มองทวนสวนกระแสอเมริกัน : ปังกัช มิชรา (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสอเมริกัน

: ปังกัช มิชรา (1)

 

Pankaj Mishra ปัญญาชนสาธารณะทวนกระแสชาวอินเดียเป็นนักเขียนนักวิจารณ์ชื่อดังในโลกสื่อสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมอังกฤษ เขามีผลงานหนังสือสิบเล่มรวมทั้ง ยุคคนเดือด : ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน (ที่ผมแปลจาก Age of Anger : A History of the Present, 2017) ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นคำอธิบายกระแสเอียงขวาที่แพร่กระจายในการเมืองทั่วโลกรอบทศวรรษหลังนี้อย่างหลักแหลมที่สุดเล่มหนึ่ง

ในบทสัมภาษณ์ข้ามรุ่นกับคนอเมริกัน Gen Z หลังสงครามเย็นแห่งนิตยสาร the drift เมื่อกลางปีนี้ชื่อ “ศรัทธาวิบัติต่ออเมริกา” (https://www.thedriftmag.com/a-catastrophic-loss-of-faith-in-america/) ปังกัชเสนอการอ่านตีความการเมืองโลกที่มองทวนสวนกระแสหลักของอเมริกากับโลกตะวันตกในท่ามกลางสงครามเย็นกับจีนและสงครามตัวแทนกับรัสเซียในยูเครนจากมุมประวัติศาสตร์ระยะยาวและภูมิรัฐศาสตร์อันกว้างออกไป เพื่ออธิบายว่าทำไมเขาไม่เห็นด้วยกับการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของตะวันตก

การถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีไปกำหนดเรื่องเล่าหลักของรัสเซียอย่างไร อะไรคือลูกคิดรางแก้วที่จีนกำลังดีดทางยุทธศาสตร์

และทำไมเขาจึงยังคงมีหวังในอนาคตอยู่ทั้งที่เผชิญกับสภาวการณ์เลวร้ายซ้ำซ้อนในโลกเยี่ยงนี้…

บรรณาธิการ : พวกเราเกิดในทศวรรษที่ 1990 ครับ สงครามเย็นน่ะไม่เคยเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือร่วมสมัยปัจจุบันกับเราเลย ที่เรารู้สึกก็คือคนรุ่นเรากำลังแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความขัดแย้งในยูเครนขณะนี้แตกต่างอย่างยิ่งจากคนยุคทศวรรษที่ 1960, 1970 และ 1980 เราอยากรู้ว่าอคติและความคิดตกค้างจากยุคสงครามเย็นแบบไหนครับที่ครอบงำพวกนักวิจารณ์กระแสหลักหรือแม้กระทั่งนักวิชาการอยู่?

ปังกัช : จริงครับว่าเส้นแบ่งใหญ่ในเรื่องเหล่านี้ทุกวันนี้ขีดแยกระหว่างพวกที่อยู่สมัยกำแพงเบอร์ลินพังทลาย (สัญลักษณ์การล่มสลายของบรรดารัฐคอมมิวนิสต์ในยุโรปกลางและตะวันออกเมื่อปี 1989 ดู บรรพต กำเนิดศิริ, ก่อนกำแพงเบอร์ลินจะสิ้นสูญ : สังเขปการปฏิวัติประชาชนในเยอรมันตะวันออก, สำนักพิมพ์พารากราฟ, 2559) กับคนรุ่นหนุ่มสาวกว่านั้นที่ประสบพบเห็นแต่กรณีตึกหอคอยคู่พังถล่มลงมา (สัญลักษณ์การก่อการร้ายวินาศกรรมของอัลเคด้าต่ออเมริกาในนครนิวยอร์กและที่อื่นๆ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ดู โจนาธาน บาร์เกอร์, เกษียร เตชะพีระ แปล, คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2548)

หลังเหตุการณ์ 9/11 มีช่วงขณะหนึ่งที่ผู้คนในสหรัฐรักสามัคคีกันและนานาชาติก็เห็นอกเห็นใจอเมริกา แต่แล้วมันก็แตกสลายไปอย่างรวดเร็วด้วยปฏิบัติการของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูกและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแบบเปิดปลายของมันซึ่งโดยแก่นสารแล้วลงเอยด้วยการทำลายล้างส่วนต่างๆ ของโลกลงขนานใหญ่ (ดู เกษียร เตชะพีระ, “ภาคหนึ่ง : ระบอบบุช”, บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547)

สำหรับคนรุ่นที่เกิดในทศวรรษ 1990 นั้น มันเป็นประสบการณ์ของบาดแผลปวดร้าวทางการเมืองไม่หยุดหย่อน เริ่มด้วยเหตุการณ์ 9/11 แล้วตามมาด้วยการก่อการกำเริบอันน่าขนพองสยองเกล้าในอิรัก แล้วก็ความล้มเหลวของรัฐบาลบุชผู้ลูกตอนเผชิญพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (https://www.nationtv.tv/news/378836296) แล้วก็ความทุจริตฉ้อฉลของเหล่าชนชั้นนำทางการเงินที่ถูกเปิดเผยออกมาโดยเศรษฐกิจการเงินล่มสลายในวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2008 (เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, openbooks, 2555)

และตบท้ายด้วยการหลอกลวงในสมัยประธานาธิบดีโอบามาซึ่งถูกเปิดโปงเมื่อจู่ๆ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็โผล่ “จากไหนไม่รู้” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

ผมคาดเดาว่ามันคงยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนอเมริกันรุ่นคุณที่จะแสดงท่าทีเทศนาอบรมศีลธรรมแก่โลกหรือจะคิดว่าหลังจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เรายังจะมีหน้าเข้าไปฉวยคว้าเอาการนำของโลกเสรีมาได้ง่ายๆ แบบนั้นอีก

 

ก่อนสงครามรุกรานยูเครนราวหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ The New York Times ลงข้อเขียนหลายชิ้น ว่าสงครามกลางเมืองอาจเกิดขึ้นได้อย่างไรในสหรัฐนะครับ ผู้คนขบคิดเรื่องนี้กันจริงจังทีเดียว มีการเขียนบทบรรณาธิการและบทความต่างๆ เกี่ยวกับการแตกดับของประชาธิปไตยในสหรัฐ

แล้วสงครามในยูเครนก็ปะทุขึ้น และทันใดนั้นประธานาธิบดีอเมริกันโจ ไบเดน ก็กลับกลายเป็นผู้นำของโลกเสรีไปเสียฉิบ หนังสือพิมพ์ทั้งหลายก็เริ่มใช้โทนเสียงแบบที่ว่า ผมสันนิษฐานว่าสงครามก็คงเป็นสุขภาวะของกิจการหนังสือพิมพ์ด้วยล่ะครับ ไม่แต่เป็นสุขภาวะของรัฐเท่านั้น อย่างที่แรนดอฟ เบอร์น บอกนั่นแหละ (Randolph Bourne, 1886-1918, ปัญญาชนนักเขียนหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันผู้เป็นปากเสียงของหนุ่มสาวผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคนสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

แล้วทางการเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐ) กับซีไอเอซึ่งเพิ่งปัดป่ายความล้มเหลวไม่เป็นท่าในอัฟกานิสถานออกจากตัวไปไม่ทันไร ก็เริ่มปล่อยข่าวให้สื่อสิ่งพิมพ์ว่าพวกเขานี่แหละครับอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางทหารของยูเครน หนังสือพิมพ์ Times และ Financial Times ของอังกฤษรีบลงพิมพ์คำแนะนำของปราชญ์อย่างโทนี แบลร์ (อดีตนายกฯ พรรคแรงงานของอังกฤษสมัยสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรัก ระหว่างปี 1997-2007) เฮนรี คิสซิงเจอร์ (อดีต รมว.ต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ สมัยสงครามอินโดจีนในทศวรรษ 1970) รวมทั้งอาชญากรสงครามรายอื่นๆ

นั่นมันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ?

ผมคิดว่ามันเกิดการหลุดขาดจากกันระหว่าง [สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการเมือง อเมริกันทุกวันนี้ว่ามันแยกขั้ว ขมขื่น เคียดแค้นกันขนาดไหน ว่ามันยากเย็นแสนเข็ญปานใดที่การเมืองหัวก้าวหน้าไม่ว่าประเภทไหนจะประสบความสำเร็จได้] กับ [ความคิดที่ว่าจิตวิญญาณเสรีภาพในต่างแดนนั้นกำลังสู้รบในมหายุทธ์กับระบอบอัตตาธิปไตยโดยมีอเมริกันคอยช่วยเหลือ] ผมเพียงคิดว่าเคราะห์ดีที่คนหนุ่มสาวไม่พลอยป่วยด้วยอาการหลุดขาดทางปัญญานี้ไปด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่ได้ก่อรูปโลกทัศน์ของตนในช่วงที่อเมริกันครองโลกอยู่ขั้วเดียวนั่นเอง

ทว่า การเกิดช่องว่างในการสังเกตเห็นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ระหว่างคนอเมริกันต่างรุ่นกันเท่านั้นนะครับ กรณีสงครามยูเครนยังเผยให้เห็นเหวลึกอันใหญ่หลวงทางประสบการณ์และความทรงจำระหว่างฝ่ายตะวันตกกับโลกที่เหลืออีกครั้งด้วย

ผมได้คุยกับเพื่อนชาวอินเดียและปากีสถานบางคนเรื่องนี้ กล่าวคือ ปฏิกิริยาของผู้คนล้อมรอบตัวเราต่อสงครามยูเครนนั้นมันช่างแตกต่างกันอย่างคมชัดเสียนี่กระไร ทั้งนี้ เพราะคนเอเชียใต้อย่างเราได้พบเห็นสงครามในละแวกบ้านของเราอย่างต่อเนื่องมานมนานแล้ว เราก็เลยงงงันนิดหน่อยกับปฏิกิริยาตอบสนองต่อสงครามยูเครนที่เราเห็น

แน่นอนล่ะครับผมหมายถึงปฏิกิริยาจากพวกนักการเมือง แต่ก็รวมทั้งจากนักหนังสือพิมพ์กระแสหลักด้วย ซึ่งแสดงออกมาราวกับว่าอะไรบางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้บังเกิดขึ้น มีอะไรบางอย่างในตัวพวกเราที่ยืนกรานครับว่าเอาเข้าจริงนี่ไม่ใช่ไม่เคยปรากฏมาก่อนขนาดนั้น และถ้าคุณคิดว่าใช่แล้วละก็ คุณต้องมีปัญหาร้ายแรงกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของคุณแน่ทีเดียว

และก็ไม่ใช่แค่ปัญหาความทรงจำเท่านั้นนะครับ คือเรารู้สึกอับอายขายขี้หน้าจนไปไม่เป็นเอาจริงๆ เมื่อประธานาธิบดีไบเดนหรือนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษเริ่มพูดถึงอินเดียภายใต้รัฐบาลนายกฯ โมดีว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่และพันธมิตรที่น่าจะเข้าร่วมยุทธการใหม่ในระดับโลกเพื่อต่อต้านระบอบอัตตาธิปไตยได้

มันตัดสินใจยากเหมือนกันนะครับว่าตกลงพวกผู้นำโลกเสรีเหล่านี้ตาบอดตาใสหรือประชดถากถางอย่างเสียดร้ายกันแน่

 

รัสเซียแสดงบทพิลึกพิสดารยิ่งนะครับในจินตนาการอังกฤษ-อเมริกัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ตอนสิ้นสงครามเย็นและตระหนักว่ายุคสมัยอันยิ่งใหญ่ยุคหนึ่งกำลังปิดฉากลงพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ตอนนั้นมีความสำนึกกันว่ามหายุทธ์บางอย่างที่พวกเขาทั้งหมดล้วนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยอย่างคลุมๆ เครือๆ ได้ยุติลง ถึงแม้การมีส่วนร่วมนั้นจะไม่เป็นอะไรมากไปกว่ารู้สึกหวั่นวิตกว่าอาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้ก็ตาม มีความสำนึกกันว่าเงามืดอันใหญ่หลวงที่บดบังเหนือชีวิตของพวกเขาบัดนี้ได้ปลาสนาการไป ว่าปรปักษ์อันยิ่งใหญ่ได้จากไปแล้ว

ในจังหวะปลอดโปร่งโล่งอกและใจฟูและมึนเมาอุดมการณ์นี่แหละครับที่รัสเซียเปิดฉากโครงการมหาวินาศในการเข้าร่วมเศรษฐกิจโลกตามแนวทางที่พวกอเมริกันกำหนดให้โดยพวกที่เรียกกันว่าไอ้หนุ่ม (มหาวิทยาลัย) ฮาร์วาร์ดที่นำโดยลาร์รี ซัมเมอรส์ (อดีต รมว.คลังสหรัฐปี 1999-2001) อย่าลืมความข้อนี้เสียนะครับ นั่นน่ะเป็นความพยายามครั้งใหญ่แห่งทศวรรษที่ 1990 ซึ่งลงเอยด้วยการถูกหยามหมิ่นศักดิ์ศรีและวินาศสันตะโรไม่มีชิ้นดีสำหรับรัสเซียทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ การแพทย์และมาตรฐานการครองชีพที่ล่มจมลงขนานใหญ่

ปูตินเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องของทั้งหมดนั้นครับ เขามาตอนสิ้นสุดช่วงระยะแห่งการแปรให้เป็นแบบอเมริกันที่ล้มเหลวนั้นและให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูระเบียบขึ้นใหม่ และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมเขายังเป็นที่นิยมของมหาชนรัสเซียทุกวันนี้ ปรากฏว่าความทรงจำเรื่องราวเหล่านี้หายไปหมดเลย กล่าวคือ เรื่องที่สหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับความวิบัติฉิบหายของสหภาพโซเวียตหลังสงครามเย็น หรือเรื่องที่ว่าผู้นำรัสเซียอย่างประธานาธิบดีกอร์บาชอฟและเยลต์ซินขอและได้คำมั่นจากเจ้านายผู้อุปถัมภ์ชาวอเมริกันของพวกเขาเกี่ยวกับการขยายตัวขององค์การนาโตไปจรดพรมแดนรัสเซีย

ทุกวันนี้เรายังคงพร่ำพูดกันอยู่เรื่องทำให้รัสเซียพ่ายแพ้และยูเครนชนะถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลแล้วนับแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมานะครับ

ยูเครนกำลังประสบภัยพิบัติในสงครามซึ่งอย่างดีพวกเขาก็จะเอาชนะได้แค่ช่วงสั้นๆ ผู้นำรัสเซียที่มือไม้ปั่นป่วนซวนเซกำลังข่มขู่คุกคามจะไต่บันไดการรบนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย

และจีนกับประเทศนอกตะวันตกอื่นๆ อีกหลายประเทศก็กำลังปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพันธมิตรตะวันตกเพื่อต่อต้านปูติน

แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังคงกระพือสงครามตัวแทนในยูเครนให้คุโชนโดยไม่คำนึงเอาเลยว่าผลสืบเนื่องจะเป็นเช่นใด ไม่เพียงแต่สำหรับยุโรปเท่านั้นนะครับ หากสำหรับประเทศจำนวนมากซึ่งพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ณ บัดนี้ขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่จากวิกฤตเงินเฟ้อร้ายแรงซึ่งอาจทำให้ต้องเผชิญกับทุพภิกขภัยขนานใหญ่ได้ ผมหมายถึงนานาประเทศที่พึ่งพาการค้ากับรัสเซียและยูเครนโดยเฉพาะสินค้าข้าวสาลีและปุ๋ยเคมี เรากำลังจ้องมองลงไปในเหวลึกไร้ก้นของความล่มจมทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงในหลายประเทศเอเชียและแอฟริกาอันเป็นผลจากสงครามนี้

แต่ทว่า กรอบการมองแบบสงครามเย็นก็ยังครองความเป็นใหญ่เหนือความคิดจิตใจอยู่ดี