มองบ้านมองเมือง ปริญญา ตรีน้อยใส/มรดกที่ไม่มีใครอยากได้

มองบ้านมองเมือง
ปริญญา ตรีน้อยใส

มรดกที่ไม่มีใครอยากได้

ในคอลัมน์ของ วิรัตน์ แสงทองคำ เรื่อง สังคมกับธุรกิจสื่อสาร ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ ได้เล่าขานกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ผ่าทางตัน (ให้ใครไม่รู้) ปัญหาสัมปทานโทรศัพท์สามล้านเลขหมาย เมื่อปี พ.ศ.2533 โดยให้สองยักษ์ใหญ่วงการสื่อสาร (ในเวลานั้น) ได้รับแบ่งเค้กนครหลวงสองล้านเลขหมาย และเค้กภูธรล้านเลขหมาย
คนรุ่นใหม่ที่มีโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่สามสิบสาม คงนึกไม่ออกเรื่องทางตันของโทรศัพท์ระบบสายที่เกิดขึ้นในอดีต
คงไม่รู้ว่าโทรศัพท์สายแบบเก่ามีมูลค่ามากเท่าใด
คงไม่เชื่อว่า ครั้งหนึ่งคนไทยต้องซื้อขายหมายเลขและสายโทรศัพท์ในราคาสูงเป็นหมื่นเป็นแสน
รวมทั้ง คงไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องแย่งสัมปทานโทรศัพท์สาย (ที่ไม่มีใครใช้ในเวลานี้)
ถ้าคนรุ่นใหม่อยากเข้าใจ ก็แค่เปรียบเทียบกับการประมูลคลื่นสัญญาณของ กสทช. เมื่อปีก่อน ที่หลายบริษัทต่อสู้กันอย่างดุเดือด

เอาเป็นว่า เมื่อมีสัมปทาน ก็ต้องมีช่วงเวลาเริ่มและสิ้นสุดตามสัญญา บังเอิญว่า สัมปทานดังกล่าวได้หมดอายุ พร้อมกับความล้าสมัยของโทรศัพท์สาย ทุกวันนี้เหลือไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ยังใช้โทรศัพท์สายอยู่
ในขณะที่ชาวบ้าน ร้านค้า ธุรกิจทั่วไป หันไปใช้โทรศัพท์มือถือ และการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นกันทั่วหน้า ที่สะดวก รวดเร็ว ชัดเจน
เราจึงยังพบเห็นสายโทรศัพท์ที่มีคนใช้อยู่บ้าง สายโทรศัพท์ที่ระเกะระกะพันกันยุ่งเหยิงจนเป็นมลภาวะทางสายตาบนถนนทั่วบ้านทั่วเมือง จนฝรั่งเอาไปล้อเลียน
ระบบโทรศัพท์สายนั้น นอกจากสายโทรศัพท์แล้ว ยังต้องมีตู้รวมสายตั้งอยู่ตามทางเท้า และศูนย์รวมสายกระจายไปอยู่ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่สร้างเป็นอาคารเดี่ยวๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร
ทุกวันนี้ ตู้รวมสาย ห้องรวมสาย หรืออาคารรวมสาย จึงมีสภาพเหมือนสายโทรศัพท์ที่ไม่ค่อยมีใครใช้ และไม่มีใครสนใจ หลายแห่งจึงเป็นซากหรือเป็นอาคารร้างการใช้สอย หลายแห่งเป็นที่ทิ้งขยะ หลายแห่งกลายเป็นแหล่งมั่วสุม
รวมความแล้ว ล้วนเป็นมรดกที่ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครอยากดูแล

ที่จริงก็รู้ว่า ท่านนายกฯ คนปัจจุบัน มีภารกิจมากอยู่แล้ว แต่ก็ยังอยากเสนอให้ผ่าทางยุ่งและเรื่องรกเรื่องนี้ ถ้าเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาจัดการ ถ้าหน่วยงานหมดกำลังดูแล ก็ให้ขอความร่วมมือจากจิตอาสาซาเล้งที่มีอยู่แล้ว เชื่อว่า พวกเขาพร้อมจะช่วยรวบรวมรื้อถอน เพื่อนำไปขายในตลาดรีไซเคิลอย่างแน่นอน
ส่วนอาคารชุมสายหรือศูนย์รวมสัญญาณ ที่เป็นโครงสร้างแข็งแรง มีพื้นที่กว้างขวาง ถ้าหน่วยงานเจ้าของไม่มีปัญหาดูแล ก็แค่แบ่งให้หน่วยงานอื่นไปใช้งาน หรือยกให้เป็นศูนย์กิจกรรมของชุมชนหรือเยาวชน ก็จะได้ประโยชน์ทั่วหน้า
มองบ้านมองเมืองคราวนี้ คงพอจะเป็นคำตอบสำหรับบรรดาผู้ที่ออกความเห็นในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับเรื่องเส้นสายยุ่งบนทางถนน