ถอดบทเรียนวิกฤตการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย/ดาวพลูโตมองดูโลก

ดาวพลูโตมองดูโลก

ดาวพลูโต

 

ถอดบทเรียนวิกฤตการณ์โควิด-19

ของประเทศไทย

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2562 นับจากวันที่มีการแพร่ระบาดครั้งแรกของโลก ณ เมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเวลาเกือบ 3 ปี ที่เราทุกคนทุกเชื้อชาติสัญชาติทั่วทุกมุมโลกประสบวิกฤตการณ์โควิด-19 อีก 3 เดือนข้างหน้าก็จะครบ 3 ปีพอดี

เรามาย้อนรอยวิกฤตครั้งนี้กันครับ

ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันรายแรกในประเทศ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 เป็นชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยว

1 มีนาคม 2563 มีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศไทย

6 มีนาคม 2563 มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์จากสนามมวยลุมพินี นับเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดระลอกที่ 1 หรือเวฟ 1 (ช่วงมีนาคมถึงเมษายน 2563)

ระลอกที่ 2 หรือเวฟ 2 ช่วงธันวาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564

ระลอกที่ 3 หรือเวฟ 3 ช่วงเมษายน 2564 ถึงธันวาคม 2564

ระลอกที่ 4 หรือเวฟ 4 ช่วงมกราคม 2565 จนถึงปัจจุบันที่เตรียมประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคประจำถิ่น

รูปแบบการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อจึงเปลี่ยนแปลงไป

 

จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดระลอกหลังกินระยะเวลายาวนานขึ้นและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าระลอกก่อนหน้า

ด้วยความที่เป็นโรคระบาดใหม่ของโลก มาตรการและนโยบายด้านสาธารณสุขจึงมีการลองผิดลองถูกกัน เหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างเช่น การประชาสัมพันธ์จากรัฐบาลเพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าโควิดเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการณ์แพร่ระบาดเพื่อมิให้ประชาชนตื่นตระหนกนั้น ไม่ใช่ประเทศเราเพียงประเทศเดียวที่ทำ ประเทศอื่นอย่างฟิลิปปินส์ก็เลือกทำเช่นเดียวกันกับเราด้วยเหตุผลทางการเมือง

ปัญหาวัคซีนล่าช้า การกระจายวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมกัน และไม่ทั่วถึง ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดแคลนหน้ากากอนามัย ขาดแคลนยาต้านไวรัส หลายๆ ประเทศประสบปัญหาเดียวกัน

วันนี้จึงขอไม่ขยี้แผลเก่าด้านสาธารณสุขและการเมือง แต่อยากชวนคุยแลกเปลี่ยนกันในมุมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมากนัก

 

ประเทศไทยมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากแหล่งเงินอื่นนอกเหนือจากงบประมาณประจำปีมากกว่า 10% ของมูลค่า GDP และมีมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง รวมๆ กันมากกว่า 15% ของ GDP คิดคำนวณตัวเลขคร่าวๆ กลมๆ แล้ว มากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท

2.5 ล้านล้านบาท!!! มากกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงของอดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ที่ศาลรัฐธรรมนูญเหยียบเบรกไว้ดังเอี๊ยด เพราะเป็นห่วงว่าถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศและเกรงว่าจะก่อหนี้สินชั่วลูกชั่วหลาน

2.5 ล้านล้านบาท เมื่อเวลาผ่านไปแม้แต่เสาตอม่อก็ไม่เหลือให้เห็น

แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้เม็ดเงินสูงถึง 15% ของ GDP ซึ่งเป็นนโยบายที่มาถูกทางแล้ว อาจจะน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศที่อัดฉีดเงินสูงถึง 20-45% ของ GDP

แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมากลับติดลบหนักกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย (ข้อมูลไตรมาสที่ 2 ของปี 2563) ทั้งๆ ที่เติมเงินมากกว่า

และเมื่อผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์ ประเทศไทยกลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม

 

เริ่มจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวด้วยโครงการให้สินเชื่อ Soft Loan เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อภายใต้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลา 2 ปี แก่ผู้ประกอบธุรกิจ มาได้ถูกทางแล้วแต่มาด้วยความตื่นตระหนกก่อนวิกฤตจริงจะมาถึง เรียกได้ว่า “ถูกที่แต่ผิดเวลา” ซึ่งก็ไม่ควรตำหนิแต่อย่างใด เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยืดเยื้อยาวนาน ทุกคนต่างคิดว่า 3 เดือน หรือ 6 เดือน วิกฤตคงจะผ่านพ้นไป แต่ที่ไหนได้จะครบ 3 ปีแล้ว ยังต้องทนอยู่ท่ามกลางวิกฤตกันอยู่

สินเชื่อรอบแรกกระแสตอบรับดีมาก ปล่อยสินเชื่อได้หมดทุกบาททุกสตางค์ จน ธปท.กลัวว่าจะเกิดหนี้เสีย จึงกำหนดกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการรอบถัดๆ มาเข้มงวดขึ้น เช่น การปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่คาดหวังไว้ว่าจะเข้าสู่ระบบทั้งหมด กลายเป็นฝันค้างเพราะปล่อยสินเชื่อได้จริงไม่ถึง 150,000 ล้านบาท

ต่อมามีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้รายย่อย ระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงการเข้ารับความเสี่ยงแทนธนาคารพาณิชย์โดยการค้ำประกันหนี้ ร้อยละ 50-60 เพื่อช่วยเหลิอผู้ประกอบการ

จัดว่าเป็นมาตรการที่ดี มาถูกทางแล้ว แต่ไม่เพียงพอ หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการฝ่าฟันวิกฤตการณ์โควิด มีการค้ำประกันหนี้ให้เอกชนสูงถึงร้อยละ 80-90 ของวงเงินสินเชื่อพิเศษนี้

แถมปัญหาของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อในบ้านเรา เมื่อมีสินเชื่อโครงการพิเศษธนาคารพาณิชย์ก็เก็บไว้ให้ลูกค้าขาประจำของธนาคารที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อปกติได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อโครงการช่วยเหลือพิเศษนี้

ส่วนลูกค้ารายใหม่ที่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อพิเศษกลับไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อโครงการช่วยเหลือได้ เม็ดเงินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็ได้แต่มองตาปริบๆ หรือไม่ก็ต้องกู้ยืมผ่านรายใหญ่อีกต่อหนึ่ง อย่างเช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ขอสินเชื่อโดยตรงไม่ผ่าน แต่ห้างได้รับจัดสรรวงเงินช่วยเหลือส่งต่อให้ผู้เช่าอีกต่อหนึ่ง

คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น คนจนก็จนต่อไป ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกว้างขึ้น เจ้าสัวตั้งกองทุนไล่ซื้อธุรกิจน้ำดีในราคาถูกด้วยสินเชื่อโครงการช่วยเหลือประชาชน

 

มาดูฟากรัฐบาลกันบ้าง มาตรการช่วยเหลือธุรกิจอื่นนอกจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ไม่มีการแบ่งแยกการให้ความช่วยเหลือตามกลุ่มประเภทธุรกิจ แต่ใช้วิธีหว่านแห ซึ่งไม่ถูกทางเพราะแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลแตกต่างกัน

แม้แต่มาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ไม่มีการแบ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ออกจากธุรกิจขนาดใหญ่

ผลก็คือรายใหญ่ตัดราคารายย่อย บวกกับได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ เกิด Price Pressure ต่อรายย่อย

ถ้ามองในมุมของรายย่อยแล้ว การมีโครงการเราเที่ยวด้วยกันแย่กว่าการไม่มีโครงการช่วยเหลือเสียอีก รายย่อยก็ปิดกิจการไปโดยปริยาย ไม่ใช่เพราะโควิด-19 แต่เพราะโครงการของรัฐบาล

มาตรการอัดฉีดเงินนอกงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็ใช้วิธีแบบราชการไทย กระจายไปตามกระทรวงต่างๆ แล้วแต่ว่าเจ้ากระทรวงแต่ละท่านมีบารมีมากน้อยเพียงใด พองบประมาณที่อัดฉีดเพิ่มเติมลงไปถึงกรม กอง ต่างๆ ก็กลายเป็นเบี้ยหัวแตก ขาดทิศทาง ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายหลักคือการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบบูรณาการร่วมกัน กลายเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

โครงการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ตกงาน ของกระทรวงแรงงาน มาถูกทางครึ่งเดียว คือช่วยเหลือธุรกิจที่ปิดตัวลงชั่วคราวในช่วงเวฟแรก ธุรกิจที่ไม่ได้ปิดชั่วคราวเลยต้องโกหกว่าปิดตัวมิฉะนั้นก็จะไม่ได้เงินช่วยเหลือ จากไม่ได้ปิดเลยปิดจริง คนไม่ตกงานได้เงินช่วยน้อยกว่าคนตกงาน ลูกจ้างและนายจ้างเลยจับมือกันแจ้งตกงานกันหมด มาถูกทางก็จริงแต่กว่าจะเบิกจ่ายได้ก็ช้าเหลือเกิน

และวงเงินช่วยเหลือในแต่ละรอบก็ลดลงเรื่อยๆ จากเวฟ 1 ถึงเวฟ 4 ซึ่งควรดำเนินการกลับกัน เพราะรอบหลังเจ็บกว่ารอบแรกๆ

 

สุดท้ายไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ คือ โครงการคนละครึ่ง กระแสตอบรับดีมากๆ

แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็ไม่รู้ว่าใครได้ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งใครได้

ฝั่งประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการไม่มีการคัดกรอง ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนเข้าร่วมได้หมด คนที่ได้รับผลกระทบหนักจริงๆ เลยเหลือเงินเยียวยาไม่มากพอประทังชีวิต

ฝั่งผู้ประกอบการก็ไม่มีการแบ่งแยกความช่วยเหลือตามประเภทธุรกิจ เข้าร่วมได้หมดเช่นกัน อย่างที่เราเห็นข่าวซื้อของในห้างสรรพสินค้าก็ใช้คนละครึ่งได้ ซื้อกาแฟสตาร์บัคส์ก็ใช้คนละครึ่งได้

สรุปเม็ดเงินก็ไม่ลงไปถึงรากหญ้า ตกอยู่ที่รายใหญ่ แถมท่านอธิบดีกรมสรรพากรขู่จะเก็บภาษีอยู่ตลอดเวลา เลยไม่รู้ว่าอยากให้เงินเข้าระบบหรือไม่อยากให้เงินเข้าระบบกันแน่

จนสถานการณ์ผ่านจุดวิกฤตมาแล้ว โครงการคนละครึ่งยังไม่ยุติโครงการดำเนินโครงการต่อจนเข้าสู่เฟสที่ 5 ผมก็ไม่รู้ว่าเฟส 5 ที่ออกมาล่าสุดนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โควิด-19 หรือแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาค่าครองชีพสูงกันแน่

ขอฝากคำถามไปถึงรัฐบาลด้วยครับ

 

รัฐบาลดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือเศรษฐกิจครบทุกข้อครบทุกนโยบายเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพราะเราลอกการบ้านเพื่อนมา

แต่ขาดความละเอียดรอบคอบต่อการปรับใช้นโยบายในประเทศโดยไม่คำนึงถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยเลยแม้แต่น้อย

วันหนึ่งเศรษฐกิจไทยคงฟื้นกลับมาจุดเดิมอย่างแน่นอน เพียงแต่จะกลับไปอยู่ในมือใคร