โฟกัสพระเครื่อง/พระกริ่งอริยวงศ์ 90 พรรษา มงคล ‘สมเด็จพระสังฆราช’ เพื่ออาคาร ร.ร.วัดราชบพิธ

โฟกัสพระเครื่อง

พระกริ่งอริยวงศ์ 90 พรรษา
มงคล ‘สมเด็จพระสังฆราช’
เพื่ออาคาร ร.ร.วัดราชบพิธ

โคมคำ
[email protected]

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560 เวลา 13.49 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) เสด็จออก ณ ไพทีหน้าพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร อันเป็นปางประจำวันประสูติ คือ วันอาทิตย์
ส่วนพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระอนุญาตให้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เป็นครั้งแรก นับแต่ทรงสถิตที่สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระอนุญาตให้ประทานนามรุ่นว่า “อริยวงศ์” พร้อมอักษรพระนาม ออป. ประดิษฐานไว้ที่หลังองค์พระ
จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 90 ปี วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560
ด้วยเหตุที่มีคณะศิษยานุศิษย์กราบทูลปวารณาถวายของเฉลิมพระขวัญ เนื่องในโอกาสที่จะทรงเจริญพระชันษา 90 ปี แต่ไม่โปรดให้ถวายสิ่งใดเป็นประโยชน์ใช้สอยส่วนพระองค์ หากแต่มีพระประสงค์จะทรงสืบสานพระกรณียกิจของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่การศึกษาของชาติต่อไป
ประกอบพิธีพุทธาภิเษกมงคลฤกษ์ วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 สมเด็จพระสังฆราช ทรงจุดเทียนชัย ทรงเจริญจิตตภาวนา
โดยมีพระเถราจารย์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 9 รูป ร่วมเจริญจิตตภาวนา ณ พระอุโบสถ

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์รุ่นดังกล่าว จัดสร้างเป็นพระกริ่งเนื้อทองคำ น้ำหนัก 47 กรัมเศษ และพระชัยวัฒน์ น้ำหนัก 17.5 กรัม สร้างตามจำนวนสั่งจอง มอบแก่ผู้บริจาคชุดละ 150,000 บาท พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ เนื้อเงิน สร้าง 1,000 ชุด มอบแก่ผู้บริจาคชุดละ 20,000 บาท และ พระกริ่ง-พระชันวัฒน์ เนื้อนวโลหะ สร้างจำนวน 2,560 ชุดมอบแก่ผู้บริจาคชุดละ 10,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อมอบแก่ผู้บริจาคโดยเสด็จพระกุศลปรับปรุง “อาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1” และสร้าง “อาคารอรุณนิภาคุณากร” สำหรับใช้เป็นอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธ
สำหรับการสร้าง “พระกริ่ง” มีมาแต่โบราณ เริ่มขึ้นที่ในทิเบตและจีน จึงเรียกติดปากว่า พระกริ่งทิเบตและพระกริ่งหนองแส
พระกริ่งเป็นรูปเหมือนพระพุทธเจ้าปางมาช่วยโปรดสัตว์โลก หรือเรียกกันว่า “พระไภษัชคุรุ” เป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายาน ซึ่งหมายความว่า ทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล
ต่อมาได้แพร่หลายมาก นิยมสร้างในเขมร เรียกว่า พระกริ่งอุบาเก็ง หรือพระกริ่งพนมบาเก็ง และพระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์
คำว่า “กริ่ง” มาจากคำถามที่ว่า “กึ กุสโล” (กิง กุสะโล) คือ เมื่อพระโยคาวจรบำเพ็ญสมณธรรมมีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้ายจิตเสวยอุเบกขาเวทนา ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนา) เปลี่ยนเป็น อเนญชา (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน คือ ฌานที่ 4)
เป็นเหตุให้พระโยคาวจร เอะใจขึ้นว่า “กึ กุสโล” นี้เป็นกุศลอะไรเพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้น แปลกประหลาดไม่เหมือนกุศลอื่นที่ผ่านมา
ดังนั้น คำว่า กึ กุสโล จึงเป็นชื่อของ อเนญชา คือ “นิพพุติ” แปลว่า “ดับสนิท” คือ หมายถึงพระนิพพานนั่นเอง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560
มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
ทรงเข้าพิธีบรรพชา เมื่อปี พ.ศ.2480 ที่วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
กระทั่งปี พ.ศ.2490 ย้ายมาอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร)
อุปสมบทเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
พ.ศ.2509 เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกและเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
งานด้านการศึกษา เป็นอาจารย์สอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น
พ.ศ.2552 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ
วันที่ 5 ธันวาคม 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์”
วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ “อริยวงศ์” สมทบทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดราชบพิธได้ที่อาคารชินวรศรีธรรมวิทยาคาร ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทุกวัน เวลา 13.00-16.00 น. (ไม่รับดำเนินการทางโทรศัพท์และทางอิเล็กทรอนิกส์)