ฐากูร บุนปาน : ผลประชามติ

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ความจริงตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนแนะนำหนังสือ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากการเมืองบ้าง

แต่เห็นใครต่อใครเขาพากันพูดถึงผลจากประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างเกรียวกราว

จะไม่พูดกับเขาบ้างเดี๋ยวก็เชย

พูดอะไรไม่ดีก็เชยอีก

ช่วงนี้พระท่านทักว่าดวงไม่ดีครับ

ฮา

ประเด็นแรกเลยที่คอการเมืองทั้งหลายเขาพูดถึงกันมากที่สุด

ก็คืออนาคตของพรรคประชาธิปัตย์นับจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

เมื่อชัดเจนแล้วว่าอิทธิพล (หรือแนวทาง) ของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คนเดียวมีพลังมากกว่าสามประสานอย่าง คุณชวน หลีกภัย-คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน-คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมกัน

ที่สามท่านหลังสู้ท่านแรกไม่ได้เป็นเพราะอ่านสถานการณ์และอ่านใจแฟนคลับประชาธิปัตย์ผิด

หลักการหมดความขลัง

หรือว่าสตางค์และการบริหารจัดการสู้เขาไม่ได้

แต่ไม่ว่าอย่างไร แนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเทกโอเวอร์จากอีกฝ่าย หรือการแยกตัวออกไปตั้งพรรคตั้งกลุ่มใหม่ (อย่างที่เคยเกิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งในประชาธิปัตย์)

ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมหรือเพ้อฝันอีกต่อไป

ประเด็นต่อมาคือพรรคเพื่อไทย

ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการไม่ทุ่มสุดตัวหรือการประเมินสถานการณ์แบบ “เข้าข้างตัวเองนิดๆ” นั้น นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ซ้ำซาก

ที่จะหวังกินบุญเก่า รอว่ามีเลือกตั้งเมื่อไหร่แล้วจะกวาด ส.ส. เป็นกอบเป็นกำเหมือนเดิม

เห็นท่าจะยากขึ้น

ถ้าไม่มีการปรับปรุงระบบ กระบวนการ รวมทั้งการตอกย้ำจุดยืนในการรักษาประชาธิปไตย

ซึ่งทั้งหมดเคยเป็น “จุดขาย” มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน

ถ้าไม่สามารถเสนอแนวทางใหม่ ระบบการจัดการใหม่ ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่ามีการปรับปรุงหรือปฏิรูปตัวเองแล้ว

ถึงเลือกตั้งหนหน้ากลับมาชนะอีก รัฐบาลเพื่อไทยก็จะอยู่ในฐานะง่อนแง่น

หรือระบบการเมืองโดยรวมยังสุ่มเสี่ยงจะถูกล้มคว่ำจากอำนาจนอกระบบได้

เพื่อไทยโฉมใหม่ (ที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังของคนทั่วไปได้) จะมีหน้าตาอย่างไร

น่าสงสัยและน่าสนใจ

อีกซีกหนึ่ง คสช. ซึ่งชนะการลงประชามติหนนี้จะเอาอย่างไรต่อไป หรือจะกำหนดท่าที-แนวทางของตัวเองอย่างไร

ยิ่งเข้มข้นขึ้น กีดกันคนอื่น-โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ออกไปมากขึ้น (เพราะถือว่าได้ฉันทามติจากประชาชนมาแล้วในระดับหนึ่ง)

หรือจะเปิดกว้างเปิดรับความแตกต่าง เปิดโอกาสให้หันหน้าเข้าหากันมากขึ้น (เพราะไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เนื่องจากเชื่อว่ามีประชาชนหนุนหลัง)

คสช. จะบริหารชัยชนะนี้อย่างไรให้เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเอง พวกพ้อง และสังคมไทย (ที่อาสาเข้ามารับผิดชอบ) ให้ได้มากที่สุด

หรือจะทำซ้ำรอยกับคนที่ตัวเองยึดอำนาจเขามา

คือใช้ชัยชนะเปลืองจนเข้าตัว

นี่ก็น่าสนใจเช่นกัน

แต่ตบท้ายด้วยเรื่องที่น่าตกใจก็คือ

จากผลการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ก่อนการลงประชามตินั้น พบว่าคนไทยทั่วประเทศร้อยละ 57 ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญเลย

แต่ก็ไปลงประชามติได้

ในจำนวนนี้เรียงลำดับสัดส่วนการไม่อ่านสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 69.4 ภาคกลาง ร้อยละ 60.4 ภาคใต้ ร้อยละ 57.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 54.4

โดยมีภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่อ่านร่างรัฐธรรมนูญก่อนไปลงประชามติจำนวนน้อยที่สุดคือร้อยละ 52.9

ไม่อ่านแต่ลงมติได้ แปลว่าอะไร

แปลว่ามีความคิดความเชื่อบางอย่างฝังหัวอยู่แล้ว

แปลว่าสังคมไทยนี่เป็นสังคมมุขปาฐะของแท้ ใช้วิธีฟังเอาจากคนที่ชอบหรือคนที่เชื่อแล้วตัดสินใจได้เลย

ฯลฯ

เกินสติปัญญาความสามารถจะคิดวิเคราะห์แยกแยะครับ

ต้องรอผู้รู้มาวิจัยวิจารณ์ต่อไป

แต่ที่ต้องรับคำตำหนิไปเต็มๆ ก็คือ กกต. ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง

เบิกสตางค์ไป 3,000 ล้าน แต่ชาวบ้านค่อนประเทศไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ

ท่านทำอะไรกันอยู่หรือ

เห็นตัวเลขแล้วตกใจไหม-อายไหม

หรือไม่ค่อยรู้สึกอะไร?