‘สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน’ ในบทกวีและเสียงเพลง/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

‘สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน’

ในบทกวีและเสียงเพลง

 

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง นำโดยครูมะลิสา หนูนุ่ม และคณะ จัดกิจกรรมค่าย “เขียนเพลงให้ฟ้า ขับขานคุณค่า สารานุกรมไทย” เพื่อพัฒนาสมรรถนะทุกด้าน โดยเฉพาะความคิดและการสื่อสารของผู้เรียนสู่มาตรฐาน ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2565 มีวิทยากรประกอบด้วย

วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวี ศิลปิน

พิณพิพัฒน ศรีทวี กวี นักเขียน ศิลปิน และ

ชาคริต แก้วทันคำ นักเขียน นักวิจารณ์วรรณกรรม

กิจกรรมค่ายครั้งนี้มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ให้ความสนใจจำนวน 70 กว่าคน ซึ่งวันแรกเป็นการให้ความรู้เรื่องการเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า

วันที่สองแบ่งกลุ่มเขียนเพลงหรือนำบทกวีที่เขียนไว้มาเรียบเรียงและใส่ทำนอง

สารานุกรมไทยฯ ในบทกวีไร้ฉันทลักษณ์

วิสุทธิ์กล่าวว่า บทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า คืองานเขียนที่มุ่งสื่อถ้อยคำอย่างพิถีพิถัน โดยการจัดวางถ้อยคำทีละวรรค จะสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ให้มีความหมาย กระทบความรู้สึก สร้างความประทับใจในการอ่าน รูปแบบคล้ายบทร้อยกรองที่เรียนในบทเรียน เพียงแต่ไม่บังคับสัมผัสตามฉันทลักษณ์ หรือจังหวะ กฎเกณฑ์ใดตายตัว

พูดง่ายๆ ว่าสามารถนำสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต เหตุการณ์ต่างๆ มาร้อยเรียง วิเคราะห์เป็นเรื่องเล่าอย่างอิสระ

ชาคริตเสริมว่า บทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า คือการนำถ้อยคำมาร้อยเรียงกันให้มีความหมายอย่างใจผู้เขียน พอกล่าวถึงการนำถ้อยคำมาร้อยเรียงกันอาจมีลักษณะคล้ายความเรียง แต่ไม่ใช่ ลองนึกเปรียบเทียบง่ายๆ มันเหมือนการเขียนสเตตัส แต่เป็นสเตตัสที่มีการใช้ภาษาให้สละสลวยและไพเราะขึ้น

วิสุทธิ์บอกเล่าประสบการณ์การเขียนบทกวี โดยเฉพาะมุมมอง ความคิด ความซับซ้อน การแปลความหมายจากสิ่งที่เห็นทั้งภายนอกและภายในมาสร้างเป็นบทกวีชิ้นหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพจึงนำบทกวี “บนชายหาดแห่งชีวิต” ของมุฮัมมัด ส่าเหล็ม กวีชาวมุสลิม มาเป็นตัวอย่างดังนี้

ริมชายหาดแห่งชีวิต…

หอยทิ้งซากไว้กลาดเกลื่อน

เรือรบที่เคยบุกเมืองมาหลายเมือง

ถูกเพรียงตัวเล็กๆ กัดกินผุกร่อน

เกยหาดอยู่อย่างน่าเกลียด

จารึกความอัปลักษณ์ไว้แก่ชาวโลก…

คลื่นลมสงบ…

เหมือนไม่เคยมีพายุมาก่อน

เด็กๆ วิ่งไล่จับกัน

เริงร่าอยู่ริมชายหาด

ชาวประมงลอยคอจับปลา

อยู่ในเย็นย่ำอันสุขสงบ…

เสียงหัวเราะขบขัน…

ดังก้องอยู่ในกระท่อมริมฝั่ง

พายุมาเยือนกี่หนแล้ว

ไม่มีใครจดจำ

บนชายหาดแห่งชีวิต

ชาคริตวิเคราะห์ว่า บทกวีชิ้นนี้ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายธรรมดามาสื่อความหมายให้เห็นภาพฉากของชีวิตริมชายหาดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีซากหอยและซากเรือเปรียบเทียบถึงความสัมพันธ์ ซากหอยเป็นสิ่งไร้ชีวิตตามธรรมชาติ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามกาลเวลา ส่วนซากเรือลำหนึ่ง มันเป็นสิ่งไร้ชีวิตจากฝีมือมนุษย์ แต่อาจมีเรื่องเล่าเบื้องหลังการทำสงครามมาหลายเมือง แต่สุดท้ายเหลือเพียงซาก ไม่เป็นที่จดจำ เพราะมันคือความอัปลักษณ์ ความน่าเกลียดที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนบนชายหาด

ดังนั้น ความสุข ความสงบ ความไร้เดียงสาในชีวิต คือสิ่งที่คนคนหนึ่งหรือทุกคนต้องการ บนชายหาดแห่งชีวิตของแต่ละคน มันอาจมีเรื่องราว เรื่องเล่าที่น่าจดจำ ไม่น่าจดจำก็ได้

พิณพิพัฒนกล่าวว่า โจทย์หลักในการเขียนวันนี้ คือการนำความรู้จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (จำนวน 42 เล่ม) โดยนักเรียนสามารถศึกษา ค้นคว้า คัดเลือกได้อย่างอิสระ หากนักเรียนคนไหนติดขัดปัญหา หรือยังไม่เข้าใจในกระบวนการคิดและเขียน สามารถปรึกษาวิทยากรได้ แต่ก่อนจะแยกย้ายมาร่วมเล่นเกมสันทนาการ

 

สารานุกรมไทยฯ ในเสียงเพลง

พิณพิพัฒนกล่าวว่า วิธีการเขียนเพลง มีหลักๆ อยู่สองข้อคือ เขียนทำนองก่อนเนื้อร้อง หรือเขียนเนื้อร้องก่อนทำนอง ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน และจากประสบการณ์ อาจเขียนทำนองกับเนื้อร้องไปพร้อมกัน ข้อดีก็จะได้เพลงที่มีรสชาติกลมกล่อมขึ้น ข้อเสียอาจให้พื้นที่ของคำหรือเนื้อร้องมากไป จนกลบทำนอง

ดังนั้น การเขียนเพลงไม่มีสูตรตายตัว เหมือนการเขียนหนังสือ พยายามอย่าไปยึดติดกรอบหรือขนบจนมันบดบังวิธีคิด วิธีเขียน ความสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ เพราะเพลงมันมีหลายแนวหลากประเภท

แล้วคำมาจากไหน มาจากชีวิตเรา เรื่องราวส่วนตัวของเรา และในการจัดกิจกรรมค่ายครั้งนี้ คำจึงมาจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

วิสุทธิ์สรุปว่า การเขียนเพลง หลักๆ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ อารมณ์ ทำนอง เนื้อร้องหรือการเรียบเรียงนั่นเอง

หลังจากนั้นจึงมีการแบ่งกลุ่ม 11 กลุ่ม โดยนำบทกวีที่เขียนไว้มาเรียบเรียงและใส่ทำนอง หรือจะคิดและเขียนใหม่ก็ได้

ตัวอย่างบทกวี “ต้มยำกุ้ง” จากการค้นคว้าสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 13 หัวข้อ “อาหารไทย”

หอมกลิ่นข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด

ในต้มยำกุ้งหม้อหนึ่ง

สีสวยราวดวงอาทิตย์

ฉันน้ำลายไหล

รีบตักข้าวสวยร้อนๆ ใส่จาน

กินกับต้มยำกุ้งฝีมือแม่

รสชาติจัดจ้านเหมือนใส่พริกทั้งสวน

การนำบทกวีมาปรับถ้อยคำ เรียบเรียงและใส่ทำนองเป็นเพลงแร็พชื่อ “ต้มยำกุ้งสระอูด” ขับร้องโดย “กลุ่มเซเว่นชิลล์”

หอมกลิ่นข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด

ในต้มยำกุ้งหม้อหนึ่งที่ยังไม่บูด

สีสวยราวกับดวงอาทิตย์ที่ฉาดฉูด

ฉันน้ำลายไหล โย่วๆ จนต้องสูด

รีบตักข้าวสวยใส่จาน ไม่ใส่สูท

กินกับต้มยำกุ้งฝีมือแม่ที่หน้าบูดๆ

รสชาติจัดจ้านเหมือนใส่พริก ไม่มีผักกูด

พอสุกหอม ยกมาเสิร์ฟ ให้หน้าตูด

อยากกินต้มยำกุ้ง อยากกินต้มยำกุ้งงง อยากกินต้มยำกุ้งงงงงง

หรือบทกวี “คืนลอยกระทง” จากการค้นคว้าสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 41 หัวข้อ “ประเพณีลอยกระทง”

วันเพ็ญเดือนสิบสอง

คืนพระจันทร์เต็มดวง

ผู้คน ชายหญิงต่างคึกคะนอง

เย็บกระทงใบตองซ้อนๆ กัน ประดับประดาด้วยดอกไม้

หญิงสาวแต่งองค์ทรงเครื่องนัดพบ

แต่ผู้ชายของฉันดันควงสาวอื่น

ฉันทำได้แค่นั่งมองพระจันทร์

ข้างหมาสองตัว

กลายเป็นเพลงลูกทุ่ง “หมาวันลอยกระทง” คำร้อง/ทำนอง : พิณพิพัฒน ศรีทวี ขับร้องโดย “กลุ่มนี้อยากไปภูเก็ต”

คืนGพระจันทร์เต็มดวง วันEmที่เราพบกันEm ใครCคู่ดูแสงจันทร์D บนฟากฟ้าG

Cเวลาไม่กี่ชั่วโมง Cmกระทงไม่เคยย้อนมา ใจAmคนคอยห่วงหา ไม่เคยเต็มดวงG D

คืนGที่ไม่มีเธอ คนEmไม่เคยโคจร รอยกระซิบC เมื่อปีก่อนD ยังจดจำG

หนึ่งปีCมีสิบสองเดือน ปฏิทินDไม่เคยฉีกซ้ำG จำAm… ฉันยังจดจำD พระจันทร์ปีกลายG D

*จนGพระจันทร์โคจร ยังEmไม่มีเธอมา เช็ดC… นั่งเช็ดน้ำตาD อยู่กับหมาG

หนึ่งคืนมีCกี่ชั่วโมง กระทงCmไม่เคยย้อนมา ใจAmคนคอยเป็นหมาD วันลอยกระทงG* (ซ้ำ)

การจัดค่ายครั้งนี้ คณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง และวิทยากรต่างร่วมกันทำกิจกรรมที่ประมวลองค์ความรู้จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ซึ่งสร้างความสุข เสียงหัวเราะ ความประทับใจจากบทกวีทั้ง 70 กว่าชิ้น และบทเพลงจากแรงบันดาลใจทั้ง 11 บทเพลง ที่มีทั้งแนวแร็พ ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต และไทยสากล

ถือได้ว่าการจัดค่ายครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสมรรถนะทางความคิด การสื่อสารภาษาไทยให้กับผู้เรียน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และยังเป็นการจุดประกายจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่อาจนำความรู้จากสารานุกรมไทยฯ ไปต่อยอดต่อไปในอนาคต

ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก สมใจ บุษบน