ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน
มรสุม ‘อสูร’ ถล่ม ‘ปากีสถาน’
ฤดูมรสุมของปากีสถานปีนี้ เป็นมรสุม “อสูร” ที่มีฤทธิ์เดชร้ายกาจจริงๆ นับจากเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เกิดพายุฝนถล่มปากีสถานอย่างหนักหน่วงที่สุดในรอบ 60 ปี บางพื้นที่ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติถึง 500% สร้างความเสียหายให้กับชาวปากีสถานครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่บันทึกในประวัติศาสตร์
มรสุมหรือ Monsoon ในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่าเป็นคำที่มาจาก Mausim ในภาษาอาหรับ แปลว่าฤดูกาล (season) ใช้เรียกลมที่เกิดในทะเลอาหรับ ต่อมานำคำนี้ไปใช้เรียกลมที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของโลกด้วย
การเกิดลมมรสุม เป็นผลจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างอุณหภูมิพื้นดินและพื้นน้ำมหาสมุทร ทำนองเดียวกับลมบกลมทะเล เช่น ในฤดูหนาว อุณหภูมิภาคพื้นทวีปเย็นกว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงกว่าและลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศเหนือทวีปไหลเข้าไปแทนที่
มรสุมหรือลมประจำฤดูที่มีกำลังแรงจัดที่สุด ได้แก่ มรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย
ฤดูมรสุมของปากีสถาน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน กระแสลมจากมหาสมุทรจะหอบเอาความชื้นไปสู่ใจกลางประเทศปากีสถาน ส่งผลให้เกิดฝนตกราวๆ 65-75% ของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยวันละ 14.8 นิ้ว เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมของชาวปากีสถาน
แต่ฤดูมรสุมของปากีสถานปีนี้ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 8 สัปดาห์ เกิดมวลน้ำมหึมาสะสมบนเทือกเขาสูง ผนวกกับธารน้ำแข็งบนยอดเขาหิมาลัยละลาย ไหลบ่าทะลักสู่แม่น้ำสินธุผ่านเมืองต่างๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
ผู้คนกว่า 1,100 คนเสียชีวิตจากเหตุกระแสน้ำซัดอาคารบ้านเรือนราว 1 ล้านหลังพังพินาศ ถนนราว 3,300 กิโลเมตรเจอน้ำกัดเซาะเสียหาย เขื่อน สะพาน พังทลาย อาคารโรงเรียน โรงพยาบาล ทุ่งข้าวสาลี ไร่ฝ้าย ได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ
กระแสน้ำกระชากสัตว์เลี้ยง ทั้งวัว แพะ แกะ ราว 7 แสนตัวหายไปในมวลน้ำ
ชาวปากีสถานที่รอดชีวิตจาก “มรสุมอสูร” ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสกว่า 33 ล้านคน
ถ้าใครยังสงสัยแปลกใจว่า เหตุการณ์น้ำท่วมของปากีสถานคราวนี้ทำไมจึงหนักหนาสาหัสถึงขึ้นมีผู้เสียชีวิตเป็นพันคน ลองคลิกอินเตอร์เน็ตดูข่าวน้ำท่วมปากีสถาน จะเห็นภาพมวลน้ำก้อนมหึมาปนโคลน ไหลบ่าทะลักสู่พื้นที่ด้านล่างอย่างเชี่ยวกราก ขนาดตึก 5 ชั้นของโรงแรมหรูริมฝั่งน้ำยังถูกแรงน้ำกระชากจนพังกระจุย
ชาวเมืองสินธุซึ่งเป็นจุดที่น้ำท่วมหนักเล่าให้สื่อฟังว่า ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 2 เดือน จากนั้นปลายเดือนสิงหาคม น้ำในคลองใกล้ๆ บ้านเอ่อล้นออกมาอย่างรวดเร็ว เพียงคืนเดียวระดับน้ำสูงกว่า 3 เมตร ผู้คนต่างหนีเอาตัวรอด แต่กระแสน้ำแรงมาก บางคนถูกน้ำพัดร่างหายไป
ความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมของปากีสถาน ประเมินว่าจะต้องใช้เงินฟื้นฟูบูรณะ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 360,000 ล้านบาท
วันนี้ปากีสถานกลายเป็นดินแดนโศกนาฏกรรมสังเวยปรากฏการณ์ “โลกร้อน” อีกแห่งทั้งๆ ที่ปากีสถานเป็น 1 ในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำสุดในโลก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุทำให้สภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวน
เมื่อปี 2562 ปากีสถานปล่อยก๊าซพิษออกมาเพียง 0.5% เทียบกับไทย เรายังปล่อยมากกว่า (0.76%)
ถ้าเอามาเทียบกับจีนหรือสหรัฐ คนละเรื่องกันเลย
จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 28.18% ของปริมาณที่ปล่อยจากทุกประเทศทั่วโลก ส่วนสหรัฐปล่อยตามมาเป็นอันดับสอง 14.02%
คุณอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาเตือนหลังเกิดภัยพิบัติปากีสถานว่า ชาวโลกมัวแต่หลับใหลในท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคเอเชียใต้เป็น 1 ในพื้นที่ที่กลายเป็นจุดวิกฤตของโลกร้อน คนที่อยู่ในบริเวณจุดนี้มีโอกาสเสียชีวิตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากถึง 15 เท่า
“ชาวโลกประสบพบเห็นสภาพภูมิอากาศเลวร้ายสุดขั้วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังเมินเฉยไม่สนใจกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเมินเฉยอย่างนี้จะทำให้ความเสี่ยงกับภัยพิบัติเกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง” เลขาธิการยูเอ็นระบุ
ผลพวงจากเหตุน้ำท่วมในปากีสถานสร้างความเดือดร้อนตามมาอีกมากมาย รัฐบาลปากีสถานบอกว่า แหล่งปลูกฝ้ายจมอยู่ใต้น้ำทำให้ผลผลิตฝ้ายลดลงอย่างแน่นอน
ปากีสถานส่งออกฝ้ายเป็นอันดับ 5 ของโลก เมื่อผลผลิตลดลง ราคาฝ้ายในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านภาวะเงินเฟ้อของปากีสถานหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เดิมทีเมื่อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 24.9% สูงที่สุดในภูมิภาค พอมาเจอน้ำท่วม ค่าเงินเฟ้อพุ่งไปที่ 27.3% เพราะพืชผลการเกษตรเสียหายยับเยิน เกิดภาวะสินค้าขาดแคลนอย่างหนัก แค่ราคามะเขือเทศก็แพงขึ้น 5 เท่าตัว แถมยังหาซื้อยากอีกต่างหาก
“อาบิด ซูเลรี” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศของปากีสถานบอกว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนในปากีสถานสูงที่สุดในรอบ 30 ปี มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 780% ถือได้ว่าปากีสถานเข้าสู่ยุคสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather) และเหตุการณ์อากาศวิปริตทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม ร้อนแล้งจะเกิดบ่อยขึ้น นานขึ้น
ก่อนหน้าฤดูมรสุม ปากีสถานเจอคลื่นความร้อนเมื่อเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงกว่า 50 ํc
ทางตอนเหนือปากีสถานมีพื้นที่ที่เป็นธารน้ำแข็งชื่อว่า “กิลกิต-บัลติสถาน” (Gilgit-Baltistan) ปกคลุมขนาดใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศเดินทางเข้าไปสำรวจพบว่า คลื่นความร้อนส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลายมากถึง 16 จุด เทียบกับปีที่แล้ว มีเพียง 6 จุดเท่านั้น
ธารน้ำแข็งละลายเป็นมวลน้ำบวกกับปริมาณน้ำฝนที่ตกไม่ขาดสาย เท่ากับเป็นการเพิ่มมวลน้ำไหลทะลักจากภูเขาสูงสู่พื้นที่ราบด้านล่างของปากีสถานมีความเร็ว แรง เชี่ยวกราก
แต่ใช่ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก ร้อนจัด จะเกิดเฉพาะปากีสถาน อีกไม่ช้านานทั่วโลกจะต้องเจอเหตุการณ์เหมือนๆ กับปากีสถาน ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ และอาจจะหนักกว่าปากีสถานเสียด้วยซ้ำ
ตราบใดที่ชาวโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณเข้มข้นอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ความชื้นในอากาศมีมากขึ้น
ถ้าร้อนขึ้นเฉลี่ย 1 ํc จะมีความชื้นเพิ่ม 7% จะเกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าปกติ
ฝนยิ่งตกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองมากขี้น ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของปากีสถานเป็นเทือกเขาสูง น้ำที่ไหลลงสู่ด้านล่าง ความเร็วแรงบวกกับธารน้ำแข็งที่ละลายเป็นอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น เท่ากับเติมฤทธิ์เดชในกระแสน้ำ
ดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 8
แต่ปากีสถานไม่ได้เตรียมแผนป้องกันมหันตภัยไว้เลย ทั้งๆ ที่เคยเกิดเหตุน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2563 ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2,000 คน
สําหรับประเทศไทย ดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ จัดอยู่ในอันดับ 9 ถัดจากปากีสถานเพียงอันดับเดียว
ไทยจึงมีความเสี่ยงเรื่องของความร้อนแล้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่ถึงขั้นร้อนสุดขั้ว หรือมีฝนตกหนักสุดขั้วเหมือนปากีสถาน แต่คนไทยทั้งประเทศรับรู้ได้ว่าเมื่อถึงฤดูร้อน สัมผัสอากาศร้อนแรงมากขึ้น บางวันร้อนจนผิวไหม้
ในฤดูฝน ฝนก็ตกหนักหน่วง แถมยังมีเมฆดำทะมึนฟ้าผ่าฟ้าร้องดังสนั่นหวั่นไหวราวกับโลกจะแตก
ถ้ารัฐบาลไทยที่มีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ยังไม่รู้สึกทุกข์ร้อน แสดงอาการเมินเฉยเหมือนที่รัฐบาลปากีสถานนิ่งดูดายทั้งที่ผ่านเหตุร้ายมาแล้ว
ผมมั่นใจว่าคนไทยจะอยู่ในความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่ต่างไปจากชาวปากีสถาน •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022