ระบบส่วยคืออุปสรรค / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

ระบบส่วยคืออุปสรรค

 

2 เรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาประจำวันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะไวรัสโควิด-19 ลดลงและเริ่มการฟื้นฟูธุรกิจเศรษฐกิจ คือ การขาดแคลนแรงงาน กับการขายที่อยู่อาศัยแนวราบให้กับชาวต่างชาติ

ปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นมานาน แต่มาหนักขึ้นมากตอนโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก มีการสั่ง “ล็อกดาวน์” แคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้คนงานจากประเทศเพื่อนบ้านหนีกระเจิงกลับภูมิลำเนา

พอโควิดซาลงความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่การกลับมาของแรงงานมีอุปสรรคจากกระบวนการในระบบราชการหลายอย่าง ที่สำคัญต้องจ่าย “ค่าหัว” หรือจะเรียกตรงไปตรงมาว่า “ส่วย” ผ่านทางนายหน้า แล้วนายหน้าจะนำไปจ่ายต่อให้กับใคร ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ตกหัวละหลักหมื่นบาทขึ้นไป

ลองคิดดูว่าปีหนึ่งๆ ระบบเศรษฐกิจไทยต้องการแรงงานเสริมจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นแสนคน ยอดมูลค่า “ค่าหัว” รวมมากขนาดไหน

ภาคเอกชนโดยตัวแทนสมาคมผู้รับเหมาต้องหาช่องทาง เข้าไปอธิบายชี้แจงกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงรัฐมนตรี เพื่อให้เห็นปัญหา เห็นความจำเป็น หลายครั้งหลายหน

แต่ปัญหาขาดแรงงาน ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ต่อไป

 

อีกปัญหาหนึ่ง เรื่องการขายที่อยู่อาศัยแนวราบให้กับชาวต่างชาติ เดิมก่อนหน้านี้กฎหมายไทยให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของโครงการ ห้องชุดที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ซื้อก็จะราคาประมาณ 3-5 ล้านบาท ซึ่งก็คือชาวต่างชาติที่เป็นคนชั้นกลาง ที่เดินทางมาทำธุรกิจหรือเป็นนักลงทุนรายย่อย

แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้กลุ่มนี้ประสบปัญหา โดยเฉพาะชาวจีน เพราะในประเทศเขาเองโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากมีปัญหาทางการเงิน สร้างไม่เสร็จ ผู้ซื้อก็ไม่ยอมผ่อนต่อ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะยังไม่มีกำลังซื้อพอที่จะมาซื้อในไทย

ยังเหลือแต่เจ้าของกิจการที่มีรายได้สูงๆ เท่านั้นที่ยังซื้อได้ แต่คนกลุ่มนี้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวซึ่งมีที่ดินพร้อมบ้านซึ่งกฎหมายไทยยังไม่เปิดให้เป็นการทั่วไป

เคยมีการอนุญาตให้ต่างชาติซื้อได้ตามกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ยุคการพยายามฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตปี 2540 โดยกำหนดเงื่อนไขตามขนาดของการลงทุนไว้ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีการยื่นขอและได้รับอนุมัติให้ซื้อตามเงื่อนไขนี้เลยแม้แต่รายเดียว

รัฐบาลปัจจุบันก็มีนโยบายที่จะเปิดให้ต่างชาติ 4 กลุ่ม ได้แก่

(1) กลุ่มประชากรโลกทีมีความมั่งคั่งสูง ใช้ชีวิตหลายประเทศและมีทรัพย์สินทั่วโลก

(2) กลุ่มคนที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยให้กับนายจ้างในต่างประเทศ อาทิ พวก Digital nomad

(3) กลุ่มที่มีทักษะพิเศษที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

และ (4) กลุ่มที่เกษียณอายุจากต่างประเทศ

แต่ยังไม่มีรายละเอียดเงื่อนไขการปฏิบัติ ยังไม่มีระยะเวลาที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ ซึ่งก็สรุปว่า ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ

ในทางเป็นจริงที่ทำกันอยู่ทุกนี้ ชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อบ้านเดี่ยวระดับราคาหลายสิบล้าน หรือ 100 ล้านบาท จะใช้วิธีการจดทะเบียนบริษัทขึ้นมา แล้วใช้บริษัทนั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน วิธีการดังกล่าวผู้ซื้อยังมีความเสี่ยงเพราะต้องหาคนที่ไว้ใจได้มาเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งภายหลังอาจมีปัญหาได้ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น

วิธีการแบบนี้ ย่อมมีคนช่วย “ดำเนิน” การให้ และย่อมมี “ค่าใช้จ่าย” ที่ไม่ใช่การชำระภาษีอย่างเป็นทางการ

 

รัฐบาลประเทศทุนนิยมเสรีที่พัฒนาแล้ว ถ้าธุรกิจหรือเศรษฐกิจมีปัญหา เช่น ขาดแรงงาน รัฐจะวางแผนและดำเนินการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตามจำนวนที่ต้องการเข้ามาโดยด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน และรัฐก็จะได้ภาษีจากการหมุนเวียนนั้น

หรือสินค้าบริการใดสามารถสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลก็จะออกหน้าดำเนินการ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ส่งเสริมให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในให้สิทธิพิเศษ ให้ลูกได้สิทธิเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำกับไว้ มักเป็นการให้นำเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากๆ เพื่อรัฐบาลจะได้เงินภาษี

แต่ปัญหาอุปสรรคระยะฟื้นตัวหลังโควิด-19 ทั้งเรื่องแรงงานขาดแคลน เรื่องการขายบ้านเดี่ยวราคาแพงให้ชาวต่างประเทศ ยังแก้ไขไม่ได้สักทีนั้น

คงเป็นเพราะผลประโยชน์ที่ได้จาก “ส่วย” ที่ไม่ใช่ภาษียังมีพลังแรงกว่ากระมัง •