ต่างประเทศอินโดจีน : ตลาดงาช้างที่ลาว

ที่มาภาพ : savetheelephants.org

“เซฟ ดิ อีเลเฟนต์” (เอสทีอี) องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเคนยา เคลื่อนไหวอย่างหนักเป็นเวลานานมาก เพื่อจำกัดตลาดจำหน่ายงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างให้หลงเหลือน้อยที่สุดบนโลกใบนี้

เพื่อสร้างผลกระทบสำคัญต่อเนื่องไปยังกิจกรรมต้นตออันเป็นที่มาของ “งาช้าง” เหล่านั้น นั่นคือการ “ล่าช้างเอางา”

เพราะการ “ฆ่าช้างเอางา” นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ช้างแอฟริกันนับเป็นหมื่นตัวต้องล้มหายตายจากไปในแต่ละปี

เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทำหน้าที่ขนถ่ายลักลอบโยกย้ายงาช้างเหล่านั้นสู่ตลาด ถูกกระตุ้น ยุยง ส่งเสริมโดยบรรดาเจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นทั้งหลายที่มีอยู่บานเบอะในแอฟริกา ซึ่งในทางกลับกัน อาชญากรไร้หัวใจเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่นในแอฟริกามีมากขึ้นและกว้างขึ้นตามไปด้วย

เมื่อปลายปี 2016 เอสทีอี ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ ทั้งโน้มน้าว ทั้งกดดันร่วมกับหลายฝ่ายจนทางการจีนประกาศ “ห้ามการซื้อขายงาช้าง” ภายในประเทศทั้งหมดตั้งแต่สิ้นปีนี้เป็นต้นไป

 

จีนเป็นตลาดงาช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ความสำเร็จครั้งนี้ในแง่ของการต่อต้านการค้างาช้างและการล่าช้างเอางาจึงมีความหมายยิ่งใหญ่ไม่น้อย

แต่ เอียน ดักลาส-เฮมิลตัน ผู้ก่อตั้งเอ็นจีโอแห่งนี้บอกไว้ในตอนนั้นว่า ประกาศห้ามดังกล่าวไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่ใช่ยาสารพัดโรคที่จะช่วยให้การค้างาช้างหมดสิ้นไป จะให้ความต้องการงาในจีนหลงเหลือน้อยที่สุดก็ต้องห้ามการค้าในประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายด้วย

ข้อสังเกตของดักลาส-เฮมิลตัน กลายเป็นจริงในเวลาไม่ช้าไม่นาน เพราะถึงตอนนี้ ลาวกลายเป็นตลาดงาช้างใหม่ “ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก” ไปแล้ว

งานวิจัยว่าด้วยการค้างาช้างล่าสุด โดย ลูซี ลาวีจ์น กับ เอสมอนด์ มาร์ติน ที่ปรึกษาของเอสทีอี ระบุว่าการห้ามซื้อขายงาช้างในจีน ส่งผลให้ตลาดตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านติดต่อกับจีนเติบใหญ่ขยายตัวไปตามๆ กัน ทั้งในเวียดนาม พม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาว ซึ่งขยายตัวเร็วมาก

ทีมวิจัยพบว่าร้านค้างาช้างที่มี “เจ้าของเป็นคนจีน” ในพื้นที่ตามแนวชายแดนและในเวียงจันทน์, หลวงพระบาง ซึ่งเมื่อปี 2013 ตรวจสอบพบเพียง 3 ร้าน เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันเป็น 35 ร้าน วางจำหน่ายงาช้างในทุกรูปแบบตั้งแต่งาดิบ ไปจนถึงงาช้างที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และเครื่องประดับน้อยใหญ่ รวมแล้ว 12,234 ชนิด

มีตั้งแต่ชิ้นเล็กมาก คือแหวนงาช้างบางๆ วางขายในราคา 3 ดอลลาร์ (ไม่ถึง 100 บาท)

ไปจนถึงงาทั้งคู่ขัดเงาแล้วในราคาคู่ละ 25,000 ดอลลาร์ (ราว 830,000 บาท) ซึ่งถูกกว่าในจีนมากมาย

นั่นรวมทั้ง ร้านค้าในกาสิโนสถานอย่าง “คิงส์ โรมันส์” (มีรวม 8 ร้าน) หรือในรีสอร์ตอย่าง “แดนสะหวัน น้ำงึม” (2 ร้าน)

เมื่อตรวจสอบในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ พบแหล่งค้างาช้างในลาวอีก 73 ร้าน รวมทั้งในกาสิโนริมโขง ทั้งหมดวางขายงาและงาแปรรูปอย่างเปิดเผย

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างในลาวเป็นชาวจีนเสียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

 

สถานที่อย่าง คิงส์ โรมันส์ น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งชุมนุมของนักพนันมือเติบจากแผ่นดินจีนแล้ว ยังเป็นแหล่งค้าขายสัตว์ป่าต้องห้ามอย่างเปิดเผยอีกด้วย

เสือ หมี ตัวเป็นๆ มีขังกรงไว้อวดให้เห็น สำหรับใครก็ตามที่ต้องการ “เปิบพิสดาร” ตั้งแต่อุ้งตีนหมี เรื่อยไปจนกระทั่งถึงนอแรดและหงอนนกเงือก มีให้เลือกในสนนราคาแพงระยับ

เครื่องประดับที่ทำจากงาช้างส่วนใหญ่ ถ้าหากไม่นำเข้ามาจากโรงงานผลิตในเวียดนาม ก็เป็นสินค้าที่เจ้าของร้านชาวจีนผลิตเองโดยโรงงานผลิตในลาว อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องช่วยในการแกะสลักและประดิษฐ์ชิ้นงาน

วัตถุดิบส่วนใหญ่ถ้าหากไม่ลักลอบเข้าจากแอฟริกาโดยอาศัยเส้นทางผ่านประเทศไทย ก็เป็นวัตถุดิบตกค้างที่บรรดาผู้ประกอบกิจการงาช้างในไทยเคยลอบนำเข้ามาก่อนหน้านี้ ระบายสต๊อกออกไปให้กับลาว

ก่อนที่ไทยจะมีกฎหมายเข้มงวดกับการถือครองงาช้างในประเทศเมื่อเร็วๆ นี้

งานวิจัยชิ้นนี้เรียกร้องให้ลาวเร่งดำเนินขั้นตอนเพื่อเข้มงวดกับการซื้อขายงาช้างที่กำลังเบ่งบาน ก่อนที่จะกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อชีวิตของช้างป่าในแอฟริกาในอนาคตอันใกล้

ซึ่งคาดหวังได้น้อยมาก หากคำนึงถึงว่า ลาวเป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) มาตั้งแต่ปี 2004

แต่จนถึงขณะนี้เคยมีการตรวจยึดงาช้างเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเอง!