ชั่งน้ำหนักความเสี่ยง ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ติดเบรก ‘เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจ’ ธุรกิจขวาง…ผวาแซงโค้งทุกปัจจัยเสี่ยง/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ชั่งน้ำหนักความเสี่ยง ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’

ติดเบรก ‘เงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจ’

ธุรกิจขวาง…ผวาแซงโค้งทุกปัจจัยเสี่ยง

 

หลังปัญหาเงินเฟ้อพุ่งหนัก ทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น โดยแรงกดดันสำคัญอย่างการเดินหน้าทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยืนหยัดว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อหยุดเงินเฟ้อ

โดยการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดที่จะมีขึ้นวันที่ 20-21 กันยายนนี้ และเป็นครั้งที่ 3 ที่นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 90% ว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% แม้เงินเฟ้อสหรัฐ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 8.5% ลดลงจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคำทำนายดังกล่าว จะสอดคล้องกับที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวย้ำว่าจะปรับดอกเบี้ยต่อไปเพื่อลดเงินเฟ้อ

ดังนั้น ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ส่งผลกระทบให้หลายประเทศต้องเร่งปรับดอกเบี้ยตาม เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ให้ห่างจนกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ค่าเงิน และคงเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศเอาไว้ เพื่อหนีตายให้ได้ในสถานการณ์นี้

 

สําหรับสถานการณ์ในไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทนแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มยืนระดับ 7% ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ไม่ไหวต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% สู่ระดับ 0.75% หลังประวิงเวลามานาน เพราะต้องการสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

แต่การปรับดอกเบี้ยก็ทำให้ภาคธุรกิจหวั่นใจสะท้อนจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนสิงหาคม 2565 ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธปท. สะท้อนผู้ประกอบการกังวลสูงสุดเรื่องเงินเฟ้อและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ที่จะเร่งต้นทุนธุรกิจและอาจส่งผ่านราคาไปสู่สินค้าได้

ขณะเดียวกันการใช้จ่ายผู้บริโภคแผ่วจากราคาสินค้าแพงยังเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้ค่าครองชีพโต ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนบวมเป่ง

สุดท้ายปัญหาวกกลับมาที่เงินเฟ้อขยายตัวอยู่ในเศรษฐกิจที่ยังหนีไม่พ้นน้ำ

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่มีตัวแทนจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หยิบยกเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นหารือบนโต๊ะ และประสานเสียงคัดค้านนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น อ้างเหตุจะกลายเป็นชนวนให้ธุรกิจและเศรษฐกิจในระยะต่อไปฟื้นตัวช้าไปอีก 1-2 ปี ถึงตอนนี้ภาคเอกชนกังขาว่าขึ้นดอกเบี้ยช่วยต้นทุนธุรกิจ หรือถ่วงธุรกิจกันแน่

ดังนั้น ต้องขีดเส้นใต้ว่าโจทย์การขึ้นดอกเบี้ยยังเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบว่าการใช้เครื่องมือดังกล่าวจะเข้ามาหยุดเงินเฟ้อ หรือหยุดเศรษฐกิจ หรือจะเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปในทิศทางใด ยังต้องช่วยกันลุ้น

 

ภาคเอกชนและนักวิชาการ ต่างออกมาให้มุมมองผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ว่าจะมากหรือน้อย อย่างเช่น นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของกิจการต้องยืดเวลาออกไป เพราะการใช้จ่ายภาคประชาชนลดลงอาจส่งผลให้ธุรกิจชะลอการลงทุน

ขณะเดียวกัน การค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยของไทยจะไม่รุนแรงเท่าของสหรัฐ แต่เพราะได้รับผลกระทบจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50-0.75% ทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติโดยไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งนี้ การทำนโยบายดังกล่าวถือว่าทำเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยคงอยู่ระดับที่ภาคธุรกิจพอยอมรับได้ อีกทั้งไม่ทำให้เกิดความผันผวนต่อการเงินประเทศ รวมถึงไม่ทำให้ธนาคารต่างๆ เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามทันที

อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยต่อเนื่อง สิ่งสำคัญต้องติดตามดอกเบี้ยประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเดียวกัน หากดอกเบี้ยไทยมากกว่าจะทำให้เศรษฐกิจไปต่อยาก การแข่งขันลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้น แบงก์ชาติต้องคิดอย่างรอบด้านต่อการปรับดอกเบี้ย เพื่อรักษาสมดุลต่างๆ ให้ได้

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลต่อภาคธุรกิจ แม้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1-2 ครั้ง ยังไม่เห็นผล แต่ถ้าปรับต่อครั้งที่ 2-3 เป็นต้นไปจะเห็นผลกระทบด้านต้นทุนชัดเจน เพราะดอกเบี้ยธนาคารจะปรับตาม

และมีความเป็นไปได้ที่แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ฝังลึก เพราะถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยและยอมเปิดรับความเสี่ยง เช่น คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แบงก์ชาติต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.75% จะทำให้เศรษฐกิจเกิดอาการช็อก ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากต้นทุนแพงขึ้น

ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยช้าๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ และสามารถคาดการณ์ต้นทุนต่อการทำธุรกิจในอนาคตอย่างระมัดระวัง เพราะท้ายที่สุดผ่านไปสักระยะเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่ปกติได้เอง

ด้านวิชาการ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ในภาคธุรกิจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว จากดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้น 0.25% อีกในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ต้นทุนภาคธุรกิจมีภาระเพิ่มขึ้นระดับ 0.75% เป็นตัวเลขมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ธนาคารของรัฐและพาณิชย์ ยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจจะดีขึ้นและประชาชนสามารถปรับตัวได้ในไตรมาส 4/2565

ทั้งนี้ คาดว่าดอกเบี้ยปี 2566 อาจแตะระดับ 1.25%-2.00% ซึ่งจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจดีขึ้นจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติคงคำนึงถึงการเติบโตเศรษฐกิจ ค่าเงิน และองค์ประกอบหลายด้านรวมกัน ดังนั้น เงินเฟ้อไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ เมื่อมีการให้น้ำหนักหลายปัจจัยแปลว่าต่อให้คุมเงินเฟ้อไม่ได้ แต่จีดีพีของไทยยังดีก็เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้

ซึ่งลักษณะที่แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จึงมีความเหมาะสม เนื่องจากมุมมองของนักลงทุนยังคงมั่นใจว่าระบบการเงินไทยยังมีสภาพคล่อง หนี้นอกประเทศต่ำ และเศรษฐกิจไปต่อได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เกิดการไหลของเงินออกเร็วจนเกินไป และค่าเงินไม่อ่อนรุนแรง คาดว่าการไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วจะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ดีกว่า

 

จากมุมมองไม่ว่าจากภาคเอกชนหรือนักวิชาการ สะท้อนให้เห็นได้ว่า ภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จะกลายเป็นปัจจัยแซงหน้า ปัจจัยด้านอื่นๆ ทำให้ต้นทุนสูง

ทั้งราคาพลังงานดันภาคขนส่งแพงขึ้น แถมด้วยอัตราค่าไฟผันแปรงวดใหม่กำลังเริ่มขึ้น การปรับค่าแรงงานรายวันเริ่มเดือนตุลาคมนี้ ล่าสุดน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ ที่กระทบต่อผลผลิต สร้างความเสียหายต่อพืชและทรัพย์สิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมใจ

ดังนั้น ช่วงที่เหลือกว่า 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ต้องจับตามติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องเลือกใช้ยาแรงผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายแค่ไหน ที่จะไม่ก่อปัญหาเพิ่มกับต้นทุนทางธุรกิจ

พร้อมกับไม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจให้ฝืดลง จนกระทบเป้าหมายเศรษฐกิจปี 2565 ที่หวังว่าจะขยายตัวเกิน 3%