ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
สําหรับผมและคนไทยอีกหลายคน ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะรู้สึกโศกเศร้าและร่วมอาลัยอาวรณ์กรณีประมุขของประเทศสวรรคต สิ้นพระชนม์ หรือถึงแก่อสัญกรรม
แต่สำหรับผมและเพื่อนฝูงอีกหลายคนที่ได้พบพบปะหรือโทรศัพท์พูดคุยกันตลอดวันนี้ เราต่างเห็นตรงกันว่า กรณีสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเมื่อกลางดึกวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา น่าจะถือเป็นเรื่องแปลกและต้องบันทึกไว้ในใจของเราอย่างมีความหมายพิเศษยิ่งกว่ากรณีอื่นๆ
ความรับรู้ของผมเกี่ยวกับประเทศอังกฤษตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนมีอยู่ไม่มากนัก เพราะเป็นไปตามมาตรฐานนักเรียนไทยสามัญทั่วไป ยังดีที่พอรู้ว่าอังกฤษเป็นประเทศที่เป็นเกาะ มีแคว้นอีกสามสี่แคว้นรวมกันเข้าเป็นประเทศเรียกว่า เกรตบริเตน
เท่านั้นยังไม่พอ อังกฤษยังเคยเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือดินแดนของประเทศจำนวนมากในหลายทวีป
ต่อมาเมื่อประเทศเหล่านั้นได้รับอิสรภาพแล้ว ต่างพอใจที่อยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรร่วมกันระหว่างอังกฤษและเพื่อนฝูงเก่า ที่เคยเป็นอาณานิคมกันมาแต่ก่อน เรียกองค์กรนี้ว่า คอมมอนเวลท์
กล่าวเฉพาะความสัมพันธ์ของอังกฤษกับไทยซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ดีบ้างร้ายบ้างเป็นปกติธรรมดา
และมีความผูกพันแน่นแฟ้นกันมากขึ้นในรัชกาลที่สี่ เมื่อไทยเราก้าวเข้าสู่ความคุ้นเคยกับตะวันตกยุคใหม่
ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ทำสองประเทศผูกพันใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศคู่อื่น น่าจะเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์วินด์เซอร์และพระราชวงศ์จักรีของเราที่รู้จักและไปมาหาสู่กันมาเป็นเวลากว่าเกือบสองร้อยปีแล้ว
ถ้าจะขุดตำราขึ้นมาว่ากัน ก็ต้องพูดถึงทางพระราชไมตรีระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมกุฏวิทยมหาราช หรือรัชกาลที่สี่ของเรากับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่แม้จะไม่ได้ทรงมีโอกาสพบพระองค์กันซึ่งหน้า แต่ก็ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปมาถึงกันพร้อมทั้งส่งข้าวของพระราชทานแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปก็ทรงได้รับการต้อนรับอย่างราชสำนักอังกฤษเป็นอย่างดี
พระเจ้าอยู่หัวของไทยอีกสองพระองค์ต่อมา คือในหลวงรัชกาลที่หกและในหลวงรัชกาลที่เจ็ด ได้ทรงเรียนหนังสือตั้งแต่ทรงพระเยาว์อยู่ในประเทศอังกฤษ พระเจ้ากรุงอังกฤษทุกพระองค์ได้พระราชทานพระเมตตาอัชฌาสัย คุ้นเคยกับเจ้านายฝ่ายไทยเราเสมอด้วยสมาชิกในพระราชวงศ์
กล่าวเฉพาะในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นพระราชอาคันตุกะที่ประเทศอังกฤษครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเด็กเล็กน้อยเต็มที
ข้างฝ่ายสมเด็จพระราชินีนาถของอังกฤษ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ โดยธรรมเนียมอย่างที่เรียกว่า State Visit ถึงสองคราว คือในปี 2515 คราวหนึ่ง และบี 2539 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของไทยเราอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งสองคราวสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงมีหมายกำหนดการเสด็จเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในคราวเสด็จฯ เยือนครั้งแรก ที่ผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่ที่สาธิตปทุมวัน ยังพลอยได้อานิสงส์มาเฝ้ารับเสด็จด้วย เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้กันเพียงแค่รั้วกัน
ถึงแม้เวลาจะผ่านไปถึง 50 ปีแล้วก็ตาม บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์ ภาพจำของ “ควีน” พระองค์นั้น ทรงฉลองพระองค์สีสดใสรับกับพระฉวีงามผ่อง เสด็จฯ พร้อมด้วยพระราชสวามีและพระราชธิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแอนน์
ผมได้เคยนำมาเล่าสู่กันฟังแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมเสมอ
ในวันที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเพิ่งเสด็จสวรรคตไปแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง ข่าวสารเกี่ยวกับพระองค์ท่านและรัชสมัยของท่านปรากฏอยู่แทบจะทุกช่องทางที่เปิดขึ้นมา
ข่าวเล็กๆ และเป็นข่าวสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัดในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเมืองอังกฤษ เป็นบทสัมภาษณ์สดคนขับแท็กซี่ในกรุงลอนดอนว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างสำหรับความสูญเสียครั้งนี้
คุณคนขับแท็กซี่ที่ต้องตอบคำถามนี้น่าจะอายุคราวเดียวกันกับผม
เขาอธิบายด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้นว่าอย่างนี้ครับ
“She is the only constant we have all had in our lives”
“สมเด็จทรงเป็นเพียงสิ่งเดียวในชีวิตของพวกเราที่เหมือนเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
มานึกดูแล้วก็จริงของเขานะครับ นึกตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น การแต่งทรงพระเกศา หรือการแต่งพระองค์ ทรงเสมอต้นเสมอปลายเป็นที่สุด ฉลองพระองค์สีสดรับกับพระมาลาแบบต่างๆ ฉลองพระบาท และกระเป๋าทรงถือ เห็นเข้าคราวเดียวก็จำได้ว่า นี่คือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองพระองค์จริงเป็นแน่
ขยับขึ้นไปถึงเรื่องใหญ่กว่านั้น คือหน้าที่ที่ได้ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 70 ปีในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่เพิ่งเข้าเฝ้าเมื่อสองวันก่อนสวรรคตก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ในรัชกาล ได้ทรงฟังคำกราบบังคมทูล พระราชทานคำแนะนำ หรือแม้แต่พระราชทานคำตักเตือน ให้กับรัฐบาลเพื่อรับใส่เกล้าฯ ไปพิจารณาดำเนินการตามที่รัฐบาลเห็นสมควรมาแล้ว กี่หมื่นกี่แสนเรื่อง ใครจะไปรู้ได้
การตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องราชการก็ดี เรื่องภายในพระราชวงศ์หรือครอบครัวของพระองค์เองก็ดี ทรงยึดหลักหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศกำกับทางเดิน ไม่มีสิ่งใดยิ่งหรือหย่อนไปกว่านั้น
ลองนึกย้อนดูเหตุการณ์เมื่อประมาณหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา เจ้าชายแอนดรูว์ผู้เป็นพระราชโอรสคนโปรดของควีนทรงเกิดข่าวอื้อฉาวขึ้น ถึงแม้จะไม่มีแม้สักคำน้อยออกจากพระโอษฐ์ แต่การปฏิบัติและถ้อยแถลงของสำนักพระราชวังก็ย่อมเชื่อได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถได้ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สุภาพสตรีในวัย 90 กว่าปีพระองค์นี้ต้องตัดสินใจระหว่างสรรพสิ่งที่รายรอบ ตั้งแต่ความเป็นลูกรัก และการรักลูก การผดุงรักษาเกียรติยศของพระราชวงศ์ การเป็นแบบอย่างในการเคารพกฎหมาย การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยืนยาว เพื่อนำไปสู่คำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด
คุณคนขับแท็กซี่คนนั้นคงรู้เหมือนกับที่คนอังกฤษทุกคนรู้และชาวโลกทุกคนรู้
รู้ว่า 70 ปีในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทรงรักษามาตรฐานของพระองค์ไว้ได้อย่างควรแก่การสรรเสริญพระบารมีทุกประการ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022