ขอขมา / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภรรยาทั้ง 5 ของขุนแผน : จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ขอขมา

 

การขอโทษ และการให้อภัยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไทย เรามีคำว่า ‘ขอขมา’ ใช้มาแต่โบราณ

หนังสือ “ภาษาไทยวันละคำ ฉบับรวมเล่ม” อธิบายว่า

“ขมา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี แปลว่า ความอดทน ภาษาไทยใช้คำว่า ‘ขมา – ขอขมา – ขอขมาลาโทษ’ ในความหมายว่า ขอโทษ”

ที่ต้อง ‘ขอขมา’ ก็เพื่อขอมิให้เอาโทษที่ทำผิดไป ขอโทษที่ได้ล่วงละเมิดหรือล่วงเกินกันมา ขอให้อภัย เลิกแล้วต่อกัน เท่ากับยอมรับว่าทำผิด ขอให้อีกฝ่ายยกโทษให้

ไม่มีอะไรติดค้างกัน

 

ในบทเสภาเรื่อง “พระยาราชวังสัน” รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าถึงพระศรีอัคราช ‘พ่อตามหาภัย’ ทูลฟ้องร้องกล่าวโทษ ‘ลูกเขยแขก’ ต่อพระวิกรมสีหราช กษัตริย์ครองกรุงสามว่า

“ข้าพระบาทคับแค้นแน่นใจ เพราะขุนนางผู้ใหญ่ได้รังแก

พญาราชวังสันได้บังอาจ ทำข้าบาทเจ็บแสบแทบล้มแผ่

ทำเสน่ห์ลวงล่อและวอแว จนบัวผันวิ่งแร่ตามเขาไป”

คำฟ้องเป็นเท็จ เพราะความจริงจากปากของพญาราชวังสันก็คือ

“อันบัวผันโฉมยงนงลักษณ์ ได้สมัครรักกันมาช้านาน

ข้าพระบาทก็ได้ไปสู่ขอ ท่านพระพ่อบ้าเลือดแทบเดือดพล่าน

ไล่ข้าบาทลงพ้นจากเรือนชาน ประหนึ่งเป็นเดียรัจฉานที่เลวทราม

ซ้ำไล่ตามดุด่าว่าต่างต่าง เรียกว่าแขกผีสางอิสล่าม”

เพราะถูกขัดขวางจำต้องแหวกประเพณี

“เมื่อสู่ขอท่านพ่อไม่ยอมให้ จึงจำลักสายใจผู้ประสงค์

โดยความเต็มใจแห่งอนงค์ ขอพระองค์จงทรงพระเมตตา”

ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านายของทั้งคู่จึงตกที่นั่ง ‘ตุลาการจำเป็น’

“ตรัสประภาษเกลี่ยไกล่เพื่อไว้หน้า

เฮ้ยนี่แน่ถ้ากระนั้นอ้ายพญา จงขมาพระศรีมีอายุ

ทรงหาทางออกเหมาะสมให้พญาราชวังสัน ‘ขอขมา’ พระศรีอัคราชเพื่อขอโทษที่ได้พาลูกสาวเขาหนีตามกันไป

‘ขอขมา’ คู่กับ ‘รับขมา’ ขอขมา คือ ขอโทษที่ได้ทำผิดไป รับขมา คือ ให้อภัยผู้ที่มาขอขมา

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีการขอขมาและรับขมาหลายตอน วันประหารนางวันทองตามพระบัญชาสมเด็จพระพันวษา พระไวยร้องไห้จนสลบแทบเท้าแม่ เมื่อได้สติก็กราบขอขมาลาโทษที่ล่วงเกินแม่มาแต่เยาว์วัยไม่รู้ความ ขอแม่โปรดยกโทษให้ ไม่เป็นเวรกรรมสืบไป

“ครั้นค่อยฟื้นคืนขอขมาโทษ แม่จงได้โปรดซึ่งเกศา

เมื่อเด็กอยู่ยังไม่รู้ซึ่งกิจจา ได้เอื้อมสูงต่ำว่าให้เคืองใจ

หยิกกัดปัดตีแล้วเถียงด่า มารดาจงงดอดโทษให้

อย่าให้เป็นเวรกรรมของลูกไป ไหว้แล้วไหว้เล่าเฝ้าโศกา”

เมียของขุนแผนทั้งนางแก้วกิริยาและลาวทองที่ร่วมผัวเดียวกันกับนางวันทองขอขมาลาโทษนางเป็นครั้งสุดท้าย นางวันทองนอกจากรับขมาแล้วก็ขอขมาสองนางด้วย นอกจากนี้สองสะใภ้ของนางวันทอง คือศรีมาลาและสร้อยฟ้าก็ร่วมกันขอขมาแม่ผัว

“นางแก้วลาวทองศรีมาลา สร้อยฟ้าโศกาสะอื้นไห้

ได้เมี่ยงหมากใส่พานคลานเข้าไป กราบไหว้วอนว่าขมาพลัน

นางแก้วว่าข้าขมาพี่ อย่าให้มีเวราเมื่อหน้านั่น

เสียตัวร่วมผัวมาด้วยกัน น้องขึ้งเคียดเดียดฉันท์ประการใด

ขออภัยอย่าได้ผูกเวรน้อง วันทองว่าพี่หาถือไม่

พี่ได้ล่วงเกินบ้างเป็นอย่างไร ขออภัยเจ้าแก้วกิริยา

นางแก้วรับขมาน้ำตานอง ลาวทองโศกเศร้าเข้าไปหา

น้องได้ล่วงเกินแต่ก่อนมา พี่จงอดโทษาในวันนี้

วันทองรับขมาเจ้าลาวทอง น้องเอ๋ยพี่ได้ว่าเป็นถ้วนถี่

พี่ก็ขอขมาอย่าราคี ต่างคนต่างก็มีซึ่งน้ำตา

สร้อยฟ้าศรีมาลาสะอื้นไห้ พิไรพลางทางขอขมาว่า

ลูกได้ผิดพลั้งแต่หลังมา จนถึงชีวาแม่บรรลัย

อย่าเป็นเวรกรรมแก่ตัวข้า ก้มหน้าลงแล้วก็ร้องไห้

วันทองรับขมายิ่งอาลัย น้ำตาไหลโซมหน้าด้วยปรานี”

 

เสร็จจากรับขมาทั้งสี่นางแล้ว นางวันทองนำดอกไม้คลานเข้าไปกราบขอขมาลาโทษนางทองประศรีแม่ผัว ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันมาหากทำอะไรให้ขุ่นเคือง ขอให้นางอโหสิ ยกโทษให้ ไม่จองเวรกันต่อไป

“นางวันทองน้องเรียกเอาดอกไม้ คลานเข้าไปไหว้กราบทองประศรี

ลูกจะลามารดาในวันนี้ ขออภัยอย่าให้มีซึ่งโทษทัณฑ์

แต่ลูกอยู่กับพ่อขุนแผน ให้แม่แค้นอย่างไรที่ไหนนั่น

จนถึงเวลาเขาฆ่าฟัน สิ้นเวรกรรมกันเถิดแม่คุณ”

การขอขมาหาได้ทำระหว่างคนกับคนเท่านั้น คนกับสัตว์ก็มี ดังกรณีนางวันทองขอขมาม้าสีหมอก ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง พานางวันทองเมียเก่าหนี กวีบรรยายว่า

“ว่าพลางทางจูงสีหมอกม้า เบาะอานพานหน้าดูงามสม

ดังจะปลิวลิ่วลอยไปตามลม อย่าปรารมภ์เลยนะเจ้ามาขี่ม้า

ปลอบพลางทางกอดกระซิบบอก ม้าสีหมอกตัวนี้มีสง่า

เนื้ออ่อนงอนง้อขอษมา อย่าให้สีหมอกม้ากระเดื่องใจ

วันทองสองมือประนมมั่น พรั่นพรั่นกลัวม้าไม่เข้าใกล้

พี่สีหมอกของน้องอย่าจองภัย จะขอขี่พี่ไปทั้งผัวเมีย”

คำว่า ‘ขมา’ บางทีก็ใช้ว่า ‘ษมา’ หรือ ‘สมา’ หนังสือ “สมบัติกวีขุนช้างขุนแผน” ของอาจารย์ศุภร บุนนาค ช่วยให้เข้าใจการขอขมาม้ากระจ่างชัด

“ตามความเชื่อของคนไทยโบราณ ผู้ที่แกล้วกล้ามีวิชาเช่นขุนแผน เขาถือกันว่าของที่จะทำให้แรงวิชาเสื่อมนั้นคือสตรี…ม้าสีหมอกของขุนแผนเป็นม้าออกศึกคู่ใจ จึงเสกคาถาอาคมไว้ด้วยแน่นหนา หญ้าที่กินขุนแผนก็เสกให้กินเสมอ เมื่อวันทองจะขี่จึงต้องขอขมาเสียก่อน เพื่อมิให้ครูผู้เป็นเจ้าของเวทมนตร์คาถาโกรธและคาถาเสื่อม”

การขอโทษ และการให้อภัย คือวิถีที่งดงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย

น่าเสียดายถ้าหายไป •