ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษประจำเดือนตุลาคม “ถวายความอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษประจำเดือนตุลาคม

“ถวายความอาลัย ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2560 จัดทำขึ้นเป็นฉบับพิเศษ ภายในมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่แฝงไว้ด้วยคติทางพุทธศาสนาเรื่องความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง ผสมผสานกับความเชื่อเรื่องสถานภาพของพระมหากษัตริย์ที่เป็นดั่งองค์สมมุติเทพ ทำให้พิธีกรรมมีความซับซ้อนมีรายละเอียดต่างๆ มากมาย โดยท้าวความมาตั้งแต่ธรรมเนียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะจัด ณ ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวงภายในเขตกำแพงเมือง ต่างจากศพข้าราชการและสามัญชนที่ต้องนำไปประกอบพิธีนอกกำแพงเมือง ส่วนแหล่งที่มาของเพลิงสำหรับถวายนั้น ตามโบราณราชประเพณีก็จะใช้แว่นส่องกับพระอาทิตย์ให้เกิดเพลิงแล้วเลี้ยงไว้ก่อนอัญเชิญมาในงานถวายพระเพลิง ทั้งยังจะให้ความรู้ถึงการจัดมหรสพในงานพระเมรุที่สื่อความหมายเป็นการส่งเสด็จเจ้านายกลับสู่สรวงสวรรค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้ด้วย ทั้งหมดมากจากการค้นคว้าของ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษสันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ก็จะมาอธิบายขยายความพระเมรุมาศที่โยงถึงโลกทรรศน์ไทยโบราณว่าเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประทับของเทวราชาที่ตั้งอยู่ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์คือเขาพระสุเมรุที่เป็นแกนของจักรวาล โดยมีข้อมูลจาก ไกรฤกษ์ นานา มาให้ภาพความรู้สึกนึกคิดของชาวต่างชาติต่องานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พร้อมรูปต้นฉบับที่บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส ถ่ายขบวนแห่พระโกศพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้แล้วเผยแพร่ในสื่อตะวันตกเป็นครั้งแรก นำไปสู่การวาดภาพลายเส้นงานพระเมรุเผยแพร่ในเวลาต่อมา ทำให้งานพระเมรุไม่ใช่เรื่องลี้ลับในสายตาโลกตะวันตกอีกต่อไป

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดที่มาของแนวคิดในการสร้างพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๙ ที่มีความพิเศษ ไม่เหมือนที่เคยมีมา คือเป็นบุษบก ๙ ยอด ๗ ชั้น แต่มีการปรับปรุงเทคนิคและวัสดุประดับตกแต่งไปตามยุคสมัย และมุ่งสืบสานพัฒนาศิลปกรรมอันล้ำเลิศของงานช่างในหลายแขนงเพื่อเฉลิมพระบารมีอันยิ่งใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยจะมีรายละเอียดแหล่งสร้างสรรค์งานประกอบพระเมรุมาศ ทั้งแหล่งผลิตงานไม้ งานจิตรกรรมทั้งบนฉากบังเพลิงและภายในพระที่นั่งทรงธรรม งานประณีตศิลป์เช่น พระโกศจันทน์ หีบพระศพจันทน์ งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ เช่น ช่างปูนปั้นสัตว์หิมพานต์ที่ประดับในสระอโนดาต เครื่องเคลือบเซรามิคประดับพื้นที่ รวมทั้งพันธุ์ไม้ประดับนานาชนิด เป็นต้น
ซึ่งในส่วนพันธุ์ไม้ประดับนี้ จะกล่าวถึง”ดอกหน้าวัวสีชมพูและต้นยางนา”เป็นพิเศษ เนื่องด้วย ดอกหน้าวัวสีชมพูเป็นดอกไม้ที่”สมเด็จย่า”ทรงโปรดและปลูกไว้ที่พระตำหนักดอยตุง โดยจะทรงเลือกตัดมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นประจำ ส่วนต้นยางนาก็เป็นต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดให้อนุรักษ์ ขยายพันธุ์และปลูกในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูตรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ก็ทรงโปรดให้ปลูกกล้ายางนาและให้คณาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาวัดขนาดต้นทุกปีในวันคล้ายวันประสูติปีต่อๆมา จนหลายคนเรียกว่าเป็น”ต้นไม้ของพ่อ” เพราะเป็นเสมือนสัญญลักษณ์ที่แทนความผูกพันจากพ่อส่งต่อยังลูกได้เป็นอย่างดี
ในเล่มยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เช่น ผัดผักไฟแดง สามัญาหารโปรดของพระองค์ และเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ เป็นต้น
ติดตามรายละเอียดอันทรงคุณค่าในเล่ม โดยเป็นเจ้าของได้ในราคาเล่มละ 120 บาทเท่าเดิม