80 ปี น้ำท่วมพระนคร 2485/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

80 ปี น้ำท่วมพระนคร 2485

 

“นิราศแห้ง น้ำสวม ท่วมเคหา มะเมียปี ที่สามสิบ เดือนกันยา พ.ศ.สองสี่ แปดห้า น้ำมากวน”

(พระยาอรรถศาสตร์ไพศาลโสภณ, 2501, 35)

 

ภายหลังที่คลื่นทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพาสาดซัดผ่านไทยไปแล้ว

ไม่นานจากนั้น สายน้ำจากภาคเหนือไหลบ่าลงมาท่วมพระนครนับแต่ปลายเดือนกันยายนจนถึงปลายพฤศจิกายน

อันเรียกมหาอุทกภัยคราวนั้นว่า “น้ำท่วมพระนคร 2485”

น้ำท่วมพระนคร 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ

ชีวิตคนไทยครั้งน้ำท่วม 2485

บทความหลายตอนในชุดนี้เป็นความพยายามเผยให้เห็นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นจากหลากหลายมิติ ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชนชั้น บทบาทของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน บทเพลงและภาพยนตร์ปลอบขวัญน้ำท่วมให้คนไทยมีจิตใจเข้มแข็งในการเผชิญหน้ากับอุทกภัยครั้งสำคัญท่ามกลางสงครามอันระเบิดขึ้นในเวลานั้น ด้วยการปะติดปะต่อจากหลักฐานบันทึกความทรงจำ บทกวีของคนร่วมสมัย ผ่านฉากพระนครน้ำท่วมในเรื่องสั้นหัสคดีอย่างพล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต และเรื่องสั้นแนวผีของเหม เวชกร รวมทั้งภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย เป็นต้น

นับแต่ช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2485 น้ำในแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นท่วมเมืองเชียงใหม่และลำพูน ผนวกกับมีน้ำป่าเข้าผสมไหลหลากลงมาสมทบกับแม่น้ำปิง ทำให้ปริมาตรน้ำสูงผิดปกติ ที่เชียงใหม่มีน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร กระแสน้ำต่างไหลหลั่งลงแม่น้ำปิง วัง น่าน ป่าสัก น้ำในปีนั้นสูงล้นตลิ่ง ทำให้จังหวัดที่ต่ำลงมา เช่น ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี มีระดับน้ำสูงเกินกว่าหนึ่งเมตร กระแสน้ำไหลลงมาทางใต้อย่างต่อเนื่อง (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2558, 93)

นายกรัฐมนตรีตรวจน้ำท่วม ศรีกรุง 3 ตุลาคม 2485

ด้วยฝนตกไม่หยุดหย่อนแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา กระแสน้ำจากภาคเหนือไหลบ่ามายังปากน้ำโพ นครสวรรค์ในกลางเดือนกันยายน นครสวรรค์เสียหายหนักมาก เพราะเป็นพื้นที่รวมน้ำจากแม่น้ำ 4 สายที่ไหลมาจากภาคเหนือ เช่นเดียวกับที่อยุธยา ประสบความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน นอกจากอยุธยาจะต้องรับน้ำจากเจ้าพระยาที่มาจากทางเหนือแล้ว จะสมทบด้วยแม่น้ำป่าสัก ทำให้นาข้าวล่ม เกิดโรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ในช่วงสงครามที่แสนทุกขเวทนายิ่ง (สรศัลย์, 97-98)

จากนั้นในปลายกันยายน กระแสน้ำก็ไหลมาถึงพระนคร น้ำเริ่มเอ่อล้นเข้าฝั่งจากพื้นที่ตอนเหนือ เช่น บางซื่อ บางเขน หลักสี่ ทุ่งพญาไท จากนั้นน้ำก็ท่วมไปทั่วทุกหัวระแหง (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2544, 438-439)

ไม่แต่เพียงเรือนแพของชาวบ้านริมแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำที่รุนแรงเท่านั้น แต่บ้านเรือนของเหล่าผู้ดีเก่าและข้าราชการแถวถนนสามเสน ที่อยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้รับผลด้วยเช่นกัน มีผู้บันทึกความทรงจำไว้ว่า น้ำเริ่มเอ่อเข้าสนามหน้าบ้านมาแต่ปลายเดือนกันยายน สูงราว 15 เซนติเมตร และในวันรุ่งขึ้น ระดับน้ำขึ้นสูงเป็น 30 เซนติเมตร น้ำเริ่มท่วมเข้าบ้านเรือนที่พื้นต่ำเริ่มจมน้ำ ร้านค้าโกลาหลเร่งทำร้านยกพื้นยกของหนีน้ำ ชาวบ้านร้านตลาดต่างหาวัสดุมาทำทำนบ พนังกั้นน้ำ ป้องกันน้ำเข้าบ้านทำเครื่องเรือนและสินค้าเสียหาย (สรศัลย์, 93)

ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคม ระดับน้ำในพระนคร “เจิ่งสูงขึ้นทุกวัน ลบฝั่งลบถนนหนทางทั่วไปเหมือนกรุงเทพฯ จมอยู่ในน้ำ ระดับน้ำสูงจากพื้นดินอย่างน้อยที่สุดถึงหัวเข่าขึ้นมาจนถึงราวอก จะไปไหนมาไหนต้องใช้เรือกันทั้งหมด” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 474)

นี่คือความรุนแรงของน้ำท่วมพระนครในยามต้นสงครามนั้น

ทั้งนี้ เคราะห์ดีที่ช่วงเวลาที่น้ำท่วมพระนคร อันเป็นห้วงเวลาที่ไทยตกอยู่ภายใต้สงครามมหาเอเชียบูรพานั้น กองทัพญี่ปุ่นบุกตะลุยพม่าและอินเดีย ส่งผลให้เครื่องบินสัมพันธมิตรไม่บินมาทิ้งระเบิด เพราะยังมัวสาละวนกับการถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีอยู่ หากฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าโจมตีทางอากาศในตอนนั้นแล้วไซร้ประชาชนไทยไม่รู้หลบที่ไหน เนื่องจากหลุมหลบภัยช่วงนั้นน้ำท่วมหมด (ขุนวิจิตรมาตรา, 474)

ถนนสายหนึ่งในพระนครครั้ง 2485 เครดิตภาพ : นัท เสน่ห์ภาพเก่า

น้ำท่วมปี 2485 หนักกว่าเมื่อ 2460

จากความทรงจำของคนร่วมสมัยบันทึกว่า ระดับน้ำขึ้นทุกวัน วันละ 15-20 เซนติเมตร ถนนหลายสายจมน้ำ รถราง รถเมล์ต้องหยุดให้บริการในปลายเดือนกันยายน และในที่สุด รถโดยสารทุกประเภทหยุดหมดทุกสายในวันที่ 1 ตุลาคมนั่นเอง (สรศัลย์, 96)

ระดับน้ำที่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องสร้างความยากลำบากในการเดินทางให้กับนักเรียน นิสิตนักศึกษา ในที่สุด โรงเรียนและมหาวิทยาลัยประกาศหยุดการเรียนการสอนปิดทุกแห่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ขณะนั้นระดับน้ำบนถนนสามเสนย่านบางกระบือสูงถึงราว 70 เซนติเมตร ส่วนในบ้านคนตามตรอกซอกซอยต่างๆ สูงเกือบ 1 เมตร ในขณะที่ระดับน้ำที่ลานพระรูปฯ สูงถึง 1.50 เมตร และคงระดับไปจนถึงช่วงงานวันปิยมหาราช ดังนั้น ในปี 2485 มีกิจกรรมวางพวงมาลาสักการะด้วยเรือ (สรศัลย์, 96)

ในช่วงนั้นมีข่าวลือว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2460 นั้นหนักกว่าครั้ง 2485 มาก ด้วยระดับน้ำในครั้งนั้นสูงถึง 5 เมตร แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตข่าวลือว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหากระดับน้ำสูงขนาดนั้น ระดับน้ำที่ลานพระรูปฯ จะต้องสูงถึงระดับเท้าม้าพระที่นั่ง หากเป็นจริงดังข่าวลือ คนกรุงเทพฯ ในครั้งจะไปอยู่ที่ใดกัน ความเสียหาย การล้มตายจะมากมายเพียงใด (สรศัลย์, 97)

จากความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา ผู้เกิดทัน เป็นผู้ใหญ่และรับราชการเมื่อครั้งระบอบเก่าเห็นว่า โดยเปรียบเทียบแล้วน้ำท่วม 2485 หนักว่า 2460 (ขุนวิจิตรมาตรา, 474) ทั้งนี้ ควรบันทึกด้วยว่า ระดับน้ำสูงสุดที่พระนครเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2485 สูงถึง 2.27 เมตร ส่วนเมื่อปี 2460 สูงราว 160.27 เซนติเมตร (พล.ต.ต.พีระพงศ์ ดามาพงศ์, 2546, 231)

หากเดินเข้ามาสังเกตระดับน้ำที่ใจกลางพระนคร เช่น ถนนเยาวราช ราชวงศ์นั้นมีระดับน้ำราว 10 เซนติเมตร ส่วนถนนที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ตามกำแพงเมืองเก่าแถบถนนพระอาทิตย์ ถนนมหาราช ถนนจักรเพชร โรงเรียนสวนกุหลาบ ย่านสะพานพุทธ ปากคลองตลาด ท่าพระจันทร์ ธรรมศาสตร์นั้นจะมีน้ำท่วมสูงกว่าในเมือง (สรศัลย์, 96-97)

ประชาชนพายเรือเล่นน้ำที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

แฟชั่นครั้งน้ำท่วม

แม้นค่านิยมการแต่งกายแบบใหม่ตามสมัยรัฐนิยมให้สุภาพบุรุษนุ่งกางเกงขายาว สุภาพสตรีนุ่งกระโปรง สวมหมวกและรองเท้า แทนการนุ่งโจงกระเบน เสื้อราชปะแตน เสื้อคอกระเช้า แล้วก็ตาม

แต่เมื่อน้ำท่วมมาถึงทั้งชายหญิงขณะนั้นต่างนิยมนุ่งกางเกงขาสั้น หากใครนุ่งขายาวต้องถลกขากางเกงขึ้นเหนือเข่า สวมรองเท้าสำหรับท่องน้ำ คือ รองเท้ายางรถยนต์ นั่นคือชุดลุยน้ำของประชาชน ในช่วงสงคราม สินค้าเริ่มขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น

จากการเดินลุยท่องน้ำจากหลายวันเป็นหลายสัปดาห์และหลายเดือนของชาวพระนคร โรคน้ำกัดเท้าได้กลายเป็นโรคที่ประชาชนเป็นกันทั่วทั้งเมือง ส่วนขี้ผึ้งรักษาโรคก็มีราคาแพง ตลับเล็กนิดเดียวราคา 1 บาท ใช้ได้ไม่กี่วันก็หมด สำหรับคนยากจนแล้ว พวกเขาใช้สารส้มมาตำให้ละเอียดละลายน้ำแล้วแช่เท้า (ลาวัลย์ โชตามระ, 2536)

ไม่แต่เพียงน้ำท่วมปี 2485 จะมีระดับน้ำลึกกว่าเมื่อปี 2460 เท่านั้น แต่ระยะเวลาในการท่วมยาวนานถึงราว 60 วันนั้น สร้างผลกระทบให้กับวิถีชีวิตของผู้คน การไปทำงานและการค้าขายอย่างยิ่งด้วย

รถม้าวิ่งรับผู้โดยสารในพระนคร เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี