กองทัพไทยกับการเมือง (3)/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

กองทัพไทยกับการเมือง (3)

 

ผมได้ขอยกเรื่องสำนึกชาตินิยมไว้ก่อนในตอนที่แล้ว เพื่อขยายความในตอนนี้

ถ้าถือว่าชาตินิยมคืออุดมการณ์ ชาตินิยมก็เป็นอุดมการณ์ที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไร แทบจะหาคำอธิบายในเชิงปรัชญา, สังคม หรือเศรษฐกิจอะไรไม่ได้เลย ชาตินิยมจึงเป็นสำนึกมากกว่า อาจเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขหลายอย่างแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุดังนั้น สำนึกชาตินิยมในโลก แม้ใช้ชื่อเดียวกัน แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันมาก แล้วแต่ว่าวัฒนธรรมของแต่ละสังคมที่เกิดสำนึกนี้จะทำให้เนื้อหาชาตินิยมมีลักษณะเฉพาะของตนเองอย่างไร

ผมเข้าใจว่า หนึ่งในเป้าหมายของหนังสือเรื่องชุมชนจินตกรรมของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ก็ต้องการชี้ให้เห็นความต่างอย่างละเอียดอ่อนของสำนึกชาตินิยมที่เกิดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีอุดมการณ์เป็นชิ้นเป็นอันก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มีหลักการร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือชาติเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน รัฐทุกรัฐที่เคยมีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นสมบัติของพระเจ้า (ที่มอบให้แก่บางตระกูล), ของสมมุติเทพที่ได้สั่งสมบารมีมาสูงสุด, ขององค์กรนักบวช, ของกลุ่มตระกูล “ผู้ดี” ของสังคม ฯลฯ ไม่เคยมีรัฐใดที่ประชาชนเป็นเจ้าของมาก่อนเลย ประชาชนที่เป็นเจ้าของ “ชาติ” อาจแตกต่างกันทางชาติพันธุ์, ศาสนา, ภาษา หรือสถานะทางสังคมด้านต่างๆ แต่ทุกคนกลับเป็นเจ้าของชาติเท่ากัน ข้อนี้ไม่เป็นหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนแต่อย่างไร เพราะในนามของการปกป้องคุ้มครองประชาชน ก็อาจเกิดระบอบปกครองที่กดขี่และทำร้ายประชาชนอย่างหนักในนามของ “ชาติ” ก็ได้

(ผมอยากเตือนผู้ที่อาจลืมว่า เผด็จการในรูปต่างๆ มีมานานแล้ว แต่เผด็จการเบ็ดเสร็จมีขึ้นได้เฉพาะในประชารัฐเท่านั้น ผมสงสัยว่าผมพูดอย่างนี้กับ “สังคมประชาธิปไตย” และ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ก็ได้เหมือนกัน)

แต่เพราะรัฐกลายเป็นสมบัติของทุกคนอย่างเท่าเทียม “ชาติ” จึงเป็นรัฐแบบใหม่ที่ไม่เหมือนรัฐอะไรที่เคยมีมาก่อนเลย

 

สํานึกชาตินิยมจึงแตกต่างจากสำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอน (ซึ่งหมายรวมถึงวัฒนธรรมและทุกอย่างอันเป็นที่ภาคภูมิใจ) แม้ผูกพันกับสิ่งเดียวกัน แต่ชาตินิยมต้องให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกคน ไม่เฉพาะแต่ “กลุ่ม” ของตนเท่านั้น ความรักบ้านเกิดเมืองนอนแยกไม่ออกจากความผูกพันที่แต่ละคนมีร่วมกับ “กลุ่ม” ของตน

จินตกรรมที่จะสร้างสำนึกว่าประชาชนทุกคนคือ “กลุ่ม” เดียวกันนั้นไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น สำนึกชาตินิยมจึงมักไม่สอดคล้องกับระบอบปกครองอื่นที่มีมาก่อน เช่น ถ้ารัฐยังเป็นเพียงราชสมบัติ รัฐก็ยังเป็นรัฐอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางกลายเป็นชาติไปได้ เพราะ “กลุ่ม” บริวารของราชสมบัติย่อมมีความสำคัญกว่าประชาชนทุกคน

รัฐประชาชาติเป็นรูปแบบรัฐที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของโลกสมัยใหม่อันเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติคู่ คือปฏิวัติอุตสาหกรรมและปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้รัฐประเภทอื่นๆ ปรับตัวเองให้กลายเป็นรัฐประชาชาติบ้าง ประสบความสำเร็จบางระดับบ้าง ไม่ประสบเลยบ้าง หรือกลายเป็นชาติโดยรูปแบบแต่ไม่เป็นในทางเนื้อหาบ้าง

ในโลกอาณานิคมของเอเชีย หลายแห่งไม่เคยมีประเทศอันหนึ่งอันเดียวกันมาก่อน จนเมื่อตกเป็นอาณานิคมแล้ว เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ลาว ฯลฯ ชาตินิยมของประเทศเหล่านี้มี “ภาระ” จากอดีตที่ต้องแบกไม่มากนัก เช่นในอินเดีย แทนที่จะเน้นเรื่องของอำนาจส่วนกลางที่เคยมีเหนือดินแดนอื่นๆ ทั่วอนุทวีป ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก็หันไปเน้นเรื่องของวัฒนธรรมแทน เพราะถือว่าพอจะร่วมรากกันพอสมควร แต่ก็มีปัญหากับพวกที่ไม่ยอมร่วมในรากเดียวกัน

ในอินโดนีเซีย แทนที่จะเลือกภาษาที่มีผู้ใช้มากสุดเป็นภาษาแห่งชาติ กลับเลือกเอาภาษาที่ทำหน้าที่เป็นภาษากลางของการค้าและที่เจ้าอาณานิคมใช้เพื่อสื่อสารกับคนพื้นเมือง เป็นภาษาแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ผู้พูดภาษานี้เป็นภาษาน้ำนมคือคนส่วนน้อย จึงทำให้ภาษาแห่งชาติอินโดนีเซียมีความยืดหยุ่นสูง ไม่กลายเป็นทรราชเหนือปากคอของพลเมือง

และว่าที่จริงอีกหลายประเทศก็ผนึกรวมดินแดนข้างเคียงซึ่งไม่เคยรวมอยู่ในแกนกลางของรัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้ของรัฐ โดยอาศัยเงื่อนไขในระบอบอาณานิคมนั่นเอง เช่น เวียดนาม, สยาม, ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ เป็นต้น

 

จะเผยแพร่สำนึกชาตินิยมซึ่งนำมาจากตะวันตกในสังคม ซึ่งมีแกนกลางเป็นรัฐราชสมบัติสืบเนื่องมาหลายศตวรรษอย่างสยามได้อย่างไร จึงจะไม่กระเทือนไปถึงแกนกลางของรัฐ

หนังสือ ธรรมจริยา ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเขียนมาก่อนรัชกาลที่ 6 แล้ว กล่าวถึงความรักชาติว่า “…นอกจากญาติพี่น้องและเพื่อนซึ่งเป็นแต่คนเล็กน้อย ยังมีผู้อื่นที่เรารักมากกว่านี้ขึ้นไปอีก คือพระเจ้าแผ่นดินของเรา และคนไทยเราด้วยกัน หรือเรียกว่าชาติของเรา… เป็นพวกเดียวกัน เป็นชาติเดียวกัน…”

นับเป็นความพยายามขยายกลุ่มเฉพาะในบ้านเกิดเมืองนอน ให้กลายเป็นกลุ่มที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติ ซึ่งรวมแม้คนที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา หรือไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็พยายามจะรักษาความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์แบบรัฐราชสมบัติให้ดำรงอยู่ต่อไปในรัฐประชาชาติ เพราะท่านอธิบายไว้ในที่อื่นด้วยว่า เนื่องจากรัฐเป็นสมบัติของกษัตริย์ เราจึงต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์เพราะเราอาศัยอยู่ในรัฐนั้น

จะเห็นได้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินของเรา” และ “คนไทยเราด้วยกัน” แย่งความรักกันและกันอยู่ ตราบเท่าที่สองอย่างนี้ไม่ขัดแย้งกัน ก็ไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องเลือก แต่ถ้าสองอย่างนี้เกิดขัดแย้งกัน ก็ยากที่ประชาชนจะเลือกได้

(เป็นปัญหาเดียวกับข้อเสนอของนักวิชาการกฎหมายมหาชนที่ว่า อำนาจอธิปไตยของไทยนั้นถือร่วมกันระหว่างประชาชนและกษัตริย์ ข้อเสนอนี้คงไม่เป็นปัญหาอะไร ตราบเท่าที่ประชาชนและกษัตริย์ไม่มีความขัดแย้งกันทางการเมือง, เศรษฐกิจ หรือสังคม แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมุ่งจะใช้อำนาจอธิปไตยไปในทิศทางที่ต่างกัน)

 

ธรรมจริยาเป็นความล้มเหลวครั้งแรกของปัญญาชนสยามในการผนวกรวมสำนึกชาตินิยมเข้ากับรัฐที่ไม่ใช่ชาติ

ปัญหาที่จะนิยามชาติมิให้กลายเป็นสมบัติของประชาชนมาจบลงที่คำขวัญ “ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์” ของ ร.6 โดยทำให้สามสถาบันนี้เป็นเหมือนตรีมูรติ คือสามสิ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงไม่มีวันที่จะขัดแย้งกันและย่อมแยกจากกันไม่ได้ แต่คำขวัญนี้ไม่อาจทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลายเป็นรัฐประชาชาติขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

อันที่จริงคำขวัญโบราณของอังกฤษที่ว่า Country, God, King ไม่ได้พูดถึงชาติเลยด้วยซ้ำ Country หมายถึงประเทศหรือบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งสร้างสำนึกผูกพันของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว และในประวัติศาสตร์ของอังกฤษเอง ก็เกิดความขัดแย้งกันของสามสิ่งนี้อยู่เรื่อยมา God แบบไหน, King แบบไหน และ Country แบบไหน (ในสมัยหลัง มักให้เหตุผลการประหารพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ว่าเพราะทรงเป็นกบฏ เนื่องจากทรงทำสงครามกับประชาชนตนเอง ทำให้ประชาชนกลายเป็นเจ้าของ Country ขึ้นมา)

หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้กองทัพประจำการกลายเป็นสมัยใหม่ก็คือสำนึกชาตินิยม ถ้ากองทัพประจำการมีแต่สำนึกเพิ่มพูนพระราชอำนาจก็ตาม, หรือปกป้องกลุ่มชนชั้นนำ, เป็นกำลังให้แก่ระบอบอาณานิคม ฯลฯ กองทัพประจำการนั้นก็ไม่ใช่กองทัพสมัยใหม่จริง ไม่ว่าจะมีอาวุธและระเบียบวินัยดีอย่างไร กองทัพประจำการเช่นนั้น เป็นแต่เพียงกองกำลังขนาดใหญ่ที่ถืออาวุธเป็นอาชีพ หากการเลี้ยงดูจากรัฐไม่ทำกำไรให้มากพอ ก็ต้องใช้อาวุธนั้นไปทำอาชีพอื่นเพื่อเสริมรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือรุกเข้าช่วงชิงทรัพยากรที่อยู่ในมือรัฐให้เข้ามาอยู่ในมือกองทัพ

ผมไม่ได้หมายความว่า กองทัพประจำการสมัยใหม่ที่มีชาตินิยมในเชิงอุดมการณ์ย่อมดีแก่ประชาชนโดยอัตโนมัติ กองทัพอินโดนีเซีย ยึดอำนาจไปบริหารเองภายใต้เผด็จการ-ทหารสืบเนื่องกันกว่า 30 ปี แต่น่าสังเกตว่า ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น แทบไม่มีการแข็งข้อของหน่วยทหารใดอย่างจริงจังขนาดที่อาจสั่นคลอนนายพลซูฮาร์โตได้ อำนาจเผด็จการที่มั่นคงสืบเนื่อง ยิ่งเสริมให้การลงทุนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

กองทัพเวียดนามซึ่งต้องทำสงครามกู้ชาติอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี ได้ส่วนแบ่งงบประมาณและทรัพยากรจากรัฐสูงมาก มีกำลังคนเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุด แต่ตลอดเวลาเหล่านี้ กองทัพไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการเมืองอย่างออกหน้าเลย แม้ว่าการสนับสนุนของกองทัพ ย่อมมีประโยชน์แก่ผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำ แต่กองทัพไม่ใช่ผู้ชี้นิ้วให้ใครเป็นผู้นำแต่ผู้เดียว

ในเกาหลีใต้ เมื่อสังคมเปลี่ยนจนประชาชนสามารถล้มอำนาจเผด็จการทหารลงได้ ตั้งแต่นั้นมากองทัพเกาหลีใต้ก็ไม่เข้ามาสถาปนาอำนาจสูงสุดทางการเมืองของตนขึ้นใหม่อีกเลย การเมืองของเกาหลีใต้ก็ยังดำเนินไปบนหนทางประชาธิปไตยสืบมา ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า แม้ภายใต้เผด็จการทหาร กองทัพเกาหลีเป็นกองทัพประจำการที่มีชาตินิยมเชิงอุดมการณ์อยู่แล้ว

 

ผมอยากสรุปว่า สำนึกชาตินิยม (ที่แท้จริง) ในกองทัพและในสังคมวงกว้าง แม้ไม่นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่ก็กำกับบทบาทของกองทัพในทางการเมืองไว้ระดับหนึ่ง เช่น จะต้องให้เหตุผลที่หนักแน่นน่าเชื่อถืออย่างเพียงพอ ในการที่กองทัพจะเข้าแทรกแซงทางการเมือง เมื่อเหตุผลนั้นฟังขึ้นน้อยลง กองทัพอาจถูกสังคมบีบให้ถอยออกไป สำนึกชาตินิยมที่ขยายไปทั่วสังคมจะทำให้กองทัพกลับมาถืออำนาจใหม่ได้ยาก เพราะจะถูกต่อต้านในวงกว้าง

เพราะเนื้อหาของชาตินิยมไทย หลีกเลี่ยงหลักการของความเป็นชาติคือประชาชนที่หลากหลายแต่เท่าเทียมกันในฐานะผู้ถืออำนาจอธิปไตยของรัฐ การยกเหตุผลในการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพไทย จึงละเมิดหลักการนี้ทุกครั้งไป เช่น เพื่อปราบการทุจริต, เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์, เพื่อลดค่าครองชีพ, เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจมีต่อเอกราชของประเทศ ฯลฯ ถ้าสรุปให้เหลือสั้นๆ อธิปไตยของปวงชนนั่นแหละคือตัวอันตราย นอกจากไม่แก้ปัญหาของส่วนรวมแล้ว ยังอาจทำลายบ้านเมืองลง

ชาตินิยมที่ไม่ยอมรับว่าประชาชนคือผู้ถืออำนาจอธิปไตย จะเป็นชาตินิยมได้อย่างไร

ผมสงสัยอย่างยิ่งเสมอมาว่า ความแตกร้าวในกองทัพหลังการปฏิวัติ 2475 ระหว่างนายทหาร “ประชาธิปไตย” กับนายทหาร “น้ำเงินเข้ม” นั้น ที่จริงแล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างชาตินิยมสองนัยยะ ฝ่าย “น้ำเงินเข้ม” คือฝ่ายที่ยึดถือชาตินิยมแบบชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ฝ่าย “ประชาธิปไตย” คือนายทหารสามัญชนที่ได้โอกาสไปเล่าเรียนวิชาทหารในยุโรป และถูกปลูกฝังเรื่องชาตินิยมที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย (หรือลูกศิษย์ของนายทหารเหล่านั้น เพราะเมื่อกลับจากต่างประเทศ ไม่มีโอกาสได้ตำแหน่งที่คุมกำลังในกองทัพ จึงมักเป็นฝ่าย “ครู” ทั้งในโรงเรียนทหารและหน่วยต่างๆ)

เราอาจกล่าวได้ว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการใช้กองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของตน แต่ในขณะเดียวกันการเผยแพร่ปลูกฝังชาตินิยมของจอมพล ป.แตกต่างจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความรักชาติไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะจงรักภักดีต่อกษัตริย์, นับถือพระพุทธศาสนา และดำเนินวิถีชีวิตแบบ “ไทยๆ” เท่านั้น แต่ประชาชนทุกคนต้องแสดงความก้าวหน้าด้วยเครื่องแต่งกาย, สิ่งที่ใช้เสพ, ภาษา, อักขรวิธี, ความบันเทิง ฯลฯ ในรูปแบบที่รัฐส่งเสริม

ผมยอมรับว่า “ชาตินิยม” กับ “รัฐนิยม” (statism) ของจอมพล ป.นั้นซ้อนๆ กันอยู่ แต่ “รัฐ” ในความหมายของจอมพล ป.ไม่ใช่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองและบริวารส่วนตัว (อย่างน้อยก็พยายามหลีกที่จะพูดตรงๆ อย่างนั้น) แต่หมายถึง “ชาติ” หรือเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคน

ย้ำอีกครั้งนะครับว่า ชาตินิยมนำไปสู่อำนาจนิยมได้ไหม ได้ครับและมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียด้วย แต่อำนาจนิยมที่อยู่บนฐานของชาตินิยมจะต้องอ้างประชาชนเสมอ ในขณะที่อำนาจนิยมในระบอบอื่น ไม่จำเป็นต้องอ้างประชาชนเลย อาจอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า, กษัตริย์ หรือผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนำ ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ชาตินิยมแบบคณะราษฎรที่ถือประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยนั้นอ่อนพลังลงหลังการรัฐประหารของกองทัพใน พ.ศ.2490 (น่าสนใจด้วยนะครับที่จะตั้งข้อสังเกตว่า เกือบทั้งหมดของนายทหารชั้นแกนนำของคณะรัฐประหารล้วนเป็น “นักเรียนใน” ฉะนั้น จึงรับการกล่อมเกลาจากโรงเรียนให้เชิดชูชาตินิยมแบ