ค้าขายขาดทุน กับต้นทุนที่สูงลิ่ว/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ค้าขายขาดทุน กับต้นทุนที่สูงลิ่ว

 

“ตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน เหล่าจอมยุทธ์ต้องห้ำหั่นเพราะคำว่าอำนาจ สุดท้ายไม่มีใครได้อำนาจอย่างแท้จริง สิ่งเที่ยงแท้คือความไม่เที่ยง ครอบครองความยิ่งใหญ่สุดท้ายก็เหลือความว่างเปล่า อำนาจทำให้มนุษย์ขาดสติ”

เล่งฮู้ชง

กระบี่เย้ยยุทธจักร

 

บทประพันธ์ของกิมย้ง ที่แปลโดย น.นพรัตน์ อาจเป็นบทสรุปของการเมืองไทยในปัจจุบันได้ดีที่สุด ถึงกลเกมการขับเคี่ยวทางการเมืองที่ผู้อำนาจในบ้านเมืองขุดคิดขึ้นมาใช้ในจังหวะสุดท้ายของการคงอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันเพื่อการคงอยู่ในอำนาจ โดยไม่คิดถึงต้นทุนที่ต้องจ่าย

วันนี้อาจยังไม่รู้ว่ากำไรหรือขาดทุน

แต่ต้นทุนที่จ่ายนั้นสูงลิ่วแล้ว

 

1.ปรากฏการณ์ล่มสภา เพื่อให้กฎหมายที่ต้องการ

การก้าวพลาดในการเปลี่ยนระบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากระบบการคำนวณแบบคู่ขนานที่เรียกกันคุ้นหูว่า “หารร้อย” ในการลงมติในขั้นวาระที่สอง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ทำให้กลายเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม มีการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ที่เรียกว่า “หารห้าร้อย” ด้วยการพลิกกลับแบบกะทันหันในชั่วข้ามคืน จนต้องกลับไปทบทวนร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อกลับมาเข้าสู่วาระการพิจารณาใหม่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565

โดยมีเดิมพันว่า มาตราที่ยังค้างเพียงไม่กี่มาตรานั้น สมควรจะพิจารณาได้ทันกรอบเวลา 180 วัน ของกฎหมายปฏิรูป ซึ่งมีข้อกำหนดในมาตรา 132(1) ของรัฐธรรมนูญว่า หากที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จในกรอบเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าที่ประชุมรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างที่เสนอในวาระที่หนึ่งที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี

แต่เมื่อมีการไตร่ตรองว่า ระบบ “หารห้าร้อย” อาจไม่ใช่ผลดีที่สุดของพรรคตนเอง เพราะอาจนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคขนาดกลางที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล เช่น ก้าวไกล เสรีรวมไทย การจะกลับมาเป็น “หารร้อย” อีกครั้งจึงต้องยอมลงทุนให้ที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณากฎหมายที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่มาตราได้ทันกรอบ 180 วัน

ปรากฏการณ์ “ล่มสภา” หรือขาดองค์ประชุมต่อเนื่องกันจนที่ประชุมรัฐสภาถึง 4 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 ล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อเวลา 15.46 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565

ครั้งที่ 2 ล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อเวลา 17.01น. ของวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2565

ครั้งที่ 3 ล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อเวลา 16.15 น. ของวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2565

ครั้งที่ 4 ล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อเวลา 10.29 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565

การจงใจให้ที่ประชุมรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม โดยการอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่แสดงตน ของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนนั้น เป็นการใช้เทคนิคการประชุมเพื่อให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหา “หารห้าร้อย” ต้องตกไปเนื่องจากไม่ทันกรอบเวลาที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565

ยอมเอาศักดิ์ศรีของรัฐสภา ที่ถูกตราหน้าว่าใช้เวลา 180 วัน ใช้งบประมาณในการดำเนินการนับสิบล้านบาท แต่ไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้ทันกำหนด เพราะมัวแต่กลับไปกลับมาระหว่างหารร้อย กับหารห้าร้อย คิดไม่ตกว่าแบบใดตัวเองจะได้ประโยชน์สูงสุด สุดท้ายก็กลับไปร่างคณะรัฐมนตรีที่ขาดรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งอันมาจากความเห็นของกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาและเสียเวลาประชุมไปมากมาย

คุ้มหรือไม่ ต้องดูผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

 

2.พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ลงมติให้สมาชิกวุฒิสภามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ประเด็นการเข้าชื่อของประชาชน 65,141 ชื่อ เพื่อขอให้แก้ไขมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 และ 7 กันยายน พ.ศ.2565

ผลการลงมติของรัฐสภา ไม่รับหลักการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ แต่สิ่งที่น่าตระหนกกลับเป็นการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 102 คน จากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง (รวมพลังประชาชาติไทย) และพรรคหนึ่งเสียงอีกจำนวนหนึ่ง ที่หาญกล้าลงมติไม่รับหลักการที่จะให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการเลือกในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

เท่ากับว่า พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กลับเห็นดีเห็นงามกับการให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการทหารมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร

กลายเป็นความด่างพร้อยของของพรรคการเมืองไทยที่แทนที่จะเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย กลับแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ด้วยเหตุเพียงการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ยังต้องอาศัยมือของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคตนเองสนับสนุน

แล้วจะเหลือคำพูดอะไร ที่จะไปหาเสียงให้ประชาชนเชื่อว่าท่านศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย

 

3.กลับคำในบันทึกการประชุม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง มีตำแหน่งในอดีตมากมาย เป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นคนที่ศาลรัฐธรรมนูญของคำชี้แจงว่า เจตนาของมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะติดกันหรือไม่ติดกันก็ตามว่า ขณะที่ร่างมาตราดังกล่าวมีความหมายที่ครอบคลุมถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 หรือไม่

ปรากฏในเอกสารคำชี้แจงของนายมีชัยว่า “ไม่ครอบคลุม” แถมยังอ้างว่าที่ปรากฏหลักฐานในบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2561 ว่า “ครอบคลุม” นั้น เป็นข้อความที่จดบันทึกสำคัญผิดเอง และการประชุมครั้งที่ 500 นั้นเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ไม่มีการรับรองบันทึกการประชุม

ต่อเมื่อความจริงภายหลังมีเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า มีการรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไขปรากฏสู่สาธารณะ แถมยังระบุว่าบันทึกการประชุมมีการตรวจสอบความถูกต้องจากคณะอนุกรรมการที่มีคนที่มีศักดิ์ศรีถึงระดับอดีตประธาน กกต. และเป็นรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นองค์คณะที่ตรวจสอบความถูกต้องของบันทึกการประชุมเป็นที่เรียบร้อยก่อนมาให้คณะกรรมการรับรองอย่างเป็นทางการ

เหตุผลทุกอย่างที่นายมีชัยเขียนพรรณนาในคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงเกียรติภูมิที่สะสมมาตลอดชีวิตของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ล่มสลายลงในพริบตา จากนี้ จะตีหน้าเศร้า เล่าความอะไรอย่างไรก็คงไม่มีใครเชื่อถืออีก

การค้าขายที่นายมีชัยเพียรลงทุนด้วยการให้เหตุผลเพื่อรักษาการอยู่ในอำนาจของคนคนหนึ่ง จึงขาดทุนอย่างย่อยยับ

ยิ่งอยากมีอำนาจ ยิ่งอยากอยู่ในอำนาจนาน ยิ่งแสวงหาเหตุผลที่ขาดความชอบธรรม ยิ่งกระทำการที่ตรงข้ามกับหลักการที่ควรจะเป็น ยิ่งไม่คำนึงถึงความเสียหายไม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อเกียรติภูมิของตนเอง ต่อวิชาชีพ และต่อสถาบันทางการเมืองที่พึงต้องรักษาให้เป็นความหวังของประชาชน

อำนาจทำให้เสียสติไปแล้ว?