โลกของสตรี ในกวีนิพนธ์รอบแรกรางวัลซีไรต์ ’65 กับแนวคิดชายเป็นใหญ่/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

โลกของสตรี

ในกวีนิพนธ์รอบแรกรางวัลซีไรต์ ’65

กับแนวคิดชายเป็นใหญ่

 

ปี2565 รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ มีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวน 75 เล่ม

ล่าสุดมีการประกาศรายชื่อผลงานเข้ารอบ long list จำนวน 16 เล่ม ภาพรวมมีทั้งกวีรุ่นใหญ่ วัยกลางคน มือรางวัล และกวีรุ่นใหม่

แต่ละเล่มนำเสนอรูปแบบทั้งบทกวีฉันลักษณ์ทั้งหมด บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ทั้งหมด กึ่งฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์

ข้อสังเกตคือ กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ที่ผ่านมามักจะประกาศยกย่องงานประเภทฉันทลักษณ์ ซึ่งจะนำเสนอแบบกลอนสุภาพทั้งเล่ม หรือนำเสนอความหลากหลายด้วยโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่ายก็ได้

แต่มีผลงานไร้ฉันทลักษณ์ “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ของซะการีย์ยา อมตยาเล่มเดียวที่ได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2553

โดยเฉพาะกวีนิพนธ์รางวัลนี้จะให้ความสำคัญกับ “ขนบ” ของฉันทลักษณ์ จึงสะท้อนการสืบทอดงานเขียนแบบอนุรักษนิยมของคำว่า “บทกลอน” หรือร้อยกรอง มากกว่า “บทกวี” ไม่ต่างจากเวทีประกวดหนังสือดีเด่นของ พฐ. และรางวัลเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด

โดยอาจหลงลืมยุคสมัยและรูปแบบการเขียนของกวีรุ่นใหม่ ซึ่งหันมาเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ วรรณรูป แคนโต้ (canto) อุนนุน บทกวีบรรทัดเดียว (monostich) มากขึ้น แต่งานประเภทนี้ได้แค่เข้ารอบ long list (รอบแรก) หรือ short list (รอบสุดท้าย) เท่านั้น ที่อาจแสดงถึงความหลากหลาย ความใจกว้างของคณะกรรมการรอบคัดเลือกฯ

แต่เมื่อประกาศผลตัดสินรางวัลซีไรต์ งานส่วนใหญ่มักจะได้เล่มที่เขียนด้วยกวีฉันทลักษณ์

เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากในตำราวิชาภาษาไทยถูกสอน ปลูกฝัง ฝึกฝน เริ่มต้นการอ่านการเขียนจากการเรียนวรรณคดี หรือเป็นเพราะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรอบคัดเลือกและตัดสิน นิยมอ่านและเขียนบทกวีฉันทลักษณ์มากกว่างานกวีนิพนธ์สร้างสรรค์ประเภทอื่น

 

ข้อสังเกตอีกข้อที่อยากอธิบายขยายความในครั้งนี้ เป็นเรื่องสัดส่วนของ “เพศ” กวีที่ส่งผลงานเข้าประกวด เมื่อประกาศผลในรอบ long list มีผลงานของกวีหญิงเข้ามาแค่ 4 เล่ม เรียงตามตัวอักษร ดังนี้

จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์

ดวงตากวี ของรินศรัทธา กาญจนวตี

ดอกไม้ สายน้ำ ความรัก ของแม่น้ำ เรลลี่ และ

ล้วนคือของขวัญบรรณาการ ของสิริวตี

ทั้ง 4 เล่มเป็นผลงานประเภทฉันทลักษณ์ 3 เล่ม มีเพียง 1 เล่มที่เขียนประเภทไร้ฉันทลัษณ์ คือผลงานเรื่อง “ดอกไม้ สายน้ำ ความรัก” ของแม่น้ำ เรลลี่

และจากผลงานทั้ง 4 เล่ม กวีหญิงมีทั้งใช้ชื่อนามสกุลจริง และใช้นามปากกา มีผลงานที่พิมพ์ผ่านสำนักพิมพ์และพิมพ์เอง ขายเอง อีกทั้งผลงานมีบรรณาธิการที่เป็นผู้ชาย และกวีเป็นบรรณาธิการให้กับผลงานของตัวเอง

รวมไปถึงการให้กวี นักเขียน ศิลปินแห่งชาติทั้งชายและหญิงมาเขียนคำนิยม

 

โลกของสตรี

ในกวีนิพนธ์บนแนวคิดชายเป็นใหญ่

เริ่มจากกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ในอดีต มีเพียงผลงาน “ใบไม้ที่หายไป” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้รับการยกย่องเมื่อปี 2532 แค่เล่มเดียว หลังจากนั้นโลกกวีนิพนธ์ไทยรางวัลซีไรต์ก็ครองด้วยผู้ชาย ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าจำนวนกวีชายมีมากกว่ากวีหญิง หรือแท้จริงแล้ววงการวรรณกรรมจะถูกครอบครองพื้นที่ และครอบงำเวทีด้วยกวี นักเขียนชาย รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินด้วย

เมื่อผลงานกวีนิพนธ์ “ใบไม้ที่หายไป” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา ได้รับรางวัล จึงต้องมาพิจารณาถึงองค์ประกอบด้วยว่า ผลงานเล่มนี้ถูกยกย่องจากตัวตน ผลงาน หรือองค์ประกอบร่วมอื่นใด

จำนวนคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ในปีนั้น เป็นผู้หญิงถึง 7:8 คน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้กรรมการผู้หญิงรู้สึก ซาบซึ้ง และเข้าใจผลงานของกวีหญิงได้ใช่หรือไม่

สังเกตบางส่วนของคำประกาศดังนี้ “ในการตัดสินนี้ คณะกรรมการได้คำนึงแล้วว่า ผู้อ่านที่รู้เรื่องราวในชีวิตผู้ประพันธ์ ย่อมมีความชื่นชมซาบซึ้งในเนื้อหาสาระและศิลปะการพรรณนาและบรรยายได้ เพราะภูมิหลังของผู้เขียน และคณะกรรมการก็มิได้ลืมถามตนเองว่า ที่ชื่นชมงานนี้เพราะเหตุนั่นหรือเปล่า และผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รู้ภูมิหลังนี้ อีกห้าสิบปีข้างหน้าจะสามารถตระหนักคุณค่าของบทกวีเหล่านี้หรือไม่

และคำตอบที่คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันก็คือว่า คุณค่าของงานนี้อยู่ที่เนื้อหาสาระและศิลปะของงานแต่ละบท มิได้ผูกพันกับกาลเวลาหรือตัวบุคคลนั้นเลย

บทประพันธ์เรื่องใบไม้ที่หายไป จึงพิสูจน์ให้ประจักษ์ว่า ผู้ประพันธ์เป็นกวีโดยแท้จริง”

หากว่ากันที่ผลงานแล้ว หลังจากเล่ม “ใบไม้ที่หายไป” จิระนันท์ พิตรปรีชา ก็ไม่มีผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่มออกมาอีกเลย

กอปรกับกาลเวลาผ่านมาแล้ว 30 กว่าปี กวีนิพนธ์เล่มนี้ยังร่วมสมัย และมีคุณค่าหรือสามารถส่งต่ออุดมการณ์ ความคิดกับคนรุ่นใหม่ที่รู้และไม่รู้ภูมิหลังของกวีอีกหรือไม่

ดังนั้น คำกล่าวนี้จึงเป็นการออกตัวกันข้อครหาของคณะกรรมการ ที่นำเรื่องราวในชีวิตของกวีมาร่วมตัดสินด้วย มันจึงดูเป็นคำชื่นชม นิยม หรือยกย่องมากกว่าคำประกาศตัดสินผลงานทั่วไป

อีกทั้งบางประโยค เช่น “ผู้อ่านที่รู้เรื่องราวในชีวิตผู้ประพันธ์ ย่อมมีความชื่นชมซาบซึ้งในเนื้อหาสาระและศิลปะการพรรณนาและบรรยายได้ เพราะภูมิหลังของผู้เขียน” จึงดูเหมารวม คาดการณ์และชี้นำผู้อ่าน

เทียบกับความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ ปี 2562 กล่าวว่า

“ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพที่มีลีลาง่ายงาม ลีลาราบรื่น สัมผัสคล้องจอง ใช้คำง่าย แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน ดำเนินเรื่องราวได้กระชับ ก่อให้เกิดจินตภาพ มีวรรคทองคมคายให้แง่คิด แม้กวีจะสูญเสียการมองเห็น แต่ได้ปรับเปลี่ยนและเปิดโลกของตนเองสู่โลกใบใหม่ แม้ไม่อาจเห็นด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ เป็นพลังบวกสำหรับตนเอง และส่งถึงมวลชนเพื่อเป็นกำลังใจให้ก้าวพ้นวิกฤติต่างๆ ในชีวิตด้วยผัสสะที่งดงาม”

ข้อความที่ยกมา หมายถึงผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” ของรินศรัทธา กาญจนวตี ซึ่งความเห็นนี้ คณะกรรมการไม่ควรหยิบยกเรื่องราวชีวิตของกวีมาพูดถึง กลายเป็นว่านำความพิการทางสายตามายกย่องพร้อมด้อยค่าไปในตัว โดยเฉพาะการลงท้ายชื่อนามสกุลหลังเขียนบทกวีจบและหน้าปกผลงานว่า “กวีผู้พิการทางสายตา” และมันดูจะไม่เท่าเทียมกับผลงานเข้ารอบสุดท้ายเล่มอื่น เพราะว่าปีนั้นมีกวีท่านหนึ่งซึ่งร่างกายพิการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดด้วย แต่คณะกรรมการไม่พูดถึง เพราะไม่รู้จักประวัติหรือส่วนตัวกวีไม่คิดจะนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็น “สิทธิพิเศษ” หรือ “ข้อได้เปรียบ”

ข้อสังเกตคือ ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือกฯ ปีดังกล่าวเป็นผู้หญิงด้วยหรือไม่ และเมื่อเข้าสู่การตัดสิน ทั้งๆ ที่ประธานคณะกรรมการก็เป็นผู้หญิง และรอบปีนั้นยังมีสัดส่วนกรรมการผู้หญิง 5:3 แต่ผลงานเล่มนี้กลับไม่ได้รับรางวัลซีไรต์

เท่ากับว่า ข้อสังเกตเรื่องสัดส่วนกรรมการผู้หญิงส่งผลต่อการประเมินคุณค่าและตัดสินผลงานให้กับกวีหญิงจึงตกไป

เพราะจริงๆ แล้ว เวทีประกวดควรประกวดแข่งขันกันที่ผลงาน มิใช่นำเรื่องราวชีวิตหรือตัวตนของกวีมาพิจารณา ทั้งในแง่ชื่นชมในอุดมการณ์ ความคิดทางการเมืองหรือเมตตาสงสารในความพิการทางสายตา เพราะการเขียนคำประกาศหรือความเห็นของคณะกรรมการนั้นต่างจากคำนิยม

อย่างไรก็ตาม คำนิยมในหนังสือเล่มนั้นๆ ก็อาจส่งผลต่อกรรมการหรือผู้อ่านได้เช่นกัน เมื่อคำนิยมเป็นคำชื่นชม จึงมุ่งกล่าวถึงข้อดี จุดเด่นหรือยืนยันและรับรองผลงาน

ไม่ว่าจะเป็นคำนิยมของไพลิน รุ้งรัตน์ ที่มีต่อผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” ของรินศรัทธา กาญจนวตี โดยเฉพาะข้อความว่า “เธอไม่ได้เขียนกลอนด้วยตาอย่างคนอื่น แต่เขียนกลอนด้วยใจ” เทียบกับความเห็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่า “แม้ไม่อาจเห็นด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ”

คำนิยมของสถาพร ศรีสัจจัง ที่มีต่อผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ลูกเคลื่อนโลก” และคำนิยมของไพฑูรย์ ธัญญา ที่มีต่อผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ล้วนคือของขวัญบรรณาการ” ของสิริวตี

ซึ่งทั้ง 3 ท่านล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่ทั้งนักเขียน กวี นักอ่านต่างให้ความเคารพ เชื่อถือ แต่คำนิยมดังกล่าวจะมีส่วนส่งผลมากน้อยต่อความเห็นหรือการตัดสินตามเวทีประกวดต่างๆ หรือไม่ เมื่อศิลปินแห่งชาติบางท่านเป็นกรรมการตัดสินงานประกวดวรรณกรรมเสียเอง

ต่างจากคำนิยมในเล่ม “ดอกไม้ สายน้ำ ความรัก” ของแม่น้ำ เรลลี่ ที่เขียนสั้นๆ โดยสมพงษ์ ทวี’ ซึ่งเป็นเพียงกวีเท่านั้น

 

ดังนั้น โลกแห่งการเขียนของกวีหญิง จึงยังยึดโยงหรืออยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ชาย ไม่ว่าจะเรื่องการเขียน โดยกวีอาจมีต้นแบบหรือได้รับอิทธิพลทางความคิด แนวทาง รูปแบบ หรือเทคนิคการเขียนมาจากผู้ชายซึ่งเป็น “ครู” เช่นนายผี หรือ “คู่” เช่นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา

หรือมีบรรณาธิการเป็นผู้ชาย อย่าง นายทิวา ในผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” และ “ดวงตากวี” ของรินศรัทธา กาญจนวตี หรือดิเรก นนทชิต ในผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ดอกไม้ สายน้ำ ความรัก” ของแม่น้ำ เรลลี่

ทั้งนี้ โลกหรือพื้นที่ในการเขียนวรรณกรรมไทย จึงให้ความสำคัญผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนกวี นักเขียน สัดส่วนคณะกรรมการ รางวัลที่ได้รับ การเขียนคำนิยมให้ กระทั่งบรรณาธิการ

ยิ่งตอกย้ำว่า ผู้ชายยังคงเป็นใหญ่ในโลกวรรณกรรมไทยแทบจะทุกด้าน จึงอาจทำให้กวี นักเขียนหญิงต้องพึ่งพิง หรืออาศัยพลังอำนาจบางอย่างมาเสริมสร้างให้งานตนโดดเด่นขึ้นด้วยคำนิยม หรือชื่อเสียงของบรรณาธิการ

ขณะเดียวกัน ก็มีกวีหญิงยุคใหม่ที่เชื่อมั่นในฝีมือตนและผลงาน โดยไม่พึ่งระบบบรรณาธิการ แต่กลับเป็นเสียเอง เช่น ผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) ของปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ หรือผลงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ล้วนคือของขวัญบรรณาการ” ของสิริวตี เป็นต้น

ข้อสังเกตคือ เมื่อกวีขาดประสบการณ์ด้านนี้ ยิ่งเป็นผลงานเล่มแรกหรือเล่มที่สอง อาจทำให้ภาพรวมของงานมีจุดด้อยมากกว่าจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรบทกวี การแก้ไขขัดเกลาบทกวี การแบ่งภาค การลำดับหรือร้อยเรียงบทกวี และเอกภาพภายในเล่ม