ผู้ออกแบบ “หลั่งน้ำตา” ในวัน “พระเมรุมาศ” (ใกล้)เสร็จสมบูรณ์ “ยิ่งใหญ่ที่สุด-งดงามที่สุด สมพระเกียรติที่สุด”

“ผมจะเก็บความทรงจำในช่วงชีวิตของผม ในช่วง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 มาถึงปลายเดือนตุลาคม 2560 ว่า เป็นช่วงที่สุดของชีวิต ที่สุดแห่งความทรงจำที่ผมไม่อยากจดจำ และเป็นความทรงจำที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ลึกๆ ข้างในก็ภูมิใจที่ได้ทำงานครั้งนี้ ที่ได้ออกแบบพระเมรุมาศ ผมไม่ได้ต้องการให้ใครจดจำตัวผม ว่า นายก่อเกียรติคือใคร แต่ผมอยากให้จดจำงานครั้งนี้ ที่ตั้งใจทำให้สมพระเกียรติของพระองค์ท่านมากที่สุด ซึ่งเวลาผมให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ไหนก็ตาม ผมพูดตามความรู้สึกจริงๆ ที่เกิดขึ้นในใจผมว่า ผมนึกถึงพระองค์อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งผมมีน้ำตาจากข้างในที่ไหลออกมาด้วยความระลึกถึงพระองค์ท่านเสมอ งานนี้จึงเป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมแล้ว”

คือความในใจของ ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ที่ก่อสร้างเสร็จเกือบ 100% แล้ว

ก่อเกียรติเล่าว่า “จากวันที่เป็นเพียงโครงร่างอยู่บนกระดาษ ผ่านมาสามร้อยกว่าวัน จนมาสู่ความสมบูรณ์แบบอย่างที่เห็นในวันนี้ ผมพูดได้ว่า ที่เราตั้งเป้าไว้ คือ สิ่งที่เราต้องการจะทำและจะสื่อถึงพระองค์ท่าน เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด ได้ถูกสะท้อนออกมา ผ่านการแสดงออกในรายละเอียดต่างๆ อย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ประกอบกับภาพรวมทั้งหมดของทุกๆ องค์ประกอบทั้งลวดลาย สีต่างๆ ภาพจิตรกรรมที่ฉากบังเพลิง สระอโนดาต ตลอดจนโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ ทำให้เรานึกถึงพระองค์ได้ชัดที่สุดแล้ว”

“เมื่อผมมองไปที่พระเมรุมาศวันนี้ ความรู้สึกของผมคือความยิ่งใหญ่ที่สุด งดงามที่สุด และสมพระเกียรติที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสถาปัตยกรรมที่อันเป็นที่สุด จะเรียกว่าเป็นมรดกของแผ่นดิน มรดกของโลก ที่สุดของความสมพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์”

“ผมยังจำความรู้สึกในวันที่ถวายแบบ 2 มิติ เพื่อให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรได้ว่า สายพระเนตรของพระองค์ท่านที่มองเห็นในแบบ ท่านมีพระเนตรที่ยาวไกลจริงๆ พระองค์ทรงเห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เราสื่อถึง จนถึงวันนี้สำเร็จเป็นจริงออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว จนวันนี้ที่ผมได้เดินดูล่าสุด ผมรู้สึกว่านี่คือเป็นสิ่งสมพระเกียรติยิ่ง และยิ่งใหญ่จริงๆ ไม่สามารถที่จะอธิบายด้วยคำพูดได้จริงๆ”

ก่อเกียรติกล่าวอีกว่า “นี่ถือเป็นสถาปัตยกรรมสุดท้ายที่ได้ทำถวาย “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ซึ่งพระองค์ท่านได้เป็นครูให้กับพวกเราด้วย พวกเรานำเอารายละเอียดต่างๆ จากพระองค์ท่าน พวกเรารวบรวมและพิจารณาองค์ความรู้ต่างๆ จนถ่ายทอดมาสู่งานช่าง หากอธิบายเป็นความรู้สึกนั้น “น้ำตาไหลเลยครับ” มันเป็นน้ำตาจากวันแรกที่พวกเราเกิดความรู้สึกสูญเสีย ผมยังนึกว่าฝันไปด้วยซ้ำ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ใช่ของจริงใช่ไหม เพราะผมคิดเสมอว่าพระองค์ท่านยังอยู่กับพวกเรา แต่ผมต้องยอมรับและเข้าใจเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่เที่ยง มาวันนี้ก็มีน้ำตาหลังงานนี้สำเร็จ บางคนอาจจะเรียกว่านี่อาจเป็นความภาคภูมิใจ”

“ผมไม่รู้ว่าผมจะมีโอกาสทำงานลักษณะอย่างนี้อีกหรือไม่ แต่ผมไม่อยากให้งานแบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว เรามาบอกว่าเราดีใจหรือภูมิใจนะ ผมพูดได้แต่เพียงว่าพวกเราทำจากหัวใจ จากความรู้สึกและหน้าที่ของคนในกรมศิลปากรที่ได้ทำถวายพระเกียรติให้กับพระองค์ ให้ตรงตามพระราชประเพณีมากที่สุด และสื่อถึงพระบารมีของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล จนหาที่สุด หาขอบเขตมิได้ นั้นได้ถูกแสดงออกมาผ่านสถาปัตยกรรมอย่างที่ทุกคนเห็น”

“ในฐานะที่ผมเป็นคนออกแบบ ผมจะบอกว่าอย่างนู้นอย่างนี้ ผมคงไม่สามารถสื่อสารโน้มน้าวให้ใครคล้อยตามได้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมรับรู้จากคนเป็นร้อยๆ ที่มีโอกาสได้เห็น ทุกคนต่างเดินมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือสิ่งที่สมพระเกียรติที่สุดแล้ว”

สถาปนิกพระเมรุมาศ กล่าวจากความรู้สึกอีกว่า

“แม้บางครั้งงานของเราอาจมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นได้ด้วยพระบารมี และประสบการณ์ พร้อมกับน้อมนำสิ่งที่พระองค์ท่านทรงเคยสั่งสอนพวกเรา สิ่งที่เป็นหลักใหญ่ที่พวกเราน้อมนำคำสอนของพระองค์มาใช้ในงานนี้ คือเรื่องของ “ความเพียร” เป็นหัวใจหลักของการทำหน้าที่ตรงนี้ ควบคู่ไปกับเรื่องของการใช้สติ-ปัญญา งานออกแบบครั้งนี้เราต้องใช้ความถ้วนถี่อย่างมาก เพื่อลดความผิดพลาดหรือไม่ให้มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น เราต้องนำสิ่งต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องของเวลา และความกล้าตัดสินใจ เพื่อให้ภาพรวมออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด”

“มิใช่เพียงแค่เรื่องของความเพียรเท่านั้น สิ่งที่พระองค์ทรงทำมาตลอดนั่นคือ ทรงเป็นเหมือนผู้ปิดทองหลังพระ ผมกล่าวได้ว่าวันนี้พระองค์นี้ ทองกำลังจะล้นแล้ว คนได้เห็นตัวตนของผม ได้เห็นงานเห็นความสมพระเกียรติพระองค์ จากงานที่ผมคิดออกมา ผ่านความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน พวกเราเดินตามพระองค์ท่าน พวกเราอ่อนน้อมแต่ไม่อ่อนแอ และใช้ปัญญาเรียนรู้จากอดีตเป็นตัวตั้ง สิ่งไหนที่ต้องคงไว้ สิ่งไหนพัฒนาส่งต่อไป ผมนึกถึงสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ ผมนึกถึงเรื่องพวกนี้ตลอด เพื่อให้งานสื่อถึงพระองค์ที่สุด”

“ภาพแรกและภาพเดียวที่ผมนึกถึงพระองค์ คือภาพที่พระองค์หลั่งพระเสโท นั่นคือภาพที่พระองค์ทรงงานด้วยความอดทน มุมานะ พระองค์ท่านทรงทำมามากกว่า 4,000 โครงการ ตลอด 70 ปี”

ส่วนคำสอนของครู “พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น” อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ก่อเกียรติกล่าวว่า “ท่านเคยสอนไว้ว่า หลักใหญ่ๆ คือ ทำความคิดให้ออกมาก่อน แล้วเขียนออกมาเป็นแบบให้ได้ โดยแสดงออกมาผ่านลายเส้น และทำให้งานนั้นสำเร็จ โดยจะตรงต่อเวลา เพราะงานที่ไม่ตรงต่อเวลาก็ไม่มีความหมายอะไร สิ่งที่ผมได้จำครูมาตลอดคือการใช้ความถ้วนถี่ ผมซึบซับมาตลอดในการทำงานหน้าที่ตรงนี้”

“สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากถึงประชาชนที่เข้ามาชมพระเมรุมาศ ในช่วงหลังพระราชพิธี ผมว่า ถ้าจะมาดูพระเมรุให้ล่วงรู้ ควรทำความเข้าใจพระเมรุให้มาก ต้องไปศึกษา อ่านหนังสือ หรือว่าไปฟังรายละเอียดมาก่อนที่เข้ามา เพราะว่าองค์พระเมรุคือการส่งผ่านวัฒนธรรม รูปแบบ หรือว่าประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม การจะรังสรรค์เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย หลายๆ เรื่องอาจจะไปค้นที่มาศึกษาเรื่องจิตรกรรม หรือประติมากรรม หรืองานต่างๆ มาก่อนที่จะมาดูพระเมรุ”

“ถ้าเราไม่อ่านตรงนั้นมา แล้วเราจะมาดูพระเมรุ เราจะได้แค่ถ่ายรูป ได้แค่ตรงนั้น” นั่นคือสิ่งที่สถาปนิก ก่อเกียรติ ทองผุด กล่าวทิ้งท้าย