คณะทหารหนุ่ม (5) | คึกฤทธิ์สอบตก…

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

4เมษายน พ.ศ.2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งลงสมัคร ส.ส.ในเขตดุสิต “เขตทหาร” พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการ “เอาคืน” จากฝ่าย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งแม้เกษียณายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังมีอำนาจบารมีในหน่วยทหาร

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เสียงมากที่สุด จึงเตรียมจัดตั้งรัฐบาล

และปรากฏข่าวว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เป็น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่คณะทหารหนุ่มไม่ให้ความเชื่อถือศรัทธาในฐานะ “ทหารอาชีพ” แล้ว!

 

เคลื่อนไหวครั้งที่สอง
: ไม่เอากฤษณ์

13 เมษายน พ.ศ.2519 คณะทหารหนุ่มเคลื่อนไหวครั้งที่สอง เป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะทางการเมืองครั้งแรก โดยรวมตัวกันเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นการภายในที่บ้านพัก คณะทั้ง 5 นาย ยศสูงสุดเพียงพันโท ประกอบด้วย พ.ท.จำลอง ศรีเมือง พ.ท.มนูญ รูปขจร พ.ท.สาคร กิจวิริยะ ร.ท.สุรพล ชินะจิตร และ ร.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ใน “ยุทธการยึดเมือง พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ” ไว้โดยละเอียดดังนี้

“เช้าของวันที่ 13 เมษายน 2519 ผมก็ได้รับแจ้งจากพี่นูญว่า ‘ไปบ้านนายกฯ เสนีย์กัน’ ก็มีพลพรรคมากหน้าหลายตากันอยู่หรอกครับ แต่พอพี่นูญและพี่จำลองแจ้งให้ทราบว่าจะไปบ้านนายกฯ เสนีย์กัน และจะพูดเรื่องอะไรกันแล้วเท่านั้น ก็ปรากฏว่าค่อยๆ หายกันไปทีละคนสองคน ที่เหลือจริงก็มีเพียง 5 คนเท่านั้นครับ

5 คนที่ว่านี้ก็คือพี่นูญ พี่จำลอง พี่โป้ (พ.ท.สาคร กิจวิริยะ ปัจจุบันพันเอกนอกราชการ) เพื่อนชิ (ร.อ.สุรพล ชินะจิตร ปัจจุบันพันโทนอกราชการ) และผม

ผมไม่โทษพี่ๆ น้องๆ พวกนั้นหรอกครับที่กลับกันไปก่อน คงเป็นเพราะรอกันมานานมากไปกระมังถึงได้เซ็งและกลับกันไปหมด หรือไม่ก็จำนวนคนของกลุ่มนั้นมากเกินพอนั่นเอง

จุดนัดพบของเราตอนนั้นคือร้านค้าหน้าปากซอยประสานมิตรครับ

พวกเรารออยู่จนเกือบ 13.00 น. ในที่สุดก็จะได้พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่ข้อแม้ของพวกเราก็คือ จะขอพูดกับ ม.ร.ว.เสนีย์คนเดียวเท่านั้น

มีคนนำพวกเราไปนั่งรออยู่ที่บ้านเช่าหลังหนึ่งในซอยศูนย์วิจัย บรรยากาศที่พบกันครั้งนั้นผมยังจำได้ดีเพราะมันเป็นธรรมดาและกันเองอย่างที่สุด พวกเราขออนุญาตปกปิดชื่อและตำแหน่งไว้ บอกแต่เพียงว่าเป็นกลุ่มนายทหารที่รักและหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่จะขอเปิดเผยตัวเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วเท่านั้น

ทีแรกผมนึกว่าท่านจะโกรธหรือไม่พอใจ เปล่าเลยครับ คงเป็นเพราะท่านเคยเป็นอดีตหัวหน้าเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เคยชินกับการปิดลับมาแล้วมั้งคับ

พวกเราได้ผลัดกันพูดและออกความเห็น พี่จำลองพูดก่อน พี่นูญ พี่โป้ เพื่อนชิและผมสลับกันไปเกี่ยวกับผลดีผลเสีย ความยากง่ายของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ท่านทำได้แน่ เพราะทหารมีระบบระเบียบแบบธรรมเนียมของทหารอยู่แล้ว การกลั่นกรองและเสนองานเป็นหน้าที่ของฝ่ายอำนวยการของเหล่าทัพนั้นๆ อยู่แล้ว กว่าจะถึงระดับรัฐมนตรีก็เพียงแต่จะอนุมัติหรือไม่เท่านั้น หรือแม้แต่จะสั่งการให้ปฏิบัติที่ไม่อยู่ในข้อเสนอมาก็ทำได้

ผมได้พูดถึงความกล้าหาญและความเสียสละของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่ท่านยอมเป็นหัวหน้าเสรีไทยทำงานกู้บ้านกู้เมืองแล้วนั้น มันเสี่ยงยิ่งกว่าการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเป็นไหนๆ ครับ

ท่านไม่รับปากแต่ก็ตกลงยอมรับข้อเสนอไว้พิจารณา ซึ่งแค่นี้ก็ดีที่สุดสำหรับพวกเราแล้วครับ

ถึงแม้ว่าข้อเสนอของกลุ่มจะได้รับการตอบสนองในขณะนั้นก็ตาม แต่ในวันที่ 21 เมษายน 2519 พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก็ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลชุดที่ 38”

เป็นเช่นนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเชื่อมั่นในอำนาจบารมีของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ทั้งในกองทัพและทางการเมือง การเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมย่อมส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจต่อรองมากขึ้นทั้งต่อกองทัพและพรรคการเมือง

อนึ่ง ควรทราบด้วยว่า พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ เมื่อครั้งดำรงยศร้อยโทและกำลังศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก คือ 1 ในจำนวน 100 คนผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในที่สุด

 

การเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว

กฎเหล็กในการปฏิบัติการทางทหารข้อหนึ่งที่ผู้ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกจะคุ้นเคยอย่างยิ่งและจะคุ้นเคยมากขึ้นไปอีกในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะในการรบคือ ไม่มีปฏิบัติการทางทหารใดๆ ที่จะสำเร็จตามเป้าหมายทุกครั้งไป

ไม่มีปฏิบัติการทางทหารใดๆ ที่ไม่มี “ความเสี่ยง”

แต่ขอเพียงให้เป็น “ความเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว-Calculated Risk”

การรวมตัวเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้งนี้นับว่ามี “ความเสี่ยง” อยู่ไม่น้อย ในฐานะทหารประจำการที่ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจชี้เป็นชี้ตายใต้กฎเหล็กแห่ง “สายการบังคับบัญชา”

จริงอยู่ที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว สถานะทางกฎหมายจึงเสมอเป็นเพียง “นายทหารนอกราชการ” คนหนึ่ง ไม่มีอำนาจใดๆ ในการสั่งการอีกแล้ว

ขณะที่ในความเป็นจริง อำนาจบารมียังคงมีอยู่ล้นเหลือผ่านเครือข่ายอำนาจใหม่ซึ่งก็ยังเป็นหนึ่งเดียวกับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การออกหน้าคัดค้านในลักษณะ “ท้าชน” กับ “ว่าที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคณะทหารหนุ่มครั้งนี้จึงนับว่าอันตรายต่อตนเองเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นโครงสร้างส่วนบนของกองทัพซึ่งนอกจากยังไม่สมบูรณ์เหมือนครั้งระบอบ “ถนอม-ประภาส” แล้วก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ระดับกองบัญชาการทหารสูงสุดนอกจากไม่มีกองกำลังที่เป็นจริงในบังคับบัญชาแล้ว

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็กำลังจะเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2519

พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก ก็จะเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2519 เช่นเดียวกัน

ขณะที่การส่งต่ออำนาจมายังผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ก็ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ระหว่าง พล.อ.เสริม ณ นคร กับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ

พิจารณาปัญหาโครงสร้างการบังคับบัญชาของนายทหารระดับสูงสุดเช่นนี้แล้ว แม้การเคลื่อนไหวของคณะทหารหนุ่มจะมีลักษณะสุ่มเสี่ยง แต่ก็เป็น “การเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว” จึงตัดสินใจทุ่มเดิมพันครั้งแรกนี้เพื่ออนาคตระยะยาวของกองทัพมิให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง หาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ผลที่ออกมาเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอันปรากฏนาม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ.2519 จึงน่าจะสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับคณะทหารหนุ่มมิใช่น้อย

แต่ก็เป็นอยู่ไม่นานเมื่อ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันเสียก่อนเข้ารับหน้าที่เพียง 7 วันเมื่อ 28 เมษายน 2519

พรรคประชาธิปัตย์จึงเลือก พล.อ.ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ไม่มีประวัติเสียหายทางการเมืองและเคยเป็นตัวเลือกของพรรคประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2518 เข้ารับตำแหน่งแทน

ซึ่งไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากคณะทหารหนุ่ม

เมื่อรัฐบาลเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ก็ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งย้าย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ จากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก แล้วแต่งตั้ง พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกแทน

ด้วยคำอธิบายว่าเป็นการ “ปลดชนวนระเบิดเวลา” ที่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วางไว้ และเพื่อให้ประเพณีการสืบทอดตำแหน่งของทหารเป็นไปตามครรลองคลองธรรม

ซึ่งก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากคณะทหารหนุ่มเช่นกัน