนละหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้า จู่ๆ ก็อนุมัติให้สร้างกลางเมือง ไม่วางแผนสร้างจุดเชื่อมต่อให้ผู้คนที่อยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านเดินทางไปขึ้นรถไฟฟ้าได้สะดวกโดยไม่ต้องขับรถยนต์ส่วนตัว

เช่นเดียวกัน การพาดสายไฟฟ้าหรือสายสื่อสาร ถือได้ว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง ทำให้เมืองตกอยู่ในภาวะอุจาดทางสายตา

เมื่อสภาพเมือง “กทม.” เละเทะไร้ระบบเช่นนี้ ความวุ่นวายปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นตามมาเป็นโขยง ตั้งแต่น้ำท่วม น้ำเน่าเสีย มลพิษทางอากาศ ฝุ่นกระจาย จราจรติดขัด ชุมชนเสื่อมโทรม ที่ซ่องสุมอาชญากรรม ฯลฯ

 

กล่าวสำหรับปัญหาน้ำท่วมเมือง เวลานี้ถือว่าเป็นวาระใหญ่ของโลก เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดฝนตกหนักในเมืองมากขึ้น มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าในอดีต ผังเมืองไม่ได้จัดวางเป็นระเบียบ ระบบระบายน้ำไร้ประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมกลางเมืองใหญ่ที่อยู่ชายฝั่งทะเลทั่วโลก

ดูตัวอย่าง กรุงโซล เกาหลีใต้ เกิดฝนตกหนักเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนมากสุดในรอบ 115 ปี มวลน้ำทะลักท่วมศูนย์กลางธุรกิจ อย่างเช่น เขตกังนัม เสียหายยับเยิน มวลน้ำยังไหลบ่าทะลักใส่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คอนโดมิเนียม ร้านค้าบ้านเรือนผู้คน ต้องขนกำลังทหารเข้ามาช่วยเคลียร์พื้นที่ ทะลวงท่อ ช่วยเหยื่อผู้ประสบภัย

เมื่อ 10 ปีก่อนทางผู้บริหารกรุงโซลได้วางระบบบริหารจัดการน้ำไว้แล้ว ใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 4 แสนล้านวอน หรือราว 1 หมื่นล้านบาทในปี 2555 มาเป็น 5 แสนล้านวอน (14,000 ล้านบาท) ในปี 2564 แต่ก็เอาไม่อยู่ น้ำฝนเยอะเกิน ตกชั่วโมงเดียววัดปริมาณได้มากถึง 110 มิลลิเมตร

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สาเหตุการจัดการน้ำด้อยประสิทธิภาพเพราะผู้บริหารยุคก่อนนั้นแอบมุบมิบคอร์รัปชั่น

หลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ผ่านไปแล้ว ผู้บริหารกรุงโซลอนุมัติเงินงบประมาณ 30,000 ล้านวอน เพื่อฟื้นฟูความเสียหาย และอีก 1.5 แสนล้านวอนสำหรับก่อสร้างระบบท่อยักษ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร จัดเก็บระบายน้ำชั้นใต้ดินลึก 40-50 เมตรในพื้นที่สำคัญๆ เช่น กังนัม ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า

 

ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2554 เกิดพายุฝนตกหนักสุดๆ จนสื่อประโคมข่าวว่าเป็นพายุฝน 2 พันปี เพราะมวลน้ำไหลบ่าท่วมเมืองหลวงแห่งเดนมาร์ก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าราว 36,000 ล้านบาท และปีก่อนหน้า พายุฝนถล่มกรุงโคเปนเฮเกน บ้านเรือนเสียหายยับเยินมาแล้ว

นายมอร์เทน คาเบลล์ นายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกนในช่วงเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น ยอมรับว่า ภาวะโลกร้อนเป็นของจริง ทำให้กรุงโคเปนเฮเกนพังย่อยยับต่อหน้าต่อตา จึงต้องหันมาคิดหนทางแก้ปัญหาป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

แนวคิด “เขียวและฟ้า” ของคาเบลล์ มีชื่อโครงการว่า “ไคล์เมต พาร์ก” (Climate Park) ใช้พื้นที่ใต้ดินของสวนสาธารณะ สนามฮอกกี้ สวนกุหลาบเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาใช้ในการสูบน้ำและดึงน้ำลงทะเลหรือสำรองในฤดูแล้ง

พื้นที่สวนสาธารณะ ได้รับการออกแบบปรับปรุงชั้นใต้ดินให้เป็นอ่างกักเก็บน้ำ ติดตั้งระบบสูบระบายน้ำ ส่วนพื้นผิวดิน ปรับภูมิทัศน์ปลูกต้นไม้ให้สวยงามร่มรื่น สร้างเนินเขา เป็นแหล่งพักผ่อน ลู่วิ่งออกกำลังและสนามเด็กเล่นของผู้คนรอบๆ

พื้นที่ที่กีดขวางทางน้ำ เช่น ถนนที่เป็นของเอกชนทั่วกรุงโคเปนเฮเกนมีอยู่ทั้งหมด 132 กิโลเมตร ทางโครงการขอซื้อคืน เพื่อนำมาสร้างเป็นทางระบายน้ำ

โครงการนี้เริ่มแรกใช้เงินลงทุน 400ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ามากเพราะช่วยป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเห็นผล และได้วางแผนสร้างโครงการลักษณะนี้ในขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่เล็กทั่วกรุงโคเปนเฮเกน 300 แห่ง ใช้เงินทั้งหมด 268 ล้านยูโร

ถ้าโครงการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ สามารถกักเก็บน้ำในช่วงฝนตกหนักได้ 22 ล้านลิตร

 

เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำรูปร่างเหมือนอัฒจันทร์ทรงกลมกลางแจ้งของโรมัน เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน 1.7 ล้านลิตร เมื่อฝนตกหนัก อัฒจันทร์นี้จะดึงน้ำจากพื้นที่ต่างๆ ได้มากถึง 2 เท่าของปริมาณน้ำสำรอง พื้นที่รอบๆ ของอัฒจันทร์ออกแบบก่อสร้างเป็นอาคารลอยน้ำ สวนสาธารณะ และบ้านรังนกให้นกเข้าไปอยู่อาศัย

เมืองอื่นๆ ใกล้ๆ กับเมืองไทยอย่างเช่น กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ใช้แนวคิดแก้ปัญหาน้ำท่วมคล้ายกับกรุงโคเปนเฮเกน แต่เรียกโครงการว่า “สวนน้ำ” เป็นทั้งสวนสาธารณะ แหล่งกักเก็บน้ำและสวนสนุกให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ

อีกทั้งยังเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันน้ำท่วม

ที่เกาะฮ่องกง มีฝนตกเฉลี่ยปีละ 2,300 ม.ม.ถือว่าสูงมาก และพายุพัดกระหน่ำรุนแรงมากขึ้น เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ผู้บริหารมองว่า ทางออกในการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนนั่นคือการปรับปรุงระบบระบายน้ำทั้งหมด ให้น้ำไหลอย่างเป็นธรรมชาติ ตรงไหนเป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำก็แก้ไขปรับปรุงใหม่

เวลานี้ ฮ่องกงมีทางระบายน้ำ 2,400 กิโลเมตร มีร่องน้ำระบายลงแม่น้ำระยะทาง 350 ก.ม. และมีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน 3 แห่งสามารถกักเก็บน้ำได้ 170,000 ลูกบาศก์เมตร จุดระบายน้ำ ไม่เพียงป้องกันน้ำท่วม แต่ยังเป็นสวนสาธารณะแหล่งพักผ่อน ออกกำลัง เป็นเส้นทางปั่นจักรยานของชาวฮ่องกง

 

สําหรับในเขตปริมณฑล กทม.นั้น เรามีแก้มลิงอยู่หลายแห่ง

มี “สวนบางกะเจ้า” เป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นปอดใหญ่ของพื้นที่ปริมณฑล

กทม.เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมทางฝั่งตะวันตก แต่กระนั้น ยังไม่สามารถป้องกันน้ำท่วม กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความแออัดของเมือง ระบบผังเมืองเละเทะ ระบบระบายน้ำล้มเหลว

ฝนถล่ม กทม.เพียงแค่วันเดียว น้ำท่วมขังเกือบค่อนเมือง รถติดหนัก ต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย บางจุดน้ำเอ่อล้นท่วมตรอกซอกซอย ผู้คนติดแหง็กออกจากบ้านไม่ได้

ผมเห็นว่า กทม.ต้องวางแผนรื้อผังเมือง จัดระบบระเบียบพื้นที่รองรับน้ำให้มากขึ้น ปรับปรุงคูคลองให้สะอาด ระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งสำรองน้ำในยามแล้ง

เพราะถ้าขืนปล่อยให้สภาพ “กทม.” เน่าเละอย่างนี้ ในไม่ช้าจะกลายเป็นเมืองใต้บาดาล เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล •