คอนเสิร์ตใหญ่ ‘โยคีเพลย์บอย’ ความทรงจำเกือบ 3 ทศวรรษ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

คอนเสิร์ตใหญ่ ‘โยคีเพลย์บอย’

ความทรงจำเกือบ 3 ทศวรรษ

 

“โยคีเพลย์บอย” ถือเป็นความทรงจำดีๆ ในวัยเยาว์ของผม

ย้อนเวลาสู่ปี 2539 ผมก็ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นกรุงเทพฯ ทั่วไป ที่กำลังตื่นเต้นกับสุ้มเสียงสำเนียงดนตรีใหม่ๆ ของศิลปินค่ายเบเกอรี่มิวสิค

สืบเนื่องมาจากการบุกเบิกแผ้วถางหนทางของ “โมเดิร์นด็อก” “บอยด์ โกสิยพงษ์” และ “โจอี้ บอย” ตั้งแต่ปี 2537-2538 ซึ่งผมเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.1-2

เมื่อขึ้น ม.3 ผมรู้สึกชอบ-คลั่งไคล้ผลงานเพลงออกใหม่ของค่ายเบเกอรี่อยู่สองชุด แม้คนวัยเดียวกันหรือแฟนเพลงที่มีรสนิยมคล้ายคลึงกันส่วนใหญ่ ดูจะไม่ได้หลงใหลกับอัลบั้มคู่นี้มากนัก

งานที่ผมกล่าวถึง ก็คือ อัลบั้มชุดแรกของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” และอัลบั้มชุดแรกของ “โยคีเพลย์บอย”

ท่ามกลางกระแสเฟื่องฟูของดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกและริธึ่มแอนด์บลูส์ (มีฮิปฮอปสอดแทรกมาได้บ้าง) ดูเหมือนงานเปิดตัวของ “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” และ “โยคีเพลย์บอย” จะสวนกระแสด้วยการหวนกลับไปหาแนวดนตรีเก่าๆ ประมาณยุค 1970 ทั้งโซล ฟังก์ และร็อก ที่ถูกหนุนเสริมด้วยแผงเครื่องเป่าแน่นๆ

ต้องยอมรับว่าผมรู้สึกสับสน ว้าเหว่ และงุนงงนิดๆ เมื่อเพลงที่เราชอบมากๆ สองชุดในปี 2539 กลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไหร่ กระทั่งกลุ่มเพื่อนที่ชอบสนทนากันเรื่องดนตรีก็ยังไม่ค่อยตื่นเต้นกับมัน

อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มรู้สึกมั่นใจในรสนิยมของตนเองมากขึ้น เมื่อได้เห็นรายชื่อศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” ประจำปี 2539 ถูกตีพิมพ์อยู่ในหน้าบันเทิงของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ตอนเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2540 (เวลานั้น ผมยังไม่เคยอ่านนิตยสารสีสัน)

ปรากฏว่า “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ได้เข้าชิงรางวัลถึง 5 สาขา ได้แก่ เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (อีกทีได้ไหม), ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม, ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม, โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม และอัลบั้มยอดเยี่ยม

แล้ว “โซลอาฟเตอร์ซิกส์” ก็กลายเป็นพระเอกของงาน “สีสัน อะวอร์ดส์” หนนั้น ด้วยการคว้าไปถึง 3 รางวัล คือ เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม และศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ในงานเดียวกัน “โยคีเพลย์บอย” กลับมีชะตากรรมที่โลดโผนยิ่งกว่า เมื่อพวกเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากถึง 6 สาขา ได้แก่ ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม, ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม, โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม, ศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม, อัลบั้มยอดเยี่ยม และอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม

เรื่องตลกร้ายปนเศร้า คือ สุดท้าย “โยคีเพลย์บอย” ดันไม่ได้รางวัลติดไม้ติดมือไปแม้สักสาขาเดียว

ถ้าความทรงจำของมนุษย์ผูกยึดอยู่กับชื่อคนชนะ ผลงานชุดแรกของ “โยคีเพลย์บอย” ก็คงแทบจะไม่มีที่ทางอยู่ในความทรงจำฉบับดังกล่าว

ทว่า ความล้มเหลว/พลาดหวัง/พ่ายแพ้ครานั้น กลับยิ่งทำให้ผมรู้สึกรัก ผูกพัน และเอาใจช่วยวงดนตรีวงนี้มากขึ้น

 

หลายคนที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด อาจสงสัยหรือไม่แน่ใจว่า “โยคีเพลย์บอย” นั้นมีสถานะเป็นอะไรกันแน่? เป็น “วงดนตรี” หรืองานของ “ศิลปินเดี่ยว”?

คำตอบแบบประนีประนอมที่พอนึกออกก็คือ “โยคีเพลย์บอย” เป็นโปรเจ็กต์ทางดนตรี ซึ่ง “โป้-ปิยะ ศาสตรวาหา” คนแต่งเพลงหลัก นักร้องนำ และฟรอนต์แมน ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับผองเพื่อนของเขา โดยมีบางคนที่ปักหลักกับโปรเจ็กต์มาต่อเนื่องยาวนาน และมีอีกหลายคนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาแจมดนตรีในโครงการนี้

เมื่อวันเวลาผันผ่าน แนวทางการผลิตงานของ “โยคีเพลย์บอย” ก็แปรเปลี่ยนไป ตามความสนใจ-รสนิยมแต่ละช่วงอายุของ “โป้ ปิยะ” และความถนัดเชี่ยวชาญของนักดนตรีแต่ละชุด

ในอัลบั้มชุดแรก (ที่หลายคนอาจขนานนามให้เป็น “คลาสสิคไลน์อัพ”) “โยคีเพลย์บอย” ประกอบด้วย “ปิยะ ศาสตรวาหา” นักร้อง-นักแต่งเพลง-แกนกลางของวง ที่เริ่มเข้าสู่วงการดนตรี ด้วยการร้องเพลง “ทางออก” และแต่งเพลง “ตอนนี้” ในอัลบั้ม “Zequence” ของ “สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์” เมื่อปี 2538

ผนวกด้วย “ปาเดย์-ภาณุ กันตะบุตร” มือเบส ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นสมาชิกวงอันเดอร์กราวด์ “ซีเปีย”

“เฟาซี มามะ” นักกีตาร์ฝีมือดี ผู้ยืนระยะกับ “โยคีเพลย์บอย” มาถึงปัจจุบัน (มีช่วงเว้นวรรคไปบ้าง) และร่วมเป็นนักดนตรีหลักในคอนเสิร์ตใหญ่ปี 2565 ด้วย

และ “ยิ่งใหญ่ หุณชนะเสวีย์” มือกลอง ที่หลังจากนั้น มีรายชื่อเป็นสมาชิกวง “โนโลโก้” ซึ่งนำโดย “โดม-ปกรณ์ ลัม”

ตามความเห็นส่วนตัว ผลงานชุดแรกเมื่อปี 2539 ถือเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ “โยคีเพลย์บอย” อันเนื่องมาจากเพลงเร็วเท่ๆ (ทั้งในแง่การเรียบเรียงดนตรีและเนื้อหา) อย่าง “อยู่มานาน” “โม้” “พระจันทร์วันนี้” และ “รามซิงค์ เรดิโอ” หรือเพลงช้าที่หม่นเศร้าเอาตายอย่าง “ทางแยก” และ ตอนนี้” รวมถึงเพลงช้าที่เจือความหวังไว้นิดๆ เช่น “คำตอบ”

ผสมผสานด้วยลีลา-ภาพลักษณ์แปลกใหม่ หากเทียบกับมาตรฐานวัฒนธรรมป๊อปไทยยุคปลายทศวรรษ 2530 ไม่ว่าจะเป็นการโยกเอวย้ายสะโพกส่ายเป้าบนเวทีคอนเสิร์ตของ “โป้ ปิยะ” และปกเทปรูป “หนามยอกอก” หรือ “นมมีหนาม” อันเป็นเอกลักษณ์

แม้ในเชิงข้อเท็จจริง “โยคีเพลย์บอย” จะมาประสบความสำเร็จสูงสุดระหว่างปี 2541-2545 กับอีพี “Super Swinging” อัลบั้มชุดสอง “YKPB” และอัลบั้มชุดสาม “Love Trend” ซึ่งมีเพลงป๊อปช้าๆ หลายเพลงที่จับใจคนฟังจำนวนมาก (เช่นเดียวกับการที่ “โป้ ปิยะ” ได้ฝากเสียงร้องไว้ในเพลงเพราะๆ นอกโปรเจ็กต์ “โยคีเพลย์บอย” อาทิ “โปรดเถอะ” และ “คนที่เดินผ่าน”)

และเพลงเร็วสนุกสนานที่ลดทอนรายละเอียดเข้มข้นซับซ้อนทางดนตรีลงไป

 

ต้องยอมรับว่าจากกลางทศวรรษ 2540 จนถึงตลอดทศวรรษ 2550 ผมนั้นวางตัวห่างเหินจาก “โยคีเพลย์บอย” อยู่พอสมควร เพราะรู้สึกว่ารสนิยมของตัวเองไม่ค่อยต้องตรงกับ “โป้และเพื่อนๆ”

กระทั่งได้มาดูโชว์ของ “โยคีเพลย์บอย” โดยบังเอิญในงาน “CAT EXPO” ปลายปี 2562 ซึ่ง “โป้ ปิยะ” และผองเพื่อน นำเพลงชุดแรกมาร้องบรรเลงหลายเพลง ด้วยคุณภาพการแสดงสดที่โอเคเลย

ท้ายการแสดงคราวนั้น มีการประกาศว่า “โยคีเพลย์บอย” จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ในปีหน้า แล้วพอถึงปี 2563 ก็มีการแถลงข่าวเรื่องคอนเสิร์ตพร้อมเปิดขายบัตรจริงๆ

แต่โชคชะตาดันเล่นตลกกับ “โยคีเพลย์บอย” เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดหลายระลอก จนคอนเสิร์ตใหญ่ต้องเลื่อนการแสดงไปร่วมสองปี ก่อนที่ทุกอย่างจะมาลงเอยสมบูรณ์แบบเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565

ผมแอบเสียดายนิดๆ หลังพบว่าตนเองต้องพลาดชมการแสดงสดเพลง “อยู่มานาน” ที่ “โยคีเพลย์บอย” ใช้เปิดหัวคอนเสิร์ตสำคัญของพวกเขา (เพราะปัญหาการจราจรติดขัดทั้งหน้าและในห้างยูเนี่ยนมอลล์)

แต่อย่างน้อย ก็ยังดีที่มีโอกาสได้ชมการแสดงสดเพลงเด่นๆ จากอัลบั้มชุดแรกเกือบครบถ้วน (ถ้าจะมีจุดน่าเสียดายนิดหน่อย ก็คือ เสียงดนตรีแผงเครื่องเป่าที่เคยจัดจ้านในการบันทึกเสียงนั้นได้พร่องหายไปจากคอนเสิร์ต)

แม้ผมจะไม่ได้ชื่นชอบผลงานยุคหลังของ “โยคีเพลย์บอย” ตลอดจนไซด์โปรเจ็กต์ของ “โป้ ปิยะ” อย่าง “ทู เดย์ส อะโก คิดส์” แต่ผมกลับประทับใจบรรยากาศรวมๆ ของคอนเสิร์ต ซึ่งเล่นเพลงกลุ่มนั้นเป็นส่วนใหญ่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “โป้ ปิยะ” สามารถร้องเพลงสดได้ดีกว่าที่คาด เขามีเรี่ยวแรงสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมทั้งฮอลล์ได้มากกว่าที่คิด

ไม่ใช่เพียงแค่ฟรอนต์แมนของ “โยคีเพลย์บอย” จะพยายามส่งมอบความรัก-ความปรารถนาดีเต็มเปี่ยมไปสู่แฟนเพลงจำนวนมากด้านหน้าเวที แต่บรรดาแฟนเพลงก็พยายามส่องสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกันกลับไปยังศิลปินบนเวที ผ่านการร่วมร้องเพลงไปพร้อมๆ กัน

นี่คือนักฟังเพลงหลากรุ่นหลายพันชีวิต ที่ชื่นชมผลงานของ “โยคีเพลย์ลอย” จากแต่ละบริบท แต่ละห้วงเวลา และแต่ละชุดเหตุผล ทว่า ตัดสินใจมารวมตัวใน “กาลเทศะ” เดียวกัน เพื่อสนับสนุนเครือข่ายคนทำดนตรีกลุ่มหนึ่ง ที่ยืนระยะทำงานมาได้ถึง 26 ปี

ขณะเดียวกัน มิตรภาพสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง “โป้ ปิยะ” กับเพื่อนๆ นักดนตรี-แขกรับเชิญมากหน้าหลายตา ก็ช่วยโอบอุ้มให้การแสดงสดทรงพลังมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เคยเข้ามาสนับสนุน “โยคีเพลย์บอย” ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น “นรเทพ มาแสง” แห่ง “พอส” (อดีตสมาชิก “เครสเชนโด”) และ “ปาเดย์ ภาณุ” มือเบสคนแรก

หรือคนที่ปักหลักทำงานกับ “โป้ โยคีเพลย์บอย” มานาน อาทิ “ฆ้อง มงคล” (มือกีตาร์อะคูสติกและนักดนตรีสารพัดประโยชน์) และ “เฟาซี มามะ”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ท้ายสุดแล้ว “ปิยะ ศาสตรวาหา” จะกลั้นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติเอาไว้ไม่อยู่ พร้อมบรรยายความในใจออกมาได้อย่างซื่อตรงว่า

“ทุกเพลงที่ผมทำออกไป ผมเพิ่งรู้ว่ามันเข้าไปพัวพันกับชีวิตคนเยอะมากจริงๆ”

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/YKPBpage