ซีพี ผู้นำธุรกิจค้าปลีก / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

ซีพี ผู้นำธุรกิจค้าปลีก

 

กลุ่มธุรกิจหลักใหม่อย่างแท้จริง ตามแบบฉบับซีพีนั้น เพิ่งสถาปนาขึ้นมาเมื่อไม่นาน

แม้ว่าข้อมูลนำเสนอไว้อย่างเป็นทางการ “เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการดําเนินธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงธุรกิจการเงินและการธนาคาร…” (https://www.cpgroupglobal.com/) บ่งบอกว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี มีเครือข่ายธุรกิจอันกว้างขวาง ในฐานะอาณาจักรธุรกิจใหญ่รายสำคัญของไทยและภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอแนวความคิดอีกทางหนึ่ง ณ ที่นี้ มองว่า มีเพียง 2 ธุรกิจหลักเท่านั้น เข้าข่ายแบบบแผนของซีพีอย่างแท้จริง

นั่นคือ ธุรกิจดั้งเดิมซึ่งดำเนินมายาวนานราว 6 ทศวรรษ-ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (เริ่มนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรก 2501)

อีกธุรกิจ อันที่จริงเพิ่งจะลงหลักอย่างแท้จริงไม่นานมานี้-ธุรกิจค้าปลีก

 

เป็นไปตามแนวคิดซึ่งเคยเสนออย่างคร่าวๆ ไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ซีพีกับวิวัฒนาการทางสังคม อ้างอิงกับพัฒนาการธุรกิจดั้งเดิม ถือเป็นจุดตั้งต้นซีพียุคใหม่ วิวัฒนาการครั้งสำคัญ อยู่ในยุคสงครามเวียดนาม เมื่อราวๆ ครึ่งศตวรรษที่แล้ว

มาจากกรณีร่วมมือกับ Arbor Acres แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างระบบการเลี้ยงไก่ครบวงจร ตามแบบแผนอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐอเมริกา นำเข้ามาปะทุปะทะในสังคมไทย ก่อเป็นแนวทางธุรกิจที่เรียกว่า Vertical integration “สามารถควบคุมดีมานด์กับซัพพลายส่วนเกินได้ และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการประสานงาน” (กรณีศึกษา Harvard Business School ปี 2535 สรุปไว้) แผนการดำเนินไปอย่างมั่นใจและกระชับ จนกลายเป็นธุรกิจครบวงจรระดับภูมิภาคภายในทศวรรษเดียว

จากบทเรียนและประสบการณ์ในประเทศไทย สามารถส่งออกสู่ภูมิภาคในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีระดับการพัฒนาไม่แตกต่างกัน รวมถึงการเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วย เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว ด้วยเวลานั้นยังล้าหลัง จากยุคคอมมิวนิสต์ที่ปิดตัว แล้วค่อยๆ แง้มประตูสู่โลกภายนอก

จนถึงวันนี้ ซีพี คือเครือข่ายธุรกิจใหญ่มีเครือข่ายทั่วโลก ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร

ทั้งนี้ เริ่มต้นด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ตามกระแสและโอกาสครั้งใหญ่ ยุคสงครามเวียดนาม ท่ามกลางอิทธิพลสหรัฐอเมริกาอย่างทั่วด้านต่อสังคมธุรกิจไทย ทั้งบริการทางการเงิน การลงทุนโดยตรง จนถึงนำเสนอเทคโนโลยีก้าวหน้า และแบบแผนการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ซีพียุคต้นเปิดฉากขึ้นในเวลาอันเหมาะเจาะ พร้อมๆ กับยุคธนินท์ เจียรวนนท์

“ว่าด้วยแผนการใหญ่ เพื่อตอบสนองอย่างเป็นจริงเป็นจัง ปรากฏแบบแผนที่จับต้องได้ มิติหนึ่ง-เจาะจงเข้าสู่อุตสาหกรรมพื้นฐานหนึ่งๆ ซึ่งยังอยู่ภายใต้โครงสร้างการผลิตแบบดั้งเดิม ใช้ความพยายามอย่างเต็มกำลัง ขยับปรับโครงสร้างไปอีกขั้นแห่งวิวัฒนาการ สู่โครงสร้างการผลิตใหม่อันทันสมัย ในเวลาไม่ช้าไม่นาน ขณะอีกมิติ-สร้างโมเมนตัม ด้วยพลังอำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และพยายามเข้าควบคุมห่วงโซ่อุปทาน หรือวงจรธุรกิจให้ครอบคลุม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญ กลายเป็นผู้นำธุรกิจ ผู้นำอุตสาหกรรมนั้นๆ”

นี่คือ บทสรุปแบบแผนซีพีที่สำคัญ ซึ่งเป็นไปอย่างแตกต่าง กลายเป็นดีเอ็นเอเฉพาะซีพีก็ว่าได้ (คัดมาจากบทนำ ในหนังสือเกี่ยวกับซีพีของผม ซึ่งยังไม่เผยแพร่

 

ว่าเฉพาะซีพีกับพัฒนาการธุรกิจค้าปลีกแล้ว มีจังหวะก้าว และความเป็นไปแตกต่างมากพอควร

ซีพีกับธุรกิจค้าปลีก เกิดขึ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว อย่างไม่โฟกัส ตามกระแสและโอกาสเปิดกว้าง ด้วยการขยายลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างหลากหลาย เป็นช่วงชิมลางก็ว่าได้

ผ่านมาอีกราวๆ 2 ทศวรรษ ท่ามกลางความผันแปรของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแผนการของซีพีเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้และตกผลึกในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งใช้เวลาพอควร โดยเฉพาะกับระบบแฟรนไชส์ (กึ่งอเมริกากึ่งญี่ปุ่น) ซึ่งมีข้อจำกัด กับกิจการร่วมทุน (กับธุรกิจยุโรป) ซึ่งซีพีไม่มีอำนาจบริหารโดยตรง ทั้งนี้ เป็นไปอย่างแตกต่าง เมื่อเทียบเคียงกับโมเดลธุรกิจค่อนข้างสำเร็จรูปจากอเมริกา (กรณี Arber acres) กับธุรกิจดั้งเดิม เมื่อ 4 ทศวรรษก่อนหน้า

ผ่านไปกว่าทศวรรษ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ สามารถก้าวเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กอย่างเบ็ดเสร็จ ค่อนข้างเหลือเชื่อ จากช่วงทศวรรษแรก มีเครือข่าย 1,000 แห่ง เร่งสปีดเร็วเท่าตัว อีกเพียง 5 ปี (2545) จนมีสาขาทะลุ 2,000 แห่ง ในช่วงเวลาแทบไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจ จนกลายเป็นพลังขยับเขยื้อนสำคัญในสังคม สามารถปรับเปลี่ยนพลิกโฉม บทบาทและความสำคัญ จาก “โชห่วย” ไปยังร้านสะดวกซื้อ

ซีพีได้กลับมามองให้ความสำคัญ ยกขึ้นเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญ ตามมาด้วยแผนอันกระชับกระชั้น เพื่อขยายเครือข่าย ขยายอิทธิพล ตามแบบแผน จนถึงวันนี้มีเครือข่ายมากกว่า 13,000 สาขา (2564) ขยายกว่า 5 เท่าใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีคู่แข่งขันมากขึ้น แต่ดูแล้วไม่มีทางจะเข้ามาเทียบเคียง

เป็นที่คาดการณ์กันต่ออีกว่า ในไม่ช้า ซีพีกับเครือข่ายค้าปลีกจะเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 

พลังขยับเขยื้อนอีกสองครั้งในช่วงปี 2556 (ซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย) กับปี 2563 (ซื้อเครือข่าย Tesco) ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ส่งผลสะเทือนระดับอุตสาหกรรม เมื่อเครือข่ายค้าปลีกรายเล็ก-รายใหญ่ และค้าส่งอยู่ในมือเดียว

ภายใต้ Makro วางรากฐานในไทยมานานพอสมควร จากเริ่มต้นเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน สะท้อนวิวัฒนาการอีกด้านหนึ่งต่อเนื่องประสานกันลงตัว จาก “โชห่วย” ถึง “ยี่ปั๊ว” กำลังเคลื่อนย้ายสู่ห่วงโซ่ในเครือข่าย Modern trade

เมื่อมี Lotus (เดิมคือ Tesco lotus) ผู้นำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ มีเครือข่ายมากที่สุดทั่วเมืองไทยถึงระดับอำเภอ จึงเป็นอีกก้าวแห่งวิวัฒนาการ สู่การหลอมรวมครั้งใหญ่ในกำมือซีพี เครือข่ายการค้าสมัยใหม่ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

ว่าด้วยแบบแผนซีพี ธุรกิจค้าปลีกต้องมีเครือข่ายในระดับภูมิภาคด้วย แผนการอย่างจริงจังมีขึ้น เมื่อมี Makro แต่ใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าจะเปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรก อีกแผนจึงประสานกัน ทำสัญญาแฟรนไชส์หลัก (Master Franchise Agreement) กับ 7-Eleven เพื่อเปิดสาขาในประเทศกัมพูชาและลาว (2562) ได้ด้วย โดยดำเนินแผนทันท่วงที เปิดสาขาครั้งแรกเพียงปีถัดมา

ก้าวสำคัญมาอย่างกระชั้นชิด เมื่อซื้อกิจการ Tesco อย่างมีแพ็กเกจ รวมกิจการในมาเลเซียด้วย แผนการขยายเครือข่ายระดับภูมิภาคครั้งใหญ่ จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แผนการอย่างนี้ คงจะมีอีก •

 

TIME-LINE

2531

– ร่วมทุนกับ SHV แห่งเนเธอร์แลนด์ ในธุรกิจ “ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่งในระบบสมาชิก” ในนาม Makro

– เริ่มธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อนาม 7-Eleven โดยได้รับสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าจาก 7-Eleven, Inc. สหรัฐอเมริกา

2537

ก่อตั้งห้างโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ธุรกิจในรูปแบบ Hypermarket

2540

ริเริ่มธุรกิจโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

2541

ขายหุ้นส่วนใหญ่ที่ถืออยู่ในโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย ให้กับ Tesco UK

2556

ซื้อกิจการ Makro “หวังใช้เป็นช่องทางนำสินค้า SMEs และสินค้าเกษตรไทยลุยตลาดอาเซียน”

2563

ซื้อกิจการ Tesco Lotus ในประเทศไทย และ Tesco ในมาเลเซีย