ฉัตรสุมาลย์ : วันเกิดพิเศษของชาวพุทธเนปาล

ท่านธัมมนันทาต้องลาสัตตาหะไปร่วมประชุมในช่วงพรรษา พระท่านจะออกไปค้างที่อื่นเกิน 7 ราตรีไม่ได้ คราวนี้ ท่านธัมมนันทาเป็นคนต้นความคิดในการจัดงานสัมมนานานาชาติเป็นงานแรกของอัคเศศวรมหาวิหารในช่วงการบริหารงานของคุณราเชศ ศากยะ ที่เป็นประธานกรรมการบริหารมหาวิหารคนปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องลาสัตตาหะไป

เราตกลงกันว่า จะจัดงานสองวัน คือ วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26-27 สิงหาคม 2560 เพื่อให้คนมาเข้าร่วมได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นวันหยุด

ขอโทษค่ะ ที่เนปาลมีวันหยุดวันเดียว คือวันเสาร์ค่ะ (อันนี้ก็ไม่รู้มาก่อน)

เราออกตั๋วแล้ว ทางเจ้าภาพขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 27-28 เพราะมีงานที่เชิญคนชาวพุทธจำนวนมากไปในวันที่ 27 โชคดีว่า คราวนี้เดินทางโดยสายการบินไทย ไม่ใช่โลว์คอสต์ มิฉะนั้น จะเลื่อนตั๋วไม่ได้

เรายังคงเดินทางไปวันที่ 25 เจ้าภาพมาแจ้งว่า วันที่ 26 นั้น เป็นวันเกิดของศากยะท่านหนึ่งที่เป็นเศรษฐีในเมืองกาฐมาณฑุ จากที่พักของเราที่อัคเศศวรมหาวิหาร เราสามารถมองเห็นบ้านของเศรษฐีท่านนี้ชัดเจน เป็นตึกหลังใหญ่น่าจะ 9 ชั้น เห็นเด่นชัดเลยค่ะ

เรานึกในใจว่า จะรวยอะไรขนาดนั้น

ปรากฏว่า น้องชายของท่านรู้จักกับท่านปริปุณณา สามเณรีที่อยู่ในคณะของเรา ชื่อ คุณปุศกร มัน ศากยะ

ท่านมานิมนต์ให้ไปงานวันรุ่งขึ้น

 

วันที่ 26 คุณปุศกรมารับแต่เช้า พาเราลงเขาเดินเลาะไปตามซอกเล็กซอกน้อยมาทะลุออกถนนใหญ่ เดินข้ามถนนมาหน่อยเดียวก็เลี้ยวเข้าตัวบ้านที่เราเห็นจากไกลๆ

คุณเวก รัตนะ ศากยะ เจ้าของวันเกิดอายุครบ 77 ปี 7 เดือน 7 วันค่ะ ท่านเป็นประธานของพุทธภูมิเนปาล มีตำแหน่งใหญ่โตทั้งในอดีต และที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่

ชาวพุทธเนปาล ถือว่า อายุครบ 77 ปี 7 เดือน 7 วันนี้ สำคัญมาก จะฉลองอีกทีก็โน่นค่ะ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็อาจจะตะบันน้ำแล้ว

คนรุ่นใหม่ว่าไม่เข้าใจค่ะ ทำไมตะบันน้ำ ตะบันน่ะเขาเอาไว้ตะบันหมาก คือตำให้หมากและใบพลูแหลกพอเคี้ยวได้ แต่เนื่องจากอายุมากหลงลืม เอาตะบันหมากมาตะบันน้ำ

จึงใช้เป็นคำเปรียบเทียบของคนแก่ๆ ค่ะ ว่า แก่ขนาดตะบันน้ำ

 

ท่านธัมมนันทาเข้าไปหาคุณเวก รัตนะ ศากยะ เจ้าของวันเกิด ท่านรีบส่งนามบัตรให้ ท่านธัมมนันทาก็มอบของขวัญที่เอาติดตัวไปให้ท่าน อวยพรวันเกิดให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง คนแก่ไม่ต้องอวยพรอย่างอื่นเลยค่ะ เงินทองก็มีแล้ว ตำแหน่งหน้าที่ ก็ผ่านมาแล้ว จะอยู่อย่างไรกับชีวิตที่เหลือ ก็ขอเพียงสุขภาพแข็งแรงเท่านั้นเอง

คุณปุษกร รีบพาพระเข้าไปในห้องโถงข้างในจัดเป็นปะรำ ปรากฏว่า ไปถวายอาหารเช้าค่ะ มีโต๊ะปูผ้าขาว ตั้งเป็นแถวยาวอยู่ 4-5 แถว ทราบว่านิมนต์พระทั้งภิกษุและอนาคาริกาของเนปาลมาได้ 105 รูป คณะของท่านธัมมนันทาอีก 3 รูป เจ้าภาพดีใจมากเพราะได้ 108 รูป เป็นเลขมงคล

เศรษฐีเขาฉลองวันเกิดอย่างนี้เอง

 

อาหารทุกอย่างเป็นมังสะวิรัต พอพระนั่งลงเป็นแถว เจ้าหน้าที่ยกอาหารเป็นหม้อๆ เดินตามกันมา ตักอาหารใส่ในถาดสเตนเลส เมื่ออาหารมาครบทุกอย่างแล้ว เจ้าภาพจะเข้ามาประเคนทีละรูป รู้สึกว่าเป็นประเพณีที่ชาวพุทธเนปาลถือปฏิบัติจะต้องเข้ามาประเคนทุกครั้ง

เศรษฐีบ้านนี้ มีน้องสาวบวชเป็นอนาคาริกา (แม่ชีใส่สีชมพู) มานั่งอยู่แถวตรงกันข้ามกับพระภิกษุณีที่ไปจากเมืองไทย

ท่านธัมมนันทาฉันพอเป็นพิธี แล้วค่อยๆ ลุกออกมา ไปร่วมในพิธีสวดมนต์ฉลองวันเกิดตรงบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งเป็นลานกว้าง ขึงผ้าดาดเพดานไว้หมด ตรงกลางเป็นปะรำพิธีแปดเหลี่ยม ประดับประดาสวยงาม พระภิกษุประมาณ 15 รูปที่ได้รับนิมนต์ สลับกันสวดมนต์ในปะรำ

ที่ศรีลังกาก็นิยมทำแบบเดียวกัน โดยเฉพาะถ้านิมนต์พระมาสวดทั้งคืน จะตั้งปะรำแปดเหลี่ยม แต่กรุด้วยกระดาษขาวที่ฉลุเป็นลวดลายสวยงาม

เจ้าของวันเกิด ทูนศีรษะด้วยถาด บนถาดมีพระพุทธรูปเดินทักษิณาวัตรรอบปะรำ ภรรยาเดินตามมาข้างๆ มีคนถือสัปทานกั้นเจ้าของวันเกิด เดินตามกันเป็นขบวน 3 รอบ แล้วจึงนำพระพุทธรูปเข้าไปประดิษฐานในปะรำ จากนั้น พระภิกษุสงฆ์ท่านจึงเริ่มสวดมนต์

แอบเข้าไปชำเลืองมอง พระภิกษุนั่งเป็นแถวล้อมรอบตามแนวปะรำ องค์กลาง มีท่านที่เป็นต้นเสียงถือไมโครโฟนและถือหนังสือสวดมนต์เป็นภาษาบาลี ตามแบบเจ็ดตำนาน 12 ตำนานอย่างที่เราได้ยินในเมืองไทย แต่ท่านสวดต่อเนื่องกันไปไม่หยุด

สำหรับงานวันนี้ เขาจะเสร็จพิธีเวลาสี่โมงเย็นค่ะ

 

ตอนเพล เจ้าภาพก็มานิมนต์พระ ส่วนมากเข้าไปฉันในบ้าน แต่ยังมีพระที่ประจำปะรำสวดกันสองรูป และน่าจะมีพระที่ฉันแล้วมาเปลี่ยนท่าน

แขกที่มาในงาน จะมาทำบุญโดยเอาธนบัตรใบเล็ก 5 รูปี 10 รูปี 20 รูปี (3 รูปี เป็น 1 บาท) ตามฐานะ เดินไปรอบปะรำเอาเงินใส่หม้อที่วางไว้ประจำทิศทั้งแปด มีบางคนใส่ข้าวสารและขนมแห้งด้วย

ทีนี้ พวกเราทั้งพระภิกษุ ภิกษุณีและอนาคาริกาที่มาในงาน ชาวบ้านก็จะเอาเงินมาถวายเช่นกัน

พระคณะของเราที่ไปจากเมืองไทย รวบรวมเงินที่ได้รับแล้วนำไปใส่หม้อที่วางอยู่รอบปะรำ

ท่านธัมมนันทาท่านสอนพระลูกวัตรว่า เราไปงานใด หากได้ลาภสักการะ ขอให้ถวายสมทบเข้าไปในงานนั้น ไม่ให้รับกลับมา

บางคนที่เคร่งไม่จับเงิน ในบริบทที่เราไปนี้ ไม่รับก็ไม่ได้ ไม่มีภาษาที่จะอธิบาย จะทำให้ญาติโยมที่ตั้งใจดีเสียใจเปล่าๆ แต่เมื่อรับแล้ว ก็ให้ปลงโดยไปสมทบกับของเจ้าภาพ

เรื่องการรักษาพระวินัยให้เคร่งนี้ ต้องดูบริบท ถ้าเราเคร่งตามตัวหนังสือเกินไป อธิบายว่า ไม่จับเงิน เพราะเป็นอาบัติ นัยยะที่ตามมาก็คือ เราไปชี้โทษเขา เพราะพระเนปาลเองท่านรับเงิน

เรารักษาพระวินัย โดยทำใจของเราให้บริสุทธิ์โดยการปลงเสีย คือไม่รับเอา เอาไปถวายสงฆ์

 

คนที่มาร่วมในพิธีมีจำนวนเป็นร้อยเลยค่ะ พอเวลาเพลก็นิมนต์พระเข้าไปในห้องโถงอีกครั้งเพื่อถวายเพล นั่งเป็นแถวยาว มีเจ้าหน้าที่เอาอาหารที่เตรียมมาเป็นหม้อๆ ตักใส่ภาชนะที่วางอยู่เบื้องหน้าพระ แบบเดียวกับที่อินเดีย เสร็จแล้วก็มีคนมายกถาดขึ้นประเคนทีละรูป คนที่มาประเคนนี้จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นตัวแทนเจ้าภาพ

เป็นโอกาสให้เราได้เห็นพระภิกษุและอนาคาริกาของเนปาลจำนวนมากพร้อมๆ กัน

วันแรกของการฉลองวันเกิด เป็นพิธีทางศาสนา ซึ่งจะเป็นชาวพุทธเท่านั้น แต่วันรุ่งขึ้น ยังมีงานอีกวันหนึ่งค่ะ เลี้ยงอาหารกลางวันแขกของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นทั้งพุทธและฮินดู เพราะเจ้าภาพเคยมีตำแหน่งหน้าที่มีคนรู้จักในหลายวงการ มีทั้งฮินดูและพุทธ แต่ในความเป็นจริง พุทธกับฮินดูในเนปาลแปลกกว่าที่อื่นสามารถไปงานพิธีของทั้งสองศาสนาได้อย่างกลมกลืน

การได้ไปเข้าร่วม ได้สังเกตวิธีการทำบุญของเนปาล ก็เรียกว่าได้เข้าถึงวัฒนธรรมของชาวพุทธเนปาลได้ดี ตอนที่ลากลับ ท่านธัมมนันทาเปรยกับลูกศิษย์ที่ตามไปว่า เมื่อท่านถึง 77 ปี 7 เดือน 7 วัน จะมีพิธีฉลองแบบที่ไปเห็นจากเนปาลบ้างดีไหม

ถ้าอยู่ถึง และยังไม่ตะบันน้ำ ก็คงจะมีวันนั้น