วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์/ออกแบบ : เอาใจท้องถิ่นหรือสากล?

วิช่วลคัลเจอร์
ประชา สุวีรานนท์

ออกแบบ
: เอาใจท้องถิ่นหรือสากล?

คําว่า “ไรธธค” มาจากป้ายร้านอาหารไทยในโรงแรมหรูในต่างประเทศ และถูกโพสต์ขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ ผู้โพสต์แสดงความรำคาญใจมากที่เห็นสะกดด้วยอักษรไทยแต่เขาอ่านไม่ออก จึงได้เข้าไปถามพนักงาน ได้ความว่าเป็นภาษาอังกฤษและอ่านว่า Isaan
ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่สร้างความขบขันและโกรธเกรี้ยวของผู้อ่านมากมาย มีคนเข้ามาไลก์กว่าแปดพันและแชร์ออกไปกว่าสองพัน นอกจากนั้น ยังมีคนส่งชื่อร้านอาหารในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำแบบนี้มาให้ดูด้วย
ในบรรดาความเห็นที่มีกว่าสามร้อยนั้น มีคำอธิบายว่า : เขาคงเขียนด้วยตัวไทยที่ดูใกล้เคียงภาษาอังกฤษหรือที่เรียกกันว่าตัวโรมัน เช่น ใ = i, ร = s, ธ = a, ธ = a, ค = n บางคนบอกว่าพอจะจับระบบได้ เช่น เมื่อเห็น ร ต้องนึกว่าคล้ายตัวอะไรในภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงอ่านออกเสียงเป็น s ได้
แต่ถึงจะบอกอย่างนั้น ก็ยังอ่านยากอยู่ดี

ปรากฏการณ์นี้ทำให้นึกถึงบทความของผู้เขียนชื่อ อินเตอร์โกส์ไทย : สำนึกใหม่ในตัวพิมพ์ ซึ่งเคยลงในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 27 ตุลาคม-9 พฤศจิกายน 2549 และหนังสือ ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่ม 1
ผู้เขียนได้พูดถึงตัวพิมพ์ชื่อ Bangkok Bob ซึ่งออกมาในยุคต้มยำกุ้งหรือช่วงทศวรรษ 2540 และเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เจ้าของเว็บไซต์ใช้ตัวพิมพ์นี้เป็นตัวดิสเพลย์มากมาย และก่อนหน้านั้น คือโลโก้วงดนตรีไทย ที่ชื่อ Boy Thai ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย
ความประหลาดคือทั้งๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษและใช้ตัวโรมัน แต่ที่เห็นนั้นเป็นอักษรที่เกิดจากการ “บิด” ตัวไทย เช่น ย กลับด้านกลายเป็น B เลข ๑ กลับด้านกลายเป็น O และ ร กลายเป็น T หรือจะมองว่าเป็นการนำเอาตัวโรมันมาเติมหัวกลมโปร่งเข้าไป จนดูคล้ายตัวไทยก็ได้
บทความดังกล่าวอธิบายว่า เทคนิคสำคัญคือใช้ตัวไทยที่ “พ้องรูป” มาแทนที่กัน เช่น ล แปลว่า a, ท แปลว่า n หรือดัดแปลงรูปอักษร เช่น ๒ ที่เป็นเลขไทยถูกจับตะแคงจนกลายเป็น B ในบางกรณีก็เอาตัวโรมันมาดัดแปลงให้คล้ายตัวไทย เช่น ให้ k คล้าย ห และให้ ร แทน s ปัญหาของมันคือ นำเอาอักษรที่ “พ้องเสียง” มาแทนที่กัน ทั้งๆ ที่ไม่มีความคล้ายคลึงด้านรูปแบบ
และอยู่ที่การมองว่าหัวและขมวดของตัวไทยว่าคล้าย serif ของตัวโรมัน ซึ่งเป็นเพียงสไตล์ที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นหรือเพื่อความสวยงาม ไม่ได้มีบทบาทในการถ่ายเสียง แต่จริงๆ แล้ว สำหรับตัวไทย หัวและขมวดมีบทบาทมากกว่านั้น เช่น ทำให้เสียงของ ก ต่างกับ ถ และ ภ หรือเสียงของ ค ต่างกับ ด
การเอาหัวและขมวดเข้าไปแปะไว้เฉยๆ แล้วคิดว่าจะทำให้แลดูเป็นไทย หรือเป็นงานที่ “ออกแบบให้เหมือนคนท้องถิ่น” จึงแลดูตลกขบขันและไม่ค่อยได้ผล

คําอธิบายข้างต้นบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติ กรณี Isaan นักออกแบบอาจไม่ใช่คนไทย แต่ Bangkok Bob และ Boy Thai ชี้ให้เห็นว่านักออกแบบตัวพิมพ์อาจอยู่ในไทยนี่แหละ ไม่ได้ขาดความรู้ แต่แสร้งไม่เข้าใจเรื่องนี้ นั่นคือมอง “หัว” ว่า exotic หรือเป็นของแปลกประหลาด การอ่านยากหรือสะกดผิดๆ ถูกๆ จึงต้องมีเพื่อส่งเสริมกัน และอารมณ์ของตัวพิมพ์อาจจะเป็นเสียดสีก็ได้
ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนย้อนไปถึงประวัติตัวพิมพ์ไทยในช่วง พ.ศ.2510-2520 ซึ่งตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรม ส่งผลให้ตัวไทยที่ถูกดัดแปลงให้คล้ายตัวโรมันออกมามาก นอกจากนั้น ยังเป็นยุคกำเนิดของ “ตัวขูด” ของ MacaNorma และ Letterpress ซึ่งมีตัวประเภทนี้มากมายหลายแบบ


ตัวไม่มีหัวคือการลดทอนรูปลักษณ์ของอักษรแต่ละตัวให้เรียบง่ายจนเหลือเพียงคุณสมบัติเชิงรูปทรงบางอย่างที่สร้างความแตกต่างระหว่างอักษรตัวหนึ่งๆ เท่านั้น และในหลักการนี้ ส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นและถูกตัดทิ้งไป
อาการไม่มีหัว จึงหมายถึงหัวและขมวดกลมโปร่งที่กลายเป็นเส้นหรือ “หัวทึบ” ถ้าหัวและขมวดมีประโยชน์ในแง่สร้างความแตกต่าง เช่นหัวของ ถ ทำให้แตกต่างจาก ก และ ภ ก็เก็บไว้ แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ เช่น หัวของ ร และ ห ก็อาจถูกตัดออกไปเลย
ตัวไม่มีหัวถูกมองว่าเป็นการ “เอาตัวโรมันมาแทนตัวไทย” หรือ Romanization ซึ่งไม่จริง แต่ในยุคที่ฝ่ายอนุรักษ์ภาษาไทยกำลังหวาดกลัวต่อการคุกคามของตะวันตก จึงต้องรับข้อหานี้เข้าไปเต็มๆ แต่ก็ยืนยงมาตลอดช่วงนั้น
และตัวมีหัวก็คล้ายกับเทรนด์ของช่วงต่อมาคือยุคต้มยำกุ้ง ในแง่ที่ความเป็นไทย เช่น จั่ว กาแล หรือลายกนก กำลังกลายเป็นองค์ประกอบที่มีความหมายตายตัว ซึ่งถ้าเอาไปปะไว้ที่ไหน สิ่งก่อสร้างนั้นๆ ก็เป็นไทยในทันที
Bangkok Bob และ Boy Thai เป็นตัวโรมันที่ทำคล้ายกันคือเอาหัวและขมวดไปแปะไว้เฉยๆ ในลักษณะเดียวกันกับจั่ว กาแล และลายกนกนั่นเอง และทั้งสองแบบส่งสำเนียงเสียดสี “หัว” ของอักษรไทย

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีตัวพิมพ์ก้าวหน้าขึ้นมาก การปรับรูปแบบของอักษรต่างๆ และดัดแปลงให้มีมากกว่าหนึ่งภาษาจึงเป็นเรื่องง่าย นอกจากนั้น ความคิดว่าจะ “ออกแบบให้เหมือนคนท้องถิ่น” ก็มีทั่วไปในหมู่ดีไซเนอร์ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ที่อยู่ในลอนดอนหรือนิวยอร์กด้วย
แต่หลักการก็ยังเหมือนเดิมคือ เมื่อจะออกแบบตัวพิมพ์ ต้องตอบให้ได้ว่ากำลังใช้สไตล์อะไรหรือศึกษาจากแบบไหน หรือให้ความสำคัญกับรูปแบบของตัวพิมพ์ในสามเรื่องคือ : หนึ่ง ต้องรู้จักตัวพิมพ์ภาษานั้นๆ ในแง่โครงสร้างเป็นอย่างดี สอง ศึกษาประวัติของอักษรและการสืบย้อนไปถึงอดีตที่ไกลกว่าที่เห็น รวมทั้งการอ่านหรือไวยากรณ์ และสาม เข้าใจอารมณ์และโทนของตัวพิมพ์แต่ละแบบ
“ไรธธค” หรือ Isaan เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบตัวพิมพ์ให้เหมือนคนท้องถิ่น แต่ก็เฉพาะในสายตาของสากล ซึ่งอาจจะมีอารมณ์ที่เสียดสีได้