กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (7)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (7)

 

กิติมา อมรทัต

กับการแปลงานของคาลิล ยิบราน (ต่อ)

น้ำตาและรอยยิ้ม

กิติมา อมรทัต แปลจากงานของคาลิล ยิบราน 4 เล่มด้วยกัน คือน้ำตาและรอยยิ้ม (A Tear and a Smile) ความลับของหัวใจ (Secret of the Heart) ความคิดนึกตรึกตรอง (Thought and Meditations) และคนบ้า (The Madman) สำนักพิมพ์ธรรมชาติจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2541 ความยาว 223 หน้า ราคา 150 บาท

ในบทกล่าวนำของหนังสือเล่มนี้ กิติมา อมรทัต กล่าวถึงชีวิตของคาลิล ยิบราน ในชื่อเพชรร่วงจากเลบานอน โดยกล่าวถึงความโดดเด่นของคาลิล ยิบราน ในฐานะนักกวีและนักปรัชญาคนสำคัญของโลกเอาไว้อย่างเห็นภาพและลึกซึ้งซึ่งสรุปได้ว่า

ความเจริญของโลกอาหรับนั้นมีมาช้านาน ตั้งแต่ยุโรปยังอยู่ในยุคแห่งความเขลา อาหรับก็เป็นผู้นำในด้านศิลปวิทยาและวิทยาศาสตร์บางด้านซึ่งในภายหลังได้ถ่ายทอดให้แก่ยุโรป

ทางด้านวรรณกรรมอาหรับก็เจริญไม่น้อย มีวรรณกรรมที่ดีเด่นอยู่มากมายแต่ไม่เป็นที่รู้จักแก่ชาวเรา เพราะอุปสรรคด้านภาษา

แต่บัดนี้ ได้มีผู้สนใจในวรรณกรรมอาหรับมากขึ้นทุกที่ วรรณกรรมอาหรับได้รับการสำรวจตรวจค้นอย่างลึกซึ้งและได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นๆ มากมายหลายภาษา

ชาวอาหรับนั้น ทั้งๆ ที่ประสบความยุ่งเหยิงทางการเมืองมานับเป็นศตวรรษและถูกรบกวนจากภายนอกด้วย แต่ก็ได้รักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้อย่างเข้มแข็ง

ในขณะที่โลกตะวันตกแสวงหาการแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ ชาวตะวันออกรวมทั้งชาวอาหรับก็ชอบที่จะมองดูชีวิตในแง่กวีและปรัชญามากกว่า

ในบรรยากาศอันอบอวลไปด้วยคำสอนของศาสดามุฮัมมัดและผู้สืบต่อของท่าน ชาวอาหรับได้จับเอาความรู้สึกของผู้คนของพวกเขาขึ้นมาเขียน

แบบอย่างและความคิดของนักเขียนอาหรับนั้นยังบริสุทธิ์ ปราศจากภาพหลอนผิดๆ หรือการนำเอาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง นักเขียนอาหรับจึงมีการแสดงออกอย่างเป็นอิสระ

พวกเขาได้วางรูปอันเป็นแบบฉบับของเขาเองซึ่งไม่มีแรงกดดันหรือคำวิจารณ์ภายนอกจะมาทำให้เปลี่ยนไป

ในบรรยากาศแห่งวรรณกรรมอาหรับเท่าที่ได้รับความสนใจอยู่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะไม่มีนักเขียนอาหรับคนใดได้รับการยกย่องมากไปกว่าคาลิล ยิบราน นับได้ว่าท่านผู้นี้ได้ยืนหยัดอยู่บนยอดเขาแห่งวรรณกรรมที่งดงามของโลกตะวันออก

งานของท่านได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ มากมายไม่น้อยกว่า 20 ภาษา

คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran : 1883-1931) เป็นที่รู้จักของโลกในฐานะเป็นอมตกวีแห่งประเทศเลบานอนและเป็นนักปราชญ์อยู่ในยุคสมัยของท่าน

ท่านเกิดที่เมืองบชารี ประเทศเลบานอน ซึ่งขณะนั้นรวมอยู่กับซีเรีย

บิดาของท่านคือคาลิล ยิบราน ผู้พ่อ และมารดาคือคามิลา บุตรสาวของนักบวชนิกายมารอนไนต์

เมื่อท่านเกิดมา บิดามารดาของท่านได้ทำพิธีรับศีลให้ท่านในโบสถ์นิกายมารอนไนต์และตั้งชื่อให้ท่านตามชื่อของปู่ท่านว่า “ยิบราน คาลิล ยิบราน” ซึ่งท่านใช้ชื่อนี้ในภาษาอาหรับ แต่ในภาษาอังกฤษท่านใช้เพียง “คาลิล ยิบราน” เท่านั้น

ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้นในเมืองที่ท่านเกิดโดยเริ่มจากการเรียนภาษาอาหรับและซีเรีย

เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านก็ย้ายไปอยู่ประเทศอเมริกาพร้อมกับมารดา ปีเตอร์ผู้เป็นน้องชายและน้องสาวอีกสองคนคือมิเรียนนาและซุลตานาไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองบอสตัน เมื่อเดือนมิถุนายน 1895 ในระยะที่อยู่บอสตัน ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลเป็นเวลาสองปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนกลางคืน เรียนวิชาทั่วไปอยู่หนึ่งปี

ต่อมาท่านได้รบเร้ามารดาให้ส่งท่านไปยังเลบานอนเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงคือ อัล-ฮิกมัต ซึ่งได้รับขนานนามว่า “สำนักแห่งปัญญา” ซึ่งท่านบิชอปแห่งนิกายมารอนไนต์ชื่อโยเซฟ เดบส์ ได้ตั้งขึ้นที่เมืองเบรุต

เมื่อได้รับปริญญาตรีแล้ว ท่านก็ใช้เวลาท่องเที่ยวไปทั่วซีเรียและเลบานอน ไปเยือนสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ สถานที่ปรักหักพังและโบราณสถานแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่ต่างๆ

ในปี 1902 ท่านได้กลับไปอเมริกาเพื่อศึกษาศิลปะซึ่งท่านมีใจรักอยู่มาก ต่อมาได้ไปเรียนศิลปกรรมที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1908 ท่านได้ใช้เวลาเรียนอยู่ที่นั่นสามปีภายใต้ความดูแลของปฏิมากรมีชื่อออกัสต์ โรแดง ในสถาบันศิลปะที่ปารีส

โรแดงผู้ยิ่งใหญ่เคยทำนายว่ายิบรานจะมีอนาคตที่สดใสเพราะความสามารถด้านศิลปะของท่าน

ความสามารถนี้ทำให้เพื่อนของท่านคืออังรี เดอ บูโฟ ต้องกล่าวว่า “โลกจะคาดหวังได้อย่างมากจากกวีศิลปินชาวเลบานอนผู้นี้ ผู้ซึ่งเปรียบได้ดังวิลเลี่ยมเบลคแห่งศตวรรษที่ 20”

 

ยิบรานออกจะเป็นคนขลาดอายและไม่ชอบสังคม ท่านมักจะหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และเพื่อนบ้านของท่านเพื่อจะได้อยู่คนเดียวและอุทิศตนให้กับการอ่านและเขียนหนังสือรวมทั้งการนึกคิดตริตรอง

ความรู้สึกเศร้าสร้อยที่ปรากฏอยู่บ่อยๆ ในบทกวี ข้อเขียนและจดหมายของท่านนั้นอาจจะมาจากการที่ท่านได้รับโชคร้ายอยู่เนืองๆ ในตอนที่เป็นหนุ่มก็ได้ เช่น เมื่อเดือนเมษายน 1902 น้องสาวของท่านที่ชื่อซุลตานาได้เสียชีวิตลง

ต่อมาอีกปีเดียวคือในเดือนกุมภาพันธ์ 1903 น้องชายก็ถึงแก่กรรมลงอีกทั้งๆ ที่อยู่ในวัยหนุ่มแน่น และอีกสามเดือนต่อมา มารดาผู้ซึ่งท่านรักอย่างสุดซึ้งก็ได้จากท่านไปอีก

ท่านได้เขียนถึง “แม่” ไว้ว่า

“ถ้อยคำที่งดงามที่สุดบนริมฝีปากของมนุษย์ก็คือคำว่า ‘แม่’ และการเรียกขานที่งดงามที่สุดก็คือการเรียกว่า ‘แม่ของฉัน’ มันเป็นถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความรักและความหวัง เป็นคำที่หวานและกรุณา ซึ่งมาจากส่วนลึกของหัวใจ แม่คือทุกสิ่งทุกอย่าง แม่เป็นผู้ปลอบโยนเราในยามโศกเศร้า เป็นความหวังของเราในยามทุกข์และเป็นกำลังให้เราในยามอ่อนแอ แม่คือต้นกำเนิดของความรัก ความเมตตา เห็นอกเห็นใจและการให้อภัย ผู้ที่สูญเสียแม่ไปนั้นเท่ากับได้สูญเสียวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งคอยอำนวยพรและพิทักษ์รักษาเขาเสมอมาไปนั่นเอง”

“ทุกๆ สิ่งในธรรมชาติล้วนแสดงความหมายของคำว่า ‘แม่’ ดวงอาทิตย์คือมารดาของโลก บำรุงเลี้ยงดูโลกด้วยความอบอุ่นของมัน ในยามค่ำคืนมันไม่เคยละทิ้งจักรวาลไปเลยจนกว่ามันจะได้กล่อมโลกให้หลับลงด้วยบทเพลงแห่งทะเล และเสียงของนกและลำธาร โลกนี้คือมารดาของต้นไม้และดอกไม้ มันได้ให้กำเนิด บำรุงเลี้ยงและให้อาหารแก่บรรดาดอกไม้และต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม้และดอกไม้ก็เป็นมารดาของผลและเมล็ดอันยิ่งใหญ่ของมัน และมารดาผู้เป็นเบ้าหลอมแห่งชีวิตทั้งหลายก็คือดวงวิญญาณนิรันดรอันเต็มไปด้วยความงามและความรัก”

ท่านใช้วิธีประมวลแบบนี้ตรงกันข้ามกับนักเขียนเรียลลิสต์ในสมัยเดียวกับท่าน ซึ่งใช้วิธีบรรจุแนวความคิดใหญ่ลงในรายละเอียดอันถี่ถ้วน

โดยเหตุที่ยิบรานใช้วิธีเขียนแบบนี้จึงเป็นที่ต้องใจของผู้อ่าน

 

งานของยิบรานซึ่งได้รับการตกแต่งให้งดงามด้วยความนัยและคำเปรียบเทียบแบบตะวันออกนั้นได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น ความหวังความปีติได้เข้ามาแทนที่น้ำตาและรอยยิ้ม งานของยิบรานทุกชิ้นแฝงจุดมุ่งหมายอันสูงส่งไว้ให้ผู้อ่านได้คิดและไขว่คว้าอยู่เสมอ

งานของท่านมีลักษณะคล้ายงานของกวีโรแมนติกของตะวันออกและตะวันตกหลายคน ท่านเป็นนักจิตนิยมผู้ถือว่าความหมายทางจิตวิญญาณมีความสำคัญกว่าวัตถุแต่ก็มิได้ตัดวัตถุทิ้งไปโดยเด็ดขาด เพราะวัตถุคือเครื่องอำนวยให้ชีวิตในโลกนี้อยู่ได้ แต่ที่เหนือกว่าชีวิตในโลกก็คือจิตวิญญาณดวงใหญ่ ซึ่งครอบคลุมสรรพสิ่ง

การหนีชีวิตในวัยหนุ่มของท่านนั้นมุ่งไปสู่รัศมีอันขาวบริสุทธิ์ของอนันตภาพ คือหนีจากโลกซึ่งท่านรู้สึกว่าส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือของคนที่อยุติธรรมและโหดร้าย

การที่จิตใจอันมีความรู้สึกไวถอยหนีจากความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ นั้นยิบรานถือว่าเป็นการปฏิวัติซึ่งมีอยู่หลายแบบ การปฏิวัติทางการเมืองก็เป็นรูปหนึ่งซึ่งแลเห็นได้ชัด ยิบรานสอนให้แต่ละบุคคลรู้จักปฏิวัติ เพราะบุคคลนั่นเองที่มีส่วนในการทำให้โลกนี้ดีหรือเลว

ในบางบทซึ่งเป็นงานในระยะต้นๆ ของท่านเราจะพบว่าหยาดน้ำตาแห่งความเศร้าโศกจะชะล้างให้หัวใจมนุษย์บริสุทธิ์และรอยยิ้มแห่งความปีติยินดีจะทำให้หัวใจของเขาอบอุ่นด้วยความเข้าใจ

ความกระหายทางจิตวิญญาณคือจุดมุ่งหมายของชีวิต

การแสวงหาคือผลสำเร็จในตัวของมันเอง

การรู้ซึ้งถึงความฝันคือการสูญเสียความฝันนั้นไปและผู้ที่ได้รับความพอใจในโลกนี้มักเป็นคนชั่ว

ในงานแบบสาธกนิยายระยะแรกๆ ของท่านเน้นว่าการรวมเข้าด้วยกันทางกายก็คือการบรรลุถึงความสมบูรณ์ เป็นการปลดปล่อยดวงวิญญาณให้เป็นอิสระ

ซึ่งท่านใช้วิธีเขียนอย่างละมุนละม่อมไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์เจือปนเลย ดังในบทผู้เป็นที่รักซึ่งรวมอยู่ในเล่มนี้ด้วย

รหัสย์แห่งหัวใจ

คาลิล ยิบราน เขียน กิติมา อมรทัต แปล พิมพ์ครั้งแรกในปี 2532 และครั้งที่สองในปี 2539 โดยสำนักพิมพ์ธรรมชาติ ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่สองมีความยาว 142 หน้า ราคา 55 บาท

ในรหัสย์แห่งหัวใจ กิติมา อมรทัต ได้แสดงความยินดีที่ได้แปลงานของคาลิล ยิบราน โดยสื่อกับผู้อ่านในคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีดอกหรือที่โลกของเรานี้ยังมีนักเขียนอย่างอุมัร คัยยัม ฆอลิป อิกบาล วิทแมน ฐากูร ยิบราน และอีกหลายๆ ท่าน ถือกำเนิดมาเขียนหนังสือให้เราอ่าน? ท่านเหล่านี้เปรียบเหมือนดวงจันทร์ที่ทอแสงอยู่ในคืนที่ฟ้ามีเมฆมืด

ในหนังสือรหัสย์แห่งหัวใจ กิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงคาลิล ยิบราน กับผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดมาก่อนหน้างานแปลของตนเองไว้ด้วยว่า

สำหรับคาลิล ยิบราน นั้น นักอ่านชาวไทยคงจะรู้จักรท่านดีมาตั้งแต่ที่ศาสตราจารย์ระวี ภาวิไล แปลงานเรื่องปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของท่านเป็นเล่มแรกเมื่อครั้งนานมาแล้ว จนบัดนี้หนังสือเล่มนี้ก็ยังได้รับการพิมพ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และเป็นที่นิยมชมชื่นของนักอ่านรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่ขาดสาย

หลังจากนั้นงานของท่านชิ้นอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจถ่ายทอดเป็นภาษาไทย โดยนักแปลหลายต่อหลายท่าน เท่าที่จำได้มี ศ.ระวี ภาวิไล (แปลงานชื่อ ปีกหัก – The Broken Wings) และทรายและฟองคลื่น (Sand and Foam), น.ชญานุตม์ และเรณู ชูความคิด

สำหรับข้าพเจ้าเองนั้นได้แปลงานของท่านไว้ด้วยใจรักหลายเล่มด้วยกันในชื่อภาษาไทยคือ สวนศาสดา (The Gradent of Prophet) คำครู (The Voice of the Master) 2 เล่มนี้แปลร่วมกับคุณไรน่าน อรุณรังษี นอกนั้นคือวิญญาณขบถ (Spirits Rebellious) และรอยยิ้มและน้ำตา (A Tear and a Smile)

เมื่อสำนักพิมพ์สุขภาพใจ โดยคุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ และคุณเผิน อาษาพันธ์ ต้องการให้ข้าพเจ้าแปลงานที่ยังเหลืออยู่ของคาลิล ยิบราน ข้าพเจ้าจึงมีความปีติในใจอย่างแท้จริง และได้จัดการให้ตามความประสงค์ของท่านทั้งสองแล้ว คือรหัสย์แห่งหัวใจ ซึ่งข้าพเจ้าคัดเลือกมาจาก 3 เล่มของคาลิล ยิบราน คือ The Secret of the Heart, Prose Poems และ Thoughts and Meditation โดยตัดเรื่องที่แปลไว้แล้วในเล่ม วิญญาณขบถกับรอยยิ้มและน้ำตา ออกไปเพื่อมิให้ซ้ำกัน

หวังว่าคงจะได้รับการต้อนรับจากท่านผู้อ่านด้วยดีเช่นเดียวกับอีกสองเล่มซึ่งจะพิมพ์ตามมาในมิช้านี้คือผู้พเนจร (The Wanderer) และผู้เบิกทาง (The Forerunner)

ด้วยรักและมิตรภาพ กิติมา อมรทัต