คำ ผกา | สลิ่ม หนึ่ง สอง หวังว่าจะไม่มี ‘สาม’

คำ ผกา

ถ้าถามฉันว่าสิ่งที่ขาดหายไปในบทสนทนาหรือข้อถกเถียงเรื่องการเมืองในสังคมคืออะไร?

คำตอบของฉันคือเราสนใจการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านน้อยเกินไป

และเรามักหลงลืมว่า เราหรือประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกัน นั่นคือ พวกเราล้วนแต่เป็นประเทศเกิดใหม่หลังได้รับเอกราช และมีอายุไม่ถึง 100 ปีด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ประเทศไทยประกาศเอกราช และสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยในปี 1932 มาเลเซียได้รับเอกราช สถาปนาการปกครองประชาธิปไตยรัฐสภาในปี 1957 เป็นต้น

และถ้าเราวางประเทศไทยและพัฒนาการทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ถือกำเนิดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน น่าจะทำให้เราได้คำตอบใหม่ๆ คำอธิบายใหม่ๆ หรือมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงหรือแม้กระทั่งความคับข้องใจต่อภาวะตีบตันทางประชาธิปไตยในสังคมไทยได้ดีขึ้น

เหตุที่ฉันหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับวังวนแห่งคำอธิบายปัญหาการเมืองไทยว่าเกิดจาก “ความชั่วร้ายและความอ่อนแอของนักการเมือง”

ในแง่ของประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ขอเขียนอย่างรวบรัดว่า หลังการประกาศเอกราชของคณะราษฎรในปี 1932 ฝ่าย “ขวา” ไทยพยายามโค่นล้มอำนาจของคณะราษฎรมาโดยตลอด

และทำสำเร็จภายใต้ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาที่ ณ ขณะนั้นประสาทแดกกลัวว่าทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จึงตัดสินใจสนับสนุนฝ่าย “ขวา” ไทยในการโค่นล้มอำนาจของจอมพล ป. ที่เป็นฝ่ายคณะราษฎร สร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกาเพื่อภารกิจในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ อันเป็นยุคที่เราเรียกกันว่ายุคสงครามเย็น

อำนาจของฝ่ายขวาไทยจึงรุ่งเรืองมานับตั้งแต่นั้น นั่นคือช่วงทศววรษที่ 1960s เป็นต้นมา

อำนาจในที่นี้ไม่เพียงแต่อำนาจทางการเมืองและการทหาร แต่หมายถึงอำนาจในการทำงานประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อ รวมไปถึงการสร้าง “เรื่องเล่า” หรือ narrative ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทย คนไทยคือใคร คอมมิวนิสต์คืออะไร

ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และการปกครองระครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ

ความหมายของคำว่าประชาชน ความหมายของคำว่าคนไทย ต้องประพฤติตัวแบบไหนถึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนไทย

นักการเมืองคืออะไร

เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการส่งผ่านอุดมการณ์และ “เรื่องเล่า” เหล่านี้ มีทั้งแบบเรียน การเขียนประวัติศาสตร์ ขบวนการลูกเสือชาวบ้านที่มีอยู่ทั่วประเทศ การเผยแพร่ภาพข่าว เรื่องราวผ่านโทรทัศน์ที่ดูแลโดยกรมประชาสัมพันธ์ เพลงปลุกใจผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่รายการเทศน์ธรรมะผ่านวิทยุ

แน่นอนว่า ทุก narrative ถูกเขียน ถูกสร้างมาเพื่อ “ขจัดและลบล้าง” ทุกอุดมการณ์ที่เคยเป็นมรดกหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่คณะราษฎรได้พยายามสร้างขึ้นหลังการปฏิวัติสยาม 1932 หรือ 2475

และ narrative หรือเรื่องเล่าชุดนี้ที่หล่อหลอมตกผลึกสร้างคนไทยและความเป็นไทยอย่างที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้

คิดดูว่าปูชนียบุคคลที่แม้กระทั่งฝ่ายซ้าย หัวก้าวหน้า ฝ่ายลิเบอรัลของไทยยกย่องชื่นชมคือ พุทธทาสภิกขุ เหตุที่นิยม ก็เพราะฝ่ายก้าวหน้ามองว่า พุทธที่ไร้คุณภาพคือพุทธที่งมงาย พุทธชาวบ้านขอหวย ไหว้ผี คือพุทธพาณิชย์ เมื่อมีตรงนี้เป็นจุดอ้างอิงจึงมองว่า พุทธที่เน้นการพูดถึงตำรา ถึงพระธรรมคำสอนที่เคร่งครัดในตัวบท พุทธที่สมถะ พุทธที่มีอาศรมในป่าเขา พุทธที่วิเคราะห์การเมือง และพูดถึง “วิทยาศาสตร์” คือพุทธที่น่าเคารพยกย่อง เป็นพุทธ “วิชาการ” คือพุทธที่เป็น rare item คือพุทธที่ผู้มีปัญญาและผู้มีการศึกษารู้สึกว่านี้แหละคืออนาคตของพุทธศาสนา

แต่ขณะเดียวกันกลับไม่เอะใจใน “เนื้อหา” ที่นำเสนอ เช่น ในปาฐกถา ธรรมิกสังคมนิยม ปี 2519 ของพุทธทาสภิกขุ นั้นนำเสนอแนวคิด “ธรรมาธิปไตย” อันเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โดยอ้างว่าถ้าโจรมีมากกว่า “คนดี” เราจะปล่อยให้โจรได้ปกครองบ้านเมืองเพียงเพราะมีเสียงข้างมากได้อย่างไร

อุดมการณ์แนวคิดธรรมาธิปไตยนี้ถูกนำไปเผยแพร่ สนับสนุน เน้นย้ำผ่านปัญญาชนไทยโดยเฉพาะปัญญาชนฝ่ายซ้าย สายเอ็นจีโออย่างมหาศาลในกาลต่อมา

และคนที่เผยแพร่ สนับสนุนแนวคิดนี้อย่างมากคือปัญญาชนในสำนักของประเวศ วะสี

และนี่คือต้นทางของอุดมการณ์ที่หล่อหลอม “สลิ่ม” ขึ้นมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันผ่านสำนักนักคิดของสนธิ ลิ้มทองกุล บทความของนักคิด นักเขียนในค่ายของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการยุครุ่งเรืองจนพัฒนามาเป็นมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำมาสู่การรัฐประหารปี 2549 และความล่มสลายของประชาธิปไตยในประเทศนั้นแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ – อย่างยับเยิน

เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันของคนไทยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาอนุรักษนิยม หรือฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” (ก้าวหน้าแต่สมาทานแนวคิดธรรมิกสังคมนิยมของพุทธทาส) คือ ความรังเกียจนักการเมือง การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเสียงข้างมาก และนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557

สิ่งที่แยกสองฝ่ายนี้ออกจากกันคือ ฝ่ายหนึ่งเป็นแบบหมอเหรียญทอง อีกฝ่ายหนึ่งอยากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ยังคง “ไม่เชื่อ ไม่มั่นใจ และกลัวการเมืองแบบเสียงข้างมาก” อยู่เหมือนเดิม

ความน่าสนใจคือ ฝ่ายประชาธิปไตย “หัวก้าวหน้า” ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยตอนนี้ พยายามอธิบายว่า “การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่พอ เราจำเป็นต้องมีการปฏิรปเชิงโครงสร้าง เพราะในการเลือกตั้งนั้นเต็มไปด้วยเล่ห์กลสกปรก มีการเมืองบ้านใหญ่ มีการเลือกตั้งที่ใช้เงินหรือผลประโยชน์ระยะสั้นมาซื้อเสียง เกิดการคอร์รัปชั่น โกงกิน ระบบพรรคพวก การเมืองเป็นเรื่องสมบัติประจำตระกูล แทนที่จะเป็นอำนาจของประชาชน”

ซึ่งพูดอีกก็ถูกอีกว่า ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ยังต้องมีกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอื่นๆ จึงจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมในทุกมิติขึ้นได้

แต่คำถามที่ฉันถามคนเหล่านี้มาตลอดชีวิตคือ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ รวมไปถึงการกระจายอำนาจ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเราไม่เริ่มที่ความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งและเคารพชัยชนะของเสียงข้างมากเสียก่อน?

เพราะถ้าเราเริ่มต้นจากความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งและชิง “ฉลาดกว่า” เสียงข้างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมแบบที่เราไม่รู้ตัวคือเรากำลังเรียกร้อง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เหมือนมวลชน กปปส. หรือไม่?

หรือเรากำลังเรียกร้องให้กำจัดทุนสามานย์ และเผด็จการรัฐสภา เหมือนมวลชน พันธมิตรฯ หรือไม่?

และนั่นแปลว่าเราคือสลิ่มเฟสสองหรือไม่?

ซึ่งพอโดนด่าว่าเป็นสลิ่มเฟสสองก็ดิ้นๆๆ จะเป็นจะตายกันเหลือเกิน

 

ใช่ – ฉันกำลังจะบอกว่า หลังจากต่อสู้ ฟาดฟัน รื้อสร้างความคิด อุดมการณ์ของสลิ่มเฟสหนึ่งที่มาในรูปของพันธมิตรฯ และ กปปส. จนตอนนี้การต่อต้านรัฐประหารเป็นกระแสหลัก

และฉันก็เริ่มถอนหายใจด้วยความสบายใจว่า เอาล่ะ ตอนนี้สังคมไทยขยับไปข้างหน้าเยอะมากแล้ว

แต่สุดท้ายอยากอุทานออกมาเหมือนมีมที่ฮิตกันว่า เมื่อฉันสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ นั่นคือ อุตส่าห์สู้กับสลิ่มมาตั้งนาน แต่ตอนนี้สลิ่มสู้กลับในนามของผู้คนที่บอกว่าตัวเองเป็น “ประชาธิปไตยมากกว่า” “การเลือกตั้งของฉันบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่า” มีแม้กระทั่งความพยายามนำเสนอไอเดีย “ก้าวให้พ้นประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

ที่ฉันอ่านแล้วร้องเฮ้ย ดังมาก เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรง มันคือสิ่งที่บนเวทีพันธมิตรฯ ของสนธิ ลิ้มทองกุล เรียกร้องมาตลอด

ย้อนกลับไปที่ฉันเริ่มต้นว่า เพื่อจะออกจากะลา “สลิ่ม” ที่เราถูกปลูกฝังล้างสมองกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นให้เกลียดและกลัวนักเลือกตั้ง รังเกียจการเมืองที่อิงอยู่กับเสียงข้างมาก (ในข้อแม้ว่า ใช่เสียงข้างมากดี แต่…) เราควรไปศึกษาการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านบ้าง เช่น มาเลเซียนับตั้งแต่ตั้งประเทศในปี 1957 พรรค UMNO ก็ครองเสียงข้างมากยาวนานถึงปี 2018 ซึ่งเขาใช้คำว่า “พรรคการเมืองเดียวครอบงำ” ในขณะที่วาทกรรม “สลิ่ม” ไทยจะเรียกว่า เผด็จการรัฐสภา

ซึ่งการเรียกที่แตกต่างนี้สะท้อนการเคารพหลักการประชาธิปไตยที่แตกต่างกันอย่างยิ่งยวดระหว่างสองสังคม

และเรื่องนี้ คนไทยควรเอ๊ะให้หนักว่า ไอ้คำว่า เผด็จการรัฐสภา มันเป็นคำที่ประหลาดย้อนแย้งในตัวเองหรือไม่

ส่วนคำว่า “พรรคเดียวครอบงำ” กลับสะท้อนข้อเท็จจริงได้มากกว่า

หรือการทำความเข้าใจการเมืองฟิลิปปินส์ ชัยชนะของดูแตร์เต หากมองผ่านแว่น “สลิ่ม” ไทยก็มองว่า เป็นความฟอนเฟะของการเมืองประชานิยม ลัทธิเจ้าพ่อ มาเฟีย ช่างเป็นประธานาธิบดีที่กักขฬะ น่าอับอาย

คนฟิลิปปินส์น่าสงสารชะมัด เพราะยากจน ไร้การศึกษา จึงถูกหลอกล่อจากนักการเมืองกลุ่มบ้านใหญ่แบบดูแตร์เต

เฮ้อ ช่างสิ้นหวังไร้อนาคต

แต่ถอดแว่นสลิ่มออกไป นักรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่านี่คือการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยที่สำคัญมากของฟิลิปปินส์

เพราะดูแตร์เตถือเป็นคนนอกของชนชั้นนำเก่าของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ political dynasties เก่า แต่เป็นผู้มีอิทธิพลอีกลักษณะหนึ่งจากดาเวา ดำเนินนโยบายที่ unconventional แม้จะมีความกังวลเรื่อง leadership แบบเจ้าพ่อ ของดูแตร์เต แต่ถ้าส่องลงไปในรายละเอียดการเลือกตั้งจะเห็นว่า แม้ประชาชนจะเลือกดูแตร์เตเป็นประธานาธิบดี แต่ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกทุกๆ 3 ปี พรรคที่ชนะกลับเป็นพรรคของชนชั้นนำเก่าคือ – LP -ของอากีโน

และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีทุกๆ 6 ปี ชัยชนะกลับไปที่บอง บอง  ที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำเก่าอีกครั้ง

 

สิ่งที่เราเห็นจากบทเรียนของประเทศเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์การประกาศเอกราช ก่อตั้งประเทศมาในยุคใกล้เคียงกัน เราจะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของพัฒนาการประชาธิปไตยไม่ใช่ “ผลเลิศ” แห่งผลการเลือกตั้ง ได้คนดี คนเก่ง คนซื่อสัตย์ นักสิทธิมนุษยชน มาเป็นผู้นำ

แต่ผลเลิศของประชาธิปไตยการเลือกตั้งคือ “พลวัต” และการเรียนรู้ เติบโตของสังคมนั้นๆ กับนักการเมืองของพวกเขา และแน่นอน ภาวะที่เราจะยืนยันสนับสนุนประชาธิปไตยเสียงข้างมากอย่างปราศจากเงื่อนไข

หากเชื่อเช่นนี้ เราจะไม่มีวันพูดว่า “เลือกพรรคนั้นพรรคนี้มาเดี๋ยวก็รัฐประหารเหมือนเดิม”

ประชาธิปไตยเสียงข้างมากไม่ได้มีไว้เพื่อการันตีว่าเราจะได้พรรคการเมืองที่ดีเลิศประเสริฐศรีเป็นรัฐบาล เราอาจจะได้เหี้ยนั่นแหละมาเป็นรัฐบาล แต่อย่างน้อยก็เป็นเหี้ยที่มาและไปบนอำนาจของประชาชน

อยู่กับเหี้ยแต่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ดีกว่าอยู่กับเทวดานางฟ้าที่นึกว่าประชาชนคือสิ่งมีชีวิตที่รอการโปรดสัตว์อยู่