ศิลปินผู้ท้าทายขนบสังคมด้วยภาพถ่าย Nan Goldin / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปินผู้ท้าทายขนบสังคมด้วยภาพถ่าย

Nan Goldin

 

ในตอนที่แล้วเรากล่าวถึงศิลปินร่วมสมัยในสาขาภาพถ่ายคนสำคัญอย่าง วูล์ฟแกง ทิลมันส์ ไปแล้ว

ในตอนนี้เราขอกล่าวถึงศิลปินภาพถ่ายร่วมสมัยอีกคนที่มีความสำคัญในโลกศิลปะไม่แพ้กัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แนน โกลดิน (Nan Goldin)

ศิลปินภาพถ่ายชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงยุค 1980s จากผลงานภาพถ่ายที่นำเสนอความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของเพื่อนๆ คนรัก และตัวเธอเอง ท่ามกลางฉากหลังของชาวรักร่วมเพศและสังคมปาร์ตี้ในบอสตันในช่วงเวลานั้น ที่แสดงออกถึงมุมมองส่วนตัวของผู้คนเหล่านี้อย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมา

ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธออย่าง The Ballad of Sexual Dependency (1985) ที่บันทึกวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวรักร่วมเพศหลังเหตุจลาจลสโตนวอลล์ (การประท้วงเรียกร้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในปี 1969) ที่ถือเป็นจดหมายเหตุสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนคนทำงานสร้างสรรค์ ก่อนที่จะถูกบดขยี้จากวิกฤตโรคเอดส์

ภาพถ่ายหลายภาพของเธอกลายเป็นความทรงจำอันหลอนหลอกของเหล่าบรรดาเพื่อนๆ และคนรักของเธอที่จากไปด้วยโรคร้ายที่ว่านี้

Nan and Brian in Bed, New York City (1983), ภาพถ่ายจากชุด The Ballad of Sexual Dependency อันโด่งดังของโกลดิน ที่เป็นภาพถ่ายของตัวเธอเองกับคู่รักบนเตียงนอน, ภาพจาก https://mo.ma/3wZ30TP

นับตั้งแต่ช่วงยุค 1980 แนน โกลดิน เปลี่ยนขนบของภาพถ่ายศิลปะและภาพถ่ายสารคดีไปโดยสิ้นเชิง ด้วยการพกกล้องติดตัวเธอไปทุกหนแห่ง และถ่ายภาพช่วงเวลาอันเป็นส่วนตัวหรือช่วงเวลาลับเฉพาะ ที่ไม่ใคร่มีใครเห็นในชุมชนของเธอ

เธอเปลี่ยนภาพถ่ายของคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป คนที่ใช้ชีวิตในปาร์ตี้ยามค่ำคืน

หรือแม้แต่ภาพถ่ายกิจกรรมทางเพศและกิจกรรมส่วนตัว ให้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ควรค่าแก่การดูชม และจัดแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก

แนน โกลดิน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะภาพถ่ายของอเมริกันอย่าง Boston School ร่วมกับเพื่อนของเธออย่าง มาร์ก มอร์ริสโร (Mark Morrisroe) และ เดวิด อาร์ม สตรอง (David Armstrong) ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าของวงการภาพถ่ายศิลปะและภาพถ่ายสารคดีไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายบุคคล ด้วยการเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการถ่ายภาพแบบดิบๆ เป็นธรรมชาติ ไร้การโพสท่า ไม่สนใจจัดแสง สาดแฟลชจัดจ้า จนได้ภาพถ่ายที่ดูหยาบ มัว แตกเกรน และการจัดวางองค์ประกอบแบบฉับพลัน เป็นธรรมชาติ ไร้การตระเตรียม

พวกเขาและเธอทำให้ภาพถ่ายในลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ หรือแม้แต่ถูกนำไปสอนในโรงเรียนศิลปะ ภาพถ่ายที่เปี่ยมความเป็นส่วนตัวและสมจริงมากกว่าการถ่ายภาพด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค

Nan one month after being battered (1984) ภาพถ่ายตัวเองที่โด่งดังที่สุดของโกลดิน ที่แสดงถึงความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อผู้หญิงได้อย่างทรงพลัง, ภาพจาก https://bit.ly/2wREnZH

ถึงแม้โกลดินจะมีชื่อเสียงจากภาพถ่ายอันจะแจ้งที่แสดงห้วงเวลาฉับพลัน ไร้การตระเตรียมหรือโพสท่า แต่ภาพถ่ายพอร์ตเทรตของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายตัวเธอเอง ก็มักจะมีการตระเตรียมและจัดวางท่วงท่าอย่างประณีต เพื่อสื่อสารถึงประเด็นทางความคิดของเธออย่างแหลมคม

ภาพถ่ายแต่ละภาพของเธอมักจะสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้น ด้วยการ “จับจ้องกลับ” ของคนที่ถูกเธอถ่ายภาพ

ผลงานของเธอท้าทายขนบของการจับจ้องหลากหลายรูปแบบระหว่างช่างภาพกับแบบที่ถูกถ่ายภาพและผู้ชม

ดังเช่นที่ ลอร่า มัลวีย์ (Laura Mulvey) นักทฤษฎีทางภาพยนตร์และนักสตรีนิยมชาวอังกฤษกล่าวถึงแนวคิด การจ้องมองโดยเพศชาย (Male gaze) หรือภาพของผู้หญิงที่ผลิตโดยเพศชายเพื่อสนองความพึงพอใจของเพศชาย

หรือ จอห์น เบอร์เกอร์ (John Berger) นักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษ ผู้กล่าวใน Ways of Seeing (1972) ถึงการอ่านพลังขับเคลื่อนในภาพวาดและวัฒนธรรมสมัยนิยม ที่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะถูกนำเสนอให้เป็นเสมือนวัตถุที่ถูกจ้องมองโดยผู้ชาย

แต่ภาพถ่ายของโกลดินแหวกขนบแห่งการนำเสนอเหล่านี้ ด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมแบ่งปันการจ้องมองอันเย้ายวนทางเพศผ่านภาพเปลือยของผู้ชาย

หรือให้บุคคลในภาพถ่ายจ้องกลับมาที่ผู้ชมอย่างจะแจ้งตรงไปตรงมา

ภาพถ่ายของเธอสร้างความท้าทายอันสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเดิมๆ ในโลกแห่งวัฒนธรรมทางสายตา ด้วยการผสานความเป็นศิลปะและชีวิตประจำวันเข้าไว้ด้วยกัน

ผลงานของเธอยังแหกขนบและข้อห้ามของสังคม ด้วยการสำรวจลึกถึงซอกมุมมืดในความสัมพันธ์ของมนุษย์ และเปิดเปลือยเรื่องราวทางเพศและกามารมณ์อย่างโจ่งแจ้งชัดเจน

Misty and Jimmy-Paulette in a taxi, New York City (1991) ภาพถ่ายจากชุด The Ballad of Sexual Dependency, ภาพจาก https://bit.ly/3AT9BQy

โกลดินยังเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายภาพผู้คนที่ใช้ชีวิตในแบบที่หลายคนมองว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่าง แดร็กควีน, นักท่องราตรี, ผู้ติดยาเสพติด หรือชาว LGBTQIA

ที่สำคัญ เธอนำภาพถ่ายของผู้คนเหล่านี้นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่พิพิธภัณฑ์เลื่องชื่ออย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ด้วยท่าทีอันละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ

โกลดินสื่อสารให้สาธารณชนในวงกว้างเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนมีประสบการณ์เกี่ยวกับความปรารถนา, ความรัก, ความรุนแรง และความตายร่วมกัน ผลงานภาพถ่ายของเธอยังเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจระหว่างสังคมกระแสหลักและสังคมกระแสรองได้อย่างทรงพลัง

นับตั้งแต่ยุค 1990 โกลดินยังขยับขยายสื่อการทำงานของเธอออกไปนอกพรมแดนของภาพถ่าย ในนิทรรศการแสดงเดี่ยว Chasing a Ghost ในปี 2006 ของเธอ มีการจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางเป็นครั้งแรก รวมถึงภาพเคลื่อนไหว ดนตรีประกอบ และเสียงบรรยายอีกด้วย

และถึงแม้โกลดินจะเริ่มทำงานภาพถ่ายในฐานะศิลปินใต้ดิน และคนทำสารคดีทำมือ เกี่ยวกับมิตรสหายและคนรักผู้เป็นกลุ่มคนชายขอบที่สังคมเมินหน้าหนี แต่ชื่อเสียงและความโด่งดังขจรขจายในผลงานของเธอก็นำพาให้เธอก้าวเข้าสู่โลกของภาพถ่ายแฟชั่น ได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นดังๆ มากมาย

รวมถึงนิตยสารชื่อดังที่เธอเคยหลงใหลในช่วงวัยรุ่นอย่าง Vogue การได้ลงนิตยสารชื่อดังเช่นนี้เองที่ทำให้ผลงานของเธอแพร่หลายไปทั่วโลก ส่งอิทธิพลต่อภาพถ่ายศิลปะ, สารคดี และภาพถ่ายแฟชั่น

และส่งผลให้สไตล์การถ่ายภาพอันแหวกขนบของเธอปรากฏในทุกหนแห่งทั่วโลก

Buzz and Nan at the Afterhours, New York City (1980), ภาพจาก https://bit.ly/3ARu48r

หลังจากที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในโลกศิลปะ โกลดินใช้สถานภาพของเธอสื่อสารถึงประเด็นที่เธอใส่ใจ

หนึ่งในจำนวนนั้นคือการที่เธอยอมรับต่อหน้าสาธารณชนว่าตัวเธอเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์ ซึ่งเป็นเสมือนโรคร้ายที่กัดกินเธอในช่วงวัยผู้ใหญ่และคร่าชีวิตเพื่อนๆ และคนในครอบครัวเธอเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

ในระหว่างการรักษาอาการเสพติด เธอทำแคมเปญ Prescription Addiction Intervention Now (PAIN) (การแทรกแซงการติดยาตามใบสั่งแพทย์ในปัจจุบัน) โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการประท้วงตระกูลแซ็กเลอร์ (Sackler) ผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาแก้ปวดโอปิออยด์ ที่มีคนเสพติดยานี้มากมาย

โกลดินกล่าวว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งนี้ให้ข้อมูลผิดๆ ว่าผู้ป่วยจะไม่ติดยาชนิดนี้ตามใบสั่งแพทย์

ในปี 2018 โกลดินทำการประท้วงในพื้นที่ Sackler Wing ของอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (ที่ตั้งตามชื่อของตระกูลแซ็กเลอร์ ผู้บริจาคเงินจำนวนมหาศาลให้พิพิธภัณฑ์) โดยเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์และสถาบันทางวัฒนธรรมอื่นๆ พิจารณาบทบาทของครอบครัวแซ็กเลอร์จากวิกฤตผู้ติดยาชนิดนี้

รวมถึงถอดชื่อแซ็กเลอร์ออกจากอาคาร และไม่รับเงินบริจาคจากมูลนิธิแซ็กเลอร์อีกต่อไป

Trixie on the Cot, New York City (1979), ภาพถ่ายจากชุด The Ballad of Sexual Dependency, ภาพจาก https://mo.ma/3wY9HVY

มรดกอันยิ่งใหญ่ในโลกศิลปะของโกลดิน คือการอุทิศตนอย่างแน่วแน่ในการจับภาพและแสดงแง่มุมส่วนตัวของผู้คนธรรมดาสามัญหรือแม้แต่ตัวเธอเอง ไม่ว่ามันจะดิบหยาบเพียงใด

ภาพถ่ายของเธอเป็นเหมือนการนำไดอารีส่วนตัวของผู้คนเหล่านี้ (และตัวเธอ) มาจัดแสดง

ไม่เพียงโกลดินจะให้ปากเสียงแก่คนชายขอบอย่าง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แดร็กควีน, ผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัว, ผู้ติดยาเสพติด ฯลฯ และเฉลิมฉลองเสรีภาพ, บุคลิกภาพ และสถานภาพของพวกเขาและเธอในโลกนี้

ความพยายามอย่างยิ่งยวดของโกลดินในการบันทึกภาพเพื่อนๆ คนรัก และตัวเธอเองจนได้รับการยอมรับจากหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลก ส่งผลให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับศิลปะภาพถ่าย ว่าภาพถ่ายพอร์ตเทรตไม่ใช่สิ่งของสำหรับคนมีชื่อเสียงหรือร่ำรวยเงินทอง หรือต้องโพสท่าถ่ายภาพให้ดูดี จัดแสงและองค์ประกอบภาพให้สมบูรณ์แบบเสมอไป

ผลงานของโกลดินแสดงให้เห็นว่า เศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตคนธรรมดาสามัญก็สามารถมีความสำคัญ ถูกจัดแสดง ดูชม ยอมรับ เข้าถึงและเข้าใจว่าเป็นศิลปะได้เช่นกัน

ผลงานของเธอแผ้วถางเส้นทางให้ศิลปินภาพถ่ายรุ่นหลังมากมายสามารถทำงานในเรื่องต้องห้ามที่สังคมไม่ยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง ไรอัน แม็กกินลีย์ (Ryan McGinley), วิลเลียม เอกเลสตัน (William Eggleston) หรือ วูลฟ์แกง ทิลส์มัน

ศิลปินภาพถ่ายเหล่านี้ต่างได้แรงบันดาลใจในการทำงานถ่ายภาพที่ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวอันลึกซึ้งเพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงประสบการณ์ของมนุษย์อันเป็นสากล และอัตลักษณ์ทางการเมืองร่วมสมัยจากโกลดินนั่นเอง •

ข้อมูล หนังสือ Nan Goldin โดย Guido Costa เว็บไซต์ https://bit.ly/3RCMpwW, https://bit.ly/3Qk7L0I