คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี ไทย-อิสราเอล ประเทศแห่งสตาร์ตอัพและนวัตกรรม (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ

มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี

ไทย-อิสราเอล ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ และนวัตกรรม (1)

 

หลังเสร็จสิ้นภารกิจทางการทูตเป็นเวลา 5 ปีในตำแหน่งกงสุลใหญ่อิสราเอลประจำนครมุมไบ ประเทศอินเดีย นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) กลับไปรับราชการในกระทรวงต่างประเทศในตำแหน่งอธิบดีกรมแผนงานองค์กร และตำแหน่งผู้ตรวจราชการ

ก่อนจะมารับหน้าที่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรกัมพูชา

เราได้สนทนาเกี่ยวกับความร่วมมือและความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างกันในโอกาสที่ปีนี้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศครบรอบ 68 ปี

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

“ดิฉันเป็นอุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทยในช่วงแรก”

นางออร์นา ซากิฟ เดินทางมาจากประเทศอิสราเอล ถึงภูเก็ตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยกักตัวอยู่ 14 วัน จึงมากรุงเทพฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทันทีในฐานะอุปทูต

“ในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกของดิฉัน”

“มาถึงวันนี้ ดิฉันเป็นนักการทูตเกือบ 30 ปีแล้ว และทุกๆ ปีมีโอกาสได้เรียนรู้เพิ่มเติม ทำให้สนุกกับงานอาชีพนี้มาก”

“เราไม่ได้มีการวางแผนชีวิตกันมากนัก และไม่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นนักการทูต เนื่องจากดิฉันเรียนสาขารัฐศาสตร์และอาชญาวิทยา (Criminology) เพียงแต่คิดว่า ควรจะทำอะไรต่อดี เมื่อลองสมัครและสอบผ่านการคัดเลือกที่กระทรวงต่างประเทศ ดิฉันจึงมีความสุขมาก”

“หลังจากนั้นถูกส่งไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศไต้หวัน ทำให้สามารถเข้าใจและพูดได้นิดหน่อย ดิฉันอยู่ที่ไต้หวันกับสามี นายซาคี ไอแซ็ก ซากิฟ เป็นเวลา 18 เดือน จากนั้นจึงไปทำหน้าที่เป็นโฆษกของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน”

“สำหรับประเทศอิสราเอล เราไม่สามารถไปประจำการในต่างประเทศได้นานหลายๆ ปี เมื่อเราหมดวาระหน้าที่ทางการทูตในประเทศหนึ่ง เราต้องกลับไปประจำประเทศของเราก่อน ซึ่งต่างจากนักการทูตบางประเทศ เมื่อหมดวาระแล้ว สามารถย้ายไปประจำยังอีกประเทศหนึ่งได้ทันที”

ประสบการณ์ในไทย

“ดิฉันมาเมืองไทยครั้งแรกในปี 1990 ในฐานะนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (backpacker) กับแฟน ซึ่งเวลานี้ก็คือสามี เป็นที่ทราบกันดีว่า หนุ่มสาวอิสราเอลหลังจากเป็นทหารก็จะไปพักผ่อน หลายคนเลือกมาเที่ยวเมืองไทยแบบแบ็กแพ็กซึ่งรวมถึงตัวดิฉัน แล้วก็ตกหลุมรักประเทศไทยในที่สุด”

“เมืองไทยตอนนั้นแตกต่างกับตอนนี้มาก 30 ปีผ่านมาเราได้เห็นความเจริญ ความทันสมัยขึ้นอย่างมาก หากแต่ผู้คนที่ยังคงเหมือนเดิม คือมีน้ำใจไมตรี ให้การต้อนรับผู้มาเยือนเป็นอย่างดี สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ที่ใช้ Google Maps ดังนั้น เราจึงต้องเปิดแผนที่กันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักท่องเที่ยวสไตล์ backpacker ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”

“นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักนิยมไปเที่ยวเกาะสมุย หรือเกาะพะงัน แต่เราเลือกไปเกาะเสม็ด เพราะตอนนั้น นักท่องเที่ยวมีจำนวนน้อยกว่า เรารักชายหาดอันสวยงามของเกาะเสม็ด ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วยังไม่มีอะไรเลย เราพักอยู่ในกระท่อมเล็กๆ ไม่มีไฟฟ้า แต่เมื่อกลับไปอีกครั้งไม่นานมานี้ ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย มีรีสอร์ตสวยงามเกิดขึ้นหลายแห่ง เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บรรยากาศแห่งหาดทรายขาวและน้ำทะเลสีฟ้าใสให้ความรื่นรมย์แก่เราเป็นอย่างมาก”

“เมื่อปีที่แล้ว เราได้ไปเชียงใหม่ โคราช เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี รู้สึกประทับใจมาก โดยเฉพาะที่ขอนแก่น เมืองอัจฉริยะ (smart city) มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งแข็งแกร่งทางด้านวิชาการมาก เรามีความร่วมมือด้านการเกษตร มีโรงเรือนแบบผสมผสาน มีโครงการระบบชลประทานอยู่ที่นั่น พวกเขาทำงานอย่างหนักกับโครงการเมืองอัจฉริยะ ดิฉันไปขอนแก่นพร้อมกับทีมงานสถานทูต และมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย”

“นอกจากนี้ แรงงานไทยที่ไปอิสราเอลส่วนใหญ่นั้น มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

ในปีนี้ กระทรวงแรงงานของไทย โดยกรมการจัดหางาน ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม-29 พฤษภาคม 2022 จำนวน 3,027 คน

 

เสน่ห์อาหารไทยในมุมมองของทูตออร์นา

“ทั้งสามีและดิฉันเป็นมังสวิรัติมา 22 ปีแล้ว ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายนิดหน่อยสำหรับผู้ชื่นชอบอาหารมังสวิรัติ ดิฉันชอบเที่ยวตลาด แต่แทบจะหาอาหารแบบมังสวิรัติไม่ได้เลย เราจึงมักไปร้านอาหาร ส่วนดิฉันชอบผัดซีอิ๊ว ส้มตำ แกงเผ็ด และอีกหลายอย่างที่รสชาติดีมาก”

“เมื่อได้รับเชิญไปงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตเห็นคือ อาหารที่จัดมาล้วนผ่านการรังสรรค์ทั้งหน้าตาและรสชาติอย่างวิจิตรบรรจง”

“ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยในอิสราเอลมากมาย บางร้านอยู่ในนครเทลอาวีฟ ในกรุงเยรูซาเลม และมีอยู่ทั่วไปในประเทศ ซึ่งราคาย่อมสูงกว่าที่นี่ แต่ก็อร่อยมากเช่นกัน”

กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ไปทัศนศึกษาโดยทางรถไฟ ณ จังหวัดลพบุรีและอยุธยา

การทัศนศึกษานอกสถานที่

“เมื่อเร็วๆ นี้ เรามีโอกาสได้เดินทางระยะสั้นโดยรถไฟเพื่อไปทัศนศึกษา จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้หวนคิดถึงเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ดิฉันก็เคยนั่งรถไฟไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นรถไฟแบบเดิม ต่างจากรถไฟหัวกระสุนยุคใหม่ที่วิ่ง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”

“เราได้เห็นโครงการอันมหัศจรรย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สร้างขึ้นเพื่อประชาชนชาวไทย เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่อธิบายเรื่องเขื่อนให้เราฟัง และการบรรยายสรุปเกี่ยวกับศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทย เมื่อเราเข้าเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model)”

“นอกจากนี้ เราได้ชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน และอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ณ ศูนย์ศิลปาชีพ ตำบลเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เวลามีไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางไปชมความงามอีกหลายแห่งในจังหวัดลพบุรีหรืออยุธยา ดิฉันจึงคิดว่าจะต้องกลับไปเยือนอีกครั้งเพื่อไปชมวัดและพระราชวังโบราณ”

“ประเทศไทยมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะภูมิทัศน์วัฒนธรรม ดิฉันเพลิดเพลินกับการออกไปตามท้องถนน มีความสุขกับการไปชมวัดวาอาราม และพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่มีความงดงาม ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมเลือน”

“คิดว่า ประเทศไทยเป็นสุดยอดแห่งการผสมผสานของทุกสิ่งทุกอย่าง มุมมองอย่างคนมืออาชีพ ทำให้ดิฉันพบว่า ที่นี่มีผู้คนที่ชาญฉลาดอยู่มากมาย ดิฉันมองเห็นธุรกิจร่วมกัน เกิดความสนุกเพลิดเพลินกับการสนทนา ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ทั้งในการให้คำตอบและการตั้งคำถาม”

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส 50 คน จาก 36 ประเทศ เดินทางโดยรถไฟเยี่ยมชมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นต้นแบบของโครงการบริหารจัดการน้ำ ณ จังหวัดลพบุรี

และเยี่ยมชมโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความสำเร็จและบทบาทของประเทศไทยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

รวมทั้งการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินและอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศไทย ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การทัศนศึกษาในครั้งนี้ เป็นโอกาสให้คณะทูตฯ ได้รู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้สัมผัสถึงศักยภาพของประเทศไทยในหลากหลายมิติ •