ธงทอง-ปงปอง ‘ชื่อ’ สำคัญฉะนี้/หลังลับแลมีอรุณรุ่ง ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

ธงทอง-ปงปอง

‘ชื่อ’ สำคัญฉะนี้

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทยได้จัดการอภิปรายทางวิชาการขึ้น มีสาระเกี่ยวกับการตั้งชื่อของคนไทยยุคปัจจุบัน และปัญหาหนักอกที่เกิดขึ้นกับทางราชการ

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสไปร่วมวงสนทนาดังกล่าวด้วย นอกจากความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่นำไปแลกเปลี่ยนแล้ว ผมยังได้รับความรู้และข้อมูลที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่จะขอนำมาแบ่งปันกันในวันนี้ครับ

ขึ้นต้นปรารภกันเสียก่อนว่า ชื่อ นั้นมีความสำคัญสำหรับบ่งบอกให้รู้ได้ว่าเรากำลังพูดกันโดยเฉพาะเจาะจงหมายถึงคนใด หรือสิ่งใดชิ้นใด นั่นแปลว่าชื่อมิได้ใช้หรือมีได้แต่เฉพาะมนุษย์คือคนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันอีกหลายแง่มุม

สมมุติว่าที่บ้านผมเลี้ยงหมาหลายตัว และผมไม่ตั้งชื่อหมาตัวใดตัวหนึ่งเป็นการเฉพาะเลย ทุกตัวผมก็เรียกว่าหมาเหมือนกันหมด ถ้าทำแบบนี้แล้วมีหมาสักสิบตัว ชีวิตคงสับสนน่าดู

นึกแบบนี้แล้วชื่อหมาแต่ละตัวก็มีความสำคัญอยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

ชื่อของสิ่งของหรือสถานที่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น คิดจะนัดประชุมประท้วงรัฐบาลที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ้าสะพานสวยงามตรงนั้นไม่มีชื่อกำหนดแน่นอนว่าชื่อผ่านฟ้าลีลาศแล้ว อย่างเก่งเราก็บอกได้แต่เพียงว่า สะพานที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างถนนราชดำเนินกับถนนราชดำเนินนอก

ขืนนัดเหมือนกันแบบนี้ คงหากันไม่เจอหรอกครับ

 

กลับมาพูดถึงชื่อของคนเราและกล่าวถึงคนไทยโดยเฉพาะ เราจะเห็นว่ามีวิวัฒนาการอย่างน่าสนใจ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่

ชื่อรุ่นแรกหรือชื่อรุ่นดึกดำบรรพ์ ย้อนขึ้นไปถึงสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาโน่น ชื่อที่ปรากฏอยู่ในเอกสารต่างๆ รวมตลอดถึงจารึกที่อยู่บนโบราณวัตถุ มักเป็นชื่อพยางค์เดียว หรืออย่างมากก็เพียงแค่สองพยางค์ เช่น นางเสือง พระชนนีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น

เมื่อเป็นพระนามของเจ้านายที่เป็นพระนามลำลองเรียกขานกันในครอบครัว ไม่ใช่พระนามยืดยาวที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ ก็มักเป็นพระนามสั้นๆ เช่น เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้านายสองพี่น้องที่ทรงทำสงครามกลางเมืองกันเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ และผลปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ สมบัติจึงน่าจะตกแก่เจ้าสามพระยา

พระนามลำลองในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักจะวนเวียนอยู่กับธรรมเนียมการตั้งชื่อเด็กชายหญิงที่ใช้คำบอกเพศ ลักษณะน่ารัก น่าเอ็นดู หรือบอกลำดับก่อนหลังในครอบครัว ได้แก่คำว่า ชาย หญิง ใหญ่ โต เล็ก เอียด น้อย เอียดน้อย กลาง เหล่านี้เป็นต้น

ชื่อคนธรรมดาก็เหมือนกันครับ โดยมากแล้วใช้คำภาษาไทยเรียบง่ายเพียงพยางค์เดียวหรือสองพยางค์มาตั้งเป็นชื่อ ลองนึกชื่อชาวบ้านบางระจันว่าชื่ออะไรกันบ้างไหมล่ะครับ

นายแท่น นายดอก นายอิน นายเรือง นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่

สองท่านหลังนี้เห็นจะเป็นเพราะมีนายจันหลายคนในกองทัพ และมีนายทองแสงมากกว่าหนึ่งคน จึงต้องมีสร้อยนามมาต่อขยายเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังพูดถึงนายจันคนที่มีหนวดโค้งเรียวเหมือนเขี้ยวขึ้นไปเหนือปากทั้งสองข้าง และเป็นนายทองแสงคนที่ตัวใหญ่โต ไม่ใช่นายทองแสงคนตัวเล็ก

 

สังเกตไหมครับว่าชื่อในยุคแรกที่กำลังพูดกันถึงนี้มักเป็นคำไทยแท้ๆ ยังไม่มีคำภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตเข้ามาปะปน

ต่อมาน่าจะในราวรัชกาลที่ห้าหรือหลังจากนั้นลงมาอีกหน่อยหนึ่ง ผมสันนิษฐานเอาเองว่าคนเรามีความรู้มากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น เห็นคำที่มีความไพเราะในทางสุ้มเสียงและมีความหมายเป็นมงคล ก็นำเอาคำที่พบเห็นเหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อของลูกหลาน

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ดูชื่อพ่อและแม่ของผมเป็นตัวอย่างก็ได้

แม่ผมชื่อ สุคนธ์ เป็นคำสองพยางค์ รากศัพท์มาจากทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต แปลว่ากลิ่นหอมหรือเครื่องหอม

ส่วนพ่อผมนั้นชื่อ ธัชทอง คำว่า ธัช มีต้นทางมาจากภาษาบาลีแปลว่า ธง ส่วนคำว่าทองที่ตามท้ายมานั้นเป็นภาษาไทยแท้ คือทองคำนั่นแหละครับ

ธรรมเนียมการตั้งชื่อที่นิยมใช้ชื่อที่มีความหมายดี มีเสียงไพเราะ มีตัวอักษรที่ไม่เป็นกาลกิณี หากแต่มีแต่ตัวอักษรที่ส่งเสริมคุณสมบัติในทางบวกตามตำราตั้งชื่ออย่างนี้ ยังตกทอดมาถึงคนรุ่นผม

จำนวนพยางค์ที่ประกอบเป็นชื่อก็อยู่ในราวสอง สาม หรือสี่พยางค์ เกินกว่าจำนวนนี้ไปก็พบเห็นได้น้อยแล้ว

ต่อไปนี้เป็นชื่อของคนรุ่นผม ที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่ว่ามาแล้วข้างต้นครบถ้วนทุกประการ ตัวอย่างเช่น ชาคร เอื้อมพร ทองอุไร ภัทรศิลป์ ปราการ เลิศลักษณา บัวขาว วิศาล

รวมทั้งผม ธงทอง ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาไทยที่สุดแล้ว ไม่มีภาษาต่างประเทศเข้ามาเจือปนเลย

 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เกิดมีความนิยมอย่างใหม่ขึ้น คือความนิยมเปลี่ยนชื่อที่มีมาแต่เดิมตามแบบหนึ่งพยางค์สองพยางค์ที่ว่ามาข้างต้นให้มีความยืดยาวขึ้น โดยจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ หรือบางทีก็เป็นการแต่งความหมายขึ้นมาเองโดยไม่ยึดโยงกับหลักวิชาใด ตัวอักษรที่เลือกใช้ก็เลือกตัวอักษรที่มีลักษณะพิเศษ เช่น มีเชิงมีฐานหรือมีเครื่องหมายทัณฑฆาต ( ) ประกอบอยู่ในคำที่เป็นชื่อ

ชื่อแบบนี้เขาบอกว่าสะกดแล้วสวยงาม น่าดู เก๋ไก๋ครับ

ลองดูตัวอย่างชื่อคนไทยสมัยนี้สักสี่ห้าคนครับ

กุญจ์สิริลัญจกร พจชรดลญา พิชญาพิสิฏฐ์เสก ภีมรจรัษพุทธิพงษ์ และสกธินชารินทร์พธา

ใครอ่านและแปลได้โปรดยกมือขึ้น ฮา!

ความนิยมตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อให้มีลักษณะดังที่ว่านี้มาเร็วและมาแรงพอสมควร ผมได้เคยพูดคุยกับท่านคณบดีที่มีหน้าที่อ่านชื่อบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ชื่อลักษณะนี้มีปัญหาที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ทุกท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรถามเจ้าตัวว่าจะให้อ่านว่าอะไร เพราะไม่มีทางเลยที่เราจะเดาได้

เมื่อทราบจากเจ้าตัวแล้วว่าจะให้อ่านอย่างไร ก็เขียนเป็นคำอ่านกำกับไว้ในกระดาษที่ถือเพื่ออ่านกราบบังคมทูล อ่านซ้อมออกเสียงให้คุ้นปากคุ้นลิ้น ถึงวันทำหน้าที่จริงก็สบายครับ อ่านไม่ผิดแน่

 

ในที่ประชุมเสวนาดังกล่าว ผู้แทนกรมการปกครองยกตัวอย่างว่ามีคนที่ชอบเปลี่ยนชื่อรายหนึ่ง ขณะนี้อายุ 34 ปี เปลี่ยนชื่อมาแล้ว 31 ครั้ง

ลองขยี้ตาอีกครั้งก็จะอ่านได้เหมือนเดิมครับ 34 ปี 31 ครั้ง!

ผมนึกว่าเจ้าตัวเองคงจำชื่อในอดีตเรียงลำดับจนถึงปัจจุบัน ไม่น่าได้เหมือนกัน

เราพูดคุยกันว่า สาเหตุหนึ่งที่เกิดผลเช่นนี้ขึ้น นอกจากเหตุผลในเรื่องของการเชื่อถือโชคลางหรือหมอดูแนะนำมาแล้ว เหตุอีกข้อหนึ่งอาจเนื่องมาจากกระบวนการเปลี่ยนชื่อเล่นของประเทศไทยนั้นง่ายเหลือเกิน ค่าธรรมเนียมก็ดูเหมือนจะเพียงแค่ 100 บาท ค่าธรรมเนียมเพียงแค่นี้หลายคนเขาไม่กลัวครับ

เช้าเปลี่ยนชื่อหนหนึ่ง ตอนบ่ายเปลี่ยนอีกหนหนึ่งก็ยังได้

เจ้าพนักงานที่อยู่ตามเขตตามอำเภอต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ขอเปลี่ยนชื่อเสมอ ถ้าไม่เข้าข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิด เช่น ต้องไม่เป็นคำหยาบคาย หรือพ้องกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หรือพระนามสมเด็จพระราชินี

ผมลองเสนอในที่ประชุมว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งแรก จะคิด 100 บาทตามเดิมก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนชื่อครั้งต่อไปต้องขอเพิ่มจำนวนเงินบ้างล่ะครับ จะเป็น 1,000 หรือ 2,000 บาทก็ว่ากันไป และอาจต้องกำหนดจำนวนครั้งสูงสุดที่จะขอเปลี่ยนชื่อได้

ลองคิดกันดูนะครับ

ระหว่างที่ยังคิดไม่ออก มีคนเขาพูดกันมากว่า ชื่อที่ขึ้นต้นด้วย ป.ปลา ไม่ว่าจะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่นถูกโฉลกกับการเมืองไทยยิ่งนัก นายกฯ ปัจจุบันก็ พล.อ.ประยุทธ์ รองนายกฯ รักษาการนายกฯ ก็พี่ป้อม แถมยังมีพี่ป๊อก น้องแป๊ะอยู่ในคิวอีก

พรุ่งนี้ผมว่าจะไปอำเภอ ขอเปลี่ยนชื่อเป็น ปงปอง ดีไหมครับ