บทวิเคราะห์ | 8ปี ประยุทธ์ : ใจบันดาลแรง ใครบันดาลตู่ ?

สถานการณ์เข้มข้นขึ้นตามลำดับ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมนัดพิเศษ ในวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณากรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ได้รับคำชี้แจงของพยาน 3 ปากเรียบร้อยแล้ว

คือคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.

จึงนัดประชุมพิเศษวันดังกล่าวขึ้น เพื่ออภิปรายคำชี้แจงและหลักฐานต่างๆ ว่าสิ้นข้อสงสัยเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วหรือไม่ หากยังไม่สิ้นข้อสงสัยต้องแสวงหาหลักฐานและพยานเพิ่มเติมต่อไปหรือไม่

หากสิ้นข้อสงสัยจะนัดลงมติวินิจฉัยได้ทันที

ถือเป็นความคืบหน้าแห่งคดีที่มีนัยสำคัญ

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต้องบันทึกไว้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ “บันดาล” ให้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ มีหลายทีมและหลายคน

โดยลำดับแรกที่ต้องกล่าวถึงคือ ทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์

นำโดย พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมพระธรรมนูญ

เขามีบทบาทสูงตั้งแต่ช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ อยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ คสช.ตั้งขึ้นหลายคณะ

ว่ากันว่าทุกครั้งที่มีประเด็นคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ “พล.ต.วิระ” จะเป็นทีมกฎหมายเข้าไปสู้คดี และชนะคดีมาตลอด

จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่เรื่องการอยู่ในตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.วิระด้วย

โดยได้โชว์ความพร้อม ทำเอกสารหักล้างคำร้องรวมกว่า 30 แผ่น ยืนยันว่าการนับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ไม่ควรนับตั้งแต่ปี 2557

ทั้งนี้ พล.ต.วิระได้ระดมทีมกฎหมายใกล้ชิดนายกฯ เข้ามาตรวจสอบเนื้อหาคำชี้แจงให้รอบคอบและรัดกุมมากที่สุด

พร้อมมีกระแสข่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ที่เติบโตมากจากสายผู้พิพากษา เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงนายดิสทัตย์ โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการกรรมการกฤษฏีกา ที่ถือเป็นมือกฎหมายชั้นเซียนก็เข้ามาช่วยเสริมด้วย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ก็ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการบันดาลให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ

นายวิษณุบอกว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ทีมกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา 15 วันในการทำคำชี้แจง แต่ฝ่ายกฎหมายนายกฯ ใช้เวลาเพียง 7 วัน

แสดงถึงความพร้อม และได้เห็นเนื้อหาในคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว

“ในความคิดเห็นของผมคิดว่าฟังขึ้น ตอบทุกประเด็นและตรงกับใจ” นายวิษณุบอก

พร้อมแย้มคีย์เวิร์ดสำคัญ

นั่นก็คือ ประเด็นการครบ 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ในการชี้แจงจะไม่ชี้ชัด แต่ว่า ไม่ใช่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 อย่างที่ฝ่ายยื่นคำร้องระบุ

ซึ่งถือเป็นโยนหิน “นำทาง” อันสื่อความหมายว่า พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิไปต่อนั่นเอง

อีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่มีส่วนบันดาลให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อ

ก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ. ยื่นคำให้การภายใน 15 วัน

ซึ่งก็คงสืบเนื่องจากคำพูดของนายมีชัย ที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ที่นายปกรณ์ ในฐานะอดีตเลขานุการ กรธ. มีส่วนในการบันทึก

ในครั้งนั้น นายมีชัยกล่าวว่า

“…เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม

การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี…”

แปลง่ายๆ นายมีชัยมีความเห็นว่าการนับอายุนายกรัฐมนตรี ให้นับย้อนหลังขึ้นไปก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี

ซึ่งหากยึดตามนี้ นี่จะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แล้ว

นี่เองจึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายมีชัยและนายปกรณ์ ให้การเป็นพยาน

ฝ่ายค้าน ในฐานะผู้ร้อง เมื่อรู้ถึงคำสั่งศาลดังกล่าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย 6 หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้รีบยื่นหนังสือคำร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญ อ้างเหตุผลเพื่อสร้างดุลยภาพในการพิจารณาคดี

โดยส่งหลักฐานเพิ่มเติมคือ

1. ความเห็นของนักวิชาการที่เป็นอาจารย์นิติศาสตร์ 51 คน

2. แผ่นดีวีดีการสัมภาษณ์พิเศษผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เวลา 24.00 น.

ถือเป็นการชิงถ่วงดุล เพราะมิฉะนั้น หากนายมีชัยให้การแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500

ความพลิกผันในกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นได้

แล้วสิ่งที่ฝ่ายค้านกังวลก็เกิดขึ้นจริงๆ

เมื่อมีเอกสารเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ระบุว่าเป็นเอกสารการชี้แจงของนายมีชัย 4 ข้อดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ, ที่มา, วิธีการได้มา, กรอบในการปฏิบัติหน้าที่, ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และผลจากการพ้นจากตำแหน่งไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ

บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้นจึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญปี2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ

3. การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก่อน

แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด

จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

4. โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560

และโดยผลดังกล่าว บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป

ยิ่งกว่านั้น นายมีชัยยังชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ว่า “ส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 12 กันยายน 2561”

“ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้”

“กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง”

แม้ไม่มีการยืนยันเอกสารคำชี้แจงของนายมีชัยเป็นเอกสารจริงหรือไม่

แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธ

รวมถึงนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาแถลงกรณีดังกล่าว ก็ไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้

แต่บอกกับสังคมว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญ เสียใจและกังวลกรณีเอกสารหลุด เพราะไปพาดพิงและมีผลกระทบผู้เกี่ยวข้องส่วนต่างๆ จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป

ดังนั้น เนื้อหาในเอกสารของนายมีชัยจึงยังคงมีน้ำหนัก

น้ำหนักที่บ่งชี้ถึงการพลิกพลิ้วในท่าที 8 ปีอย่างสำคัญของนายมีชัย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อคณะรัฐประหารและรัฐบาลปัจจุบัน

ซึ่งยังไม่ทราบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะรับฟังอย่างไร แต่ท่าทีของนายมีชัยเช่นนี้ เป็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า ใครคือผู้บันดาลให้บิ๊กตู่ได้ไปต่อ

ไปต่อในท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าการเปลี่ยนจุดยืนของนายมีชัย อาจจะนำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ “ไม่จบ”

และอาจนำพาประเทศสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง และติดหล่มในปัญหาเหมือน 8 ปีที่ผ่านมาหรือไม่