โมรยาโคสาวี : นักบุญผู้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคเณศ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบ : Morya Gosavi โดย Chitrashala Press, Poona

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

โมรยาโคสาวี

: นักบุญผู้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคเณศ

 

“เรื่องทางโลกช่างยากเย็นนัก ความยินดีก็มีน้อยส่วนเรื่องเศร้าสร้อยนั้นมากล้นในโลกนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกสลดสังเวช ข้าพเจ้าไม่อาจรับใช้พระองค์ ข้าพเจ้าไม่อาจจดจำพระองค์ ข้าช่างผิดบาปเสียนี่กระไร โปรดอย่ากริ้วข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ามิมีผู้ใดอื่นนอกจากพระองค์ ขอทรงโปรดปรานข้าพเจ้าและประทานความรักให้ด้วยเถิด”

ในอินเดีย นิกายคาณปัตยะหรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นพระเจ้าสูงสุดเป็นเพียงนิกายชั้นรองเท่านั้น แม้ผู้คนจะนับถือพระคเณศกันโดยทั่วไปก็ตาม ผิดกับพระวิษณุและพระศิวะซึ่งมีอิทธิพลกว้างขวางและก่อให้เกิดขบวนการภักติในยุคกลางของอินเดีย

กระนั้น ในดินแดนมหาราษฏร์ เราอาจถือว่าเป็นพื้นที่ของนิกายคาณปัตยะอย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบสามเป็นต้นมา นิกายที่นับถือพระคเณศได้ตั้งมั่นลงที่นั่น มีนักบุญในนิกายนี้ปรากฏนามขึ้น เช่น โมรยาโคสาวี, คเณศโยคีนทราจารย์, ชนีชนารทนะ ยาฑวมุนีศวร ฯลฯ

และในสมัยที่เหล่าเปศวาปกครองแคว้นนั้นอยู่ ก็ได้ถือเอาพระคเณศเป็น “กุลเทวดา” หรือเทวดาประจำตระกูล ทำให้การนับถือพระคเณศแพร่หลายเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันผู้คนยังคงไปแสวงบุญ “อัษฏวินายก” หรือพระคเณศแปดองค์ในแคว้นนั้น ส่วนงานพิธีคเณศจตุรถีในดินแดนมหาราษฏร์ก็เป็นงานฉลองพระคเณศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกดังเรารับรู้กันดี

 

หากท่านได้เดินทางไปยังงานคเณศจตุรถีในอินเดีย จะได้ยินผู้คนร้องตะโกนกันว่า “คณปติบ๊าปปา โมยา!” หรือ “มงคลมูรติ โมรยา!”

คำ “โมรยา” ที่เขาร้องตะโกนต่อท้ายนามแห่งพระคเณศนี้หมายถึงนักบุญ โมรยาโคสาวี (Morya Gosavi) นักบุญที่สำคัญที่สุดท่านหนึ่งในนิกายคาณปัตยะ

“โมรยา” แปลว่า นกยูง ซึ่งนำมาจากพระนามแห่งพระคเณศในปางมยุเรศวร (เจ้าแห่งนกยูง) เพราะพระองค์ประทับนกยูงมาปราบอสูร ในภาษามาราฐีมักออกเสียงว่า โมเรหรือโมรยาก็ได้ พระคเณศองค์นี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนกยูง (โมเรคาว) ในเมืองปูเน่ ส่วน “โคสาวี” มาจากคำสันสกฤตว่า “โคสวามี” เป็นคำยกย่องนักบวช (สันยาสี) ระดับสูงที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว

ตัวโมรยาโคสาวีเองมักเรียกพระคเณศมยุเรศวรในบทกวีของท่านว่า “โมรยา” ซึ่งเป็นนามเดียวกับท่าน ที่ต้องกล่าวไว้เช่นนี้เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน

 

นักบุญท่านนี้มีชีวิตในราวคริสตศตวรรษที่สิบสามถึงสิบเจ็ด ข้อนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ โมรยาเกิดในตระกูลศาลิครามซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์แห่งแคว้นกรรณาฏกะ ต่อมาครอบครัวโยกย้ายเข้ามาสู่ดินแดนมาราฐาหรือแคว้นมหาราษฏร์

บางตำนานเล่าว่า บิดามารดาได้ขอบุตรจากพระคเณศมยุเรศวรแห่งโมเรคาวและปรนนิบัติพระเจ้าด้วยความภักดี ด้วยเหตุนั้นพระมยุเรศวรได้มาเข้าฝันวามันภัฏฏะบิดาของท่านว่า จะมาบังเกิดเป็นบุตร ด้วยเหตุนั้น สาวกจึงนับถือว่าโมรยาโคสาวีเป็นอวตารของพระคเณศปางมยุเรศวรนั่นเอง

ในวัยเด็ก ว่ากันว่าโมรยาไม่พูดเลยจนถึงอายุสองขวบ แต่เมื่อได้รับการอภิเษกด้วยมนตร์ของพระคเณศ ท่านจึงเริ่มพูดได้ เมื่ออายุได้ห้าขวบป่วยหนักจนเกือบเสียชีวิต หลังจากหายป่วยก็เกิดความเบื่อหน่ายในโลกิยะ และสนใจแต่เรื่องทางศาสนา

นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านได้เรียกท่านว่า พระคุณท่านโคสาวี (โคสาวีมหาราช) และขนานนามท่านว่า เทวะ (deo) ซึ่งหมายถึงเทพเจ้า ต่อมาบุตรของท่านได้รับการขนานนามว่าเทวะเช่นกัน คำนี้จึงกลายเป็นนามของตระกูล ซึ่งยังคงมีทายาทสืบมาจนปัจจุบันและถือว่าหัวหน้าของตระกูลเป็นหัวหน้าคณะนิกายอีกด้วย

โมรยาโคสาวีออกเดินทางไปเยือนและค้นหาอัษฏวินายกทั้งแปดแห่ง ที่จริงเราอาจกล่าวว่า ท่านคือผู้รื้อฟื้นการเดินทางไปยังเทวสถานสำคัญของพระคเณศ โดยเชื่อกันว่าสถานที่เหล่านี้ถูกระบุไว้ในคัมภีร์คเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ ทว่า บางแห่งก็กลายเป็นที่รกร้างไปแล้วตั้งแต่สมัยนั้น

บิดามารดาของท่านประสงค์ให้โมรยาแต่งงานและใช้ชีวิตทางโลกแต่ท่านปฏิเสธ ไม่นานนักท่านก็ได้พบกับคุรุ โยคีราช นยนะภารตี ว่ากันว่าการพบกันครั้งนั้นมีผลต่อจิตใจของโมรยามาก ท่านถึงกับตกภวังค์ไปนานนับชั่วโมงเพียงแค่คุรุเพียงจ้องมอง คุรุได้สั่งสอนมนตรา โยคะและการปฏิบัติต่างๆ โดยละเอียด

ครั้นศึกษาเจนจบแล้ว โมรยาโคสาวีได้เดินทางไปยังเมืองเถอูรเพราะเชื่อว่าที่นั่นเป็นที่สถิตของพระคเณศในปาง “จินตามณี” ท่านบำเพ็ญพรตอย่างอุกฤษฏ์โดยไม่เกรงกลัวความยากลำบาก มีงูและเสือเข้าทำร้ายแต่ก็ไม่อาจทำอันตรายแก่ท่านได้

ในที่สุดโมรยาก็ได้บรรลุสิทธิอำนาจต่างๆ พระจินตามณีได้มาปรากฏต่อหน้า ที่แปลกประหลาดคือพระคเณศองค์นั้นได้บัญชาให้โมรยากลับไปใช้ชีวิตครองเรือนและสัญญาว่าจะมาบังเกิดเป็นบุตรของท่าน

 

แม้จะไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตคฤหัสถ์และคิดว่าตนมีอายุมากแล้ว ทว่าเมื่อเป็นบัญชาของพระจินตามณี โมรยาก็จำต้องยอมรับ ท่านเดินทางไปอาศัยอยู่ที่จิญจาวัฑและได้แต่งงานกับอุมาพาอี บุตรีของโควินทะราว กุลกรรณี ผู้ซึ่งได้รับบัญชาจากพระจินตามณีให้มอบบุตรีแก่โมรยาโคสาวีเช่นกัน

เพื่อทดสอบว่าพระจินตามณีมาบังเกิดเป็นบุตรของท่านจริงๆ โมรยาโคสาวีจึงเดินทางกลับไปยังเถอูร เฝ้าบูชาพระองค์ ครั้นเมื่อบุตรของท่านจะถือกำเนิด พระจินตามณีได้มาปรากฏแล้วแจ้งข่าวนี้ โมรยาจึงได้ทำเครื่องหมายไว้ที่องค์เทวรูป และเครื่องหมายดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นที่ทารกน้อยเมื่อแรกคลอดเช่นกัน

บุตรของท่านจึงได้นามว่า “จินตามณี” นับถือกันว่าเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ เป็นอวตารของพระคเณศอีกองค์หนึ่ง นับแต่นั้นมา ทายาทอีกหกรุ่นของตระกูลนี้รวมกับท่านนับเป็น “สัปตปุรุษ” (บุรุษทั้งเจ็ด) ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญและอวตารของพระคเณศ ได้แก่ โมรยาโคสาวี, จินตามณีมหาราช, นารายณะมหาราช, จินตามณีมหาราชที่สอง, ธรณีธรมหาราช, นารายณะมหาราชที่สอง, จินตามณีมหาราชที่สาม

หลังบรรลุสิทธิอำนาจ โมรยาโคสาวี ได้ช่วยเหลือผู้คนมากมายโดยอัศจรรย์ เป็นต้นว่า ช่วยคนตาบอดให้หาย ช่วยให้บุคคลได้บุตร กระนั้นท่านมักจะบอกผู้คนที่ท่านช่วยเหลือว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอำนาจของท่านแต่เป็นความกรุณาของพระคเณศ

ชื่อเสียงของท่านทำให้บางคนสงสัย บางคนถึงขั้นริษยา บ้างก็คิดว่าท่านเป็นสาธุที่หลอกลวงผู้คนให้หลงเชื่อ นรหริ มหิปติ ชายผู้สงสัยถึงกับมาลอบเผากระท่อมของท่าน ทว่า โมรยายังคงนั่งสมาธิโดยไม่ได้รับอันตรายจากไฟ แม้ทุกอย่างจะกลายเป็นเถ้าถ่านไปก็ตาม

 

ปรัชญาของโมรยาโคสาวีถือว่าพระคเณศเป็นพระเจ้าสูงสุด พระองค์คือพรหมันหรือสัจธรรม ทั้งอยู่ในภาวะที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ และปรากฏในรูปของพระเป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจสูงสุด ท่านประพันธ์บทกวีไว้ว่า

“โอ้ โมรยา! (พระคเณศ) พระองค์คือเจ้าแห่งสกลจักรวาล กรณียกิจของพระองค์นับอนันต์ แม้แต่พระพรหมา พระวิษณุและพระมเหศวรก็มิอาจหยั่งทราบรูปที่แท้จริงของพระองค์ แม้แต่พระเวทก็กล่าวถึงพระองค์ได้เพียงว่า “เนติ เนติ” (มิใช่นั่น มิใช่นี่)”

แม้พระเจ้าจะทรงเป็นบรมสัจจ์แต่ก็ปรากฏอย่างเรียบง่าย ถ่อมตน และรักสาวกของพระองค์อย่างยิ่ง โมรยาโคสาวีแม้จะแก่เฒ่าก็ยังเดินทางจากจิญจาวัฑไปยังโมเรคาวเป็นประจำ ด้วยระยะทางอันยาวไกลและเรี่ยวแรงที่ถดถอย วันหนึ่งท่านก็มาถึงเทวสถานมยุเรศวรในเวลาค่ำซึ่งเทวสถานปิดประตูไปแล้ว ท่านจึงนั่งลงใต้ต้นไม้และขับเพลงสรรเสริญ ทันใดนั้นพระมยุเรศวรก็เสด็จออกจากเทวสถานมาหาสาวกที่พระองค์รัก และสัญญากับโมรยาว่าพระองค์จะไปหาโมรยาเอง

โมรยาเดินทางกลับไปจิญจาวัฑและลงอาบในแม่น้ำตามธรรมเนียม ท่านได้พบเทวรูปพระคเณศองค์เล็กๆ อยู่ที่ใต้แม่น้ำ นับตั้งแต่นั้นมาท่านจึงไม่ต้องเดินทางไกลอีก

ต้นไม้ที่ท่านนั่งขับเพลงสรรเสริญและเทวรูปที่ท่านพบยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ เป็นที่กราบไหว้ของผู้ศรัทธาทั้งหลาย

แม้จะเป็นมหาโยคี แต่โมรยาสอนว่าในกลียุคนี้ หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าถึงพระเป็นเจ้าคือการท่องบ่นนามของพระองค์ เพราะวิธีการอื่นๆ ล้วนยากที่จะปฏิบัติแก่คนทั่วไป ท่านกล่าวว่า

“โอ้ โมรยา (พระคเณศ) การท่องบ่นนามของท่านทำลายบาปให้พินาศไปดุจภัสมะธุลี ข้าจึงท่องสวดนามของท่านทั้งกลางวันและกลางคืน” และ “ไม่ต้องกระทำสิ่งใดอื่น เพียงแต่ท่องนามของพระมยุเรศวรเท่านั้น สิ่งใดที่ปรารถนาในจิตก็จะบรรลุผลในทันที”

การให้ความสำคัญกับ “นาม” คล้ายคลึงกับวิธีการที่นักบุญไวษณพนิกายเสนอมาแล้ว ดังนั้น นี่คงเป็นอิทธิพลที่ท่านโมรยาได้รับมา หรือเป็นความนิยมทั่วไปในยุคสมัยนั้น

 

ผลงานกวีของโมรยาโคสาวีนี้ล้วนประพันธ์ขึ้นในภาษามาราฐี และยังไม่ค่อยได้รับการแปลจึงแพร่หลายไม่มากเท่านักบุญท่านอื่นๆ แต่กระนั้นท่านก็เป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงที่สุดในนิกายคาณปัตยะหรือในบรรดาสาวกของพระคเณศทั้งหมด

หลังจากคุรุและภรรยาของท่านจากไป โมรยาโคสาวีจึงตัดสินใจเข้าสู่ “สัญชีวันสมาธิ” คือเข้าไปสู่ที่ฝังในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างอุโมงค์ใต้ดินและเข้าไปสู่ที่นั่น พร้อมให้บุตรปิดปากทางไว้ขณะเมื่อมีอายุได้ 186 ปี

ผมขอจบบทความด้วยกวีสั้นๆ ของท่านดังนี้

“นกยูงยินดีเมื่อเห็นเมฆฝนบนฟ้าฉันใด

ข้าพเจ้าก็ยินดีไซร้เมื่อได้พบพานพระองค์ฉันนั้น

ดอกปทุมเบ่งบานเพราะดวงสุริยาฉันใด

ดวงใจของข้าพเจ้าเบ่งบานเพราะได้พบพานพระองค์ฉันนั้น” •