วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/จิตวิญญาณกู คือหนังสือพิมพ์รายวัน

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ สุดสัปดาห์ 20 ตค.

จิตวิญญาณกู คือหนังสือพิมพ์รายวัน

รุ่งขึ้น 7 ตุลาคม 2519 หลายคนยังเดินทางเข้ามาสำนักงานที่ตั้งกองบรรณาธิการประชาชาติ เลขที่ 467 ตึกพญาไท ถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง “พี่ป๋อง” พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บรรณาธิการซึ่งถูกปลดโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 6 ตุลาคม เล่าให้ฟังทุกบ่อยว่า
“วันนั้น พี่เชิด (เชิด ทรงศรี) เดินขึ้นบันไดนำเงินค่าโฆษณาหนังที่ลงตีพิมพ์ในประชาชาติ มาให้ บอกว่ารีบเอามาให้ รู้ว่าต้องการใช้เงิน” กรรมการผู้จัดการ ขรรค์ชัย บุนปาน ตอบขอบคุณ แล้วพูดคุยยกใหญ่ หัวร่อหัวใคร่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งพี่เชิดบอกว่า “ชินแล้ว”
อีกไม่กี่วันต่อมา ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการประกาศขายโต๊ะเก้าอี้ และอุปกรณ์บางอย่าง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ ทั้งไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาทำงานอีกเมื่อไหร่
มีผู้เข้ามาขอซื้อเหมือนกัน อาจารย์ป๋องเล่าว่า สายวันนั้น มีอาซิ้มคนหนึ่งเดินขึ้นมาลูบๆ คลำๆ โต๊ะตัวที่ยังนั่งอยู่ เป็นโต๊ะประจำตำแหน่งบรรณาธิการ อาซิ้มคนนั้นสำรวจตรวจตราแล้วถามว่า “เท่าไหร่” อาจารย์ป๋องมองหน้าอาซิ้มคนนั้น สีหน้าไม่น่าพอใจนัก ไม่ยอมตอบราคา บอกไปว่า “ไม่ขาย”
หลังจากนั้นมาบ่นให้พวกเราบางคนฟังว่า แหม ยังไม่ทันลุกจากโต๊ะ มาขอซื้อแล้ว ผมเลยบอกไม่ขาย สู้เก็บเอาไว้เป็นโต๊ะทำงานของตัวเองดีกว่า

ระหว่างนั้น ผมไม่ได้ไปไหนกับใครเขา ยังคงเตร็ดเตร่ไปที่ทำงาน คือกองบรรณาธิการประชาชาติ พบกับเพื่อนร่วมงานหลายคนที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนเหมือนกัน ขณะที่ต้องรอฟังคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองด้วยความหวังว่าจะให้ออกหนังสือพิมพ์อีกเมื่อไหร่ ทั้งที่พอรู้ว่าแทบไม่มีความหวัง
วันที่ 7 ตุลาคม คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 11 ยกเลิกคำสั่งห้ามประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ว่า
เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปมีสภาพเรียบร้อยเป็นปกติดีขึ้นแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการสัญจรไปมาตามปกติ จึงให้ยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 9 และขอความร่วมมือจากประชาชนที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตรวจค้นในเวลาวิกาลเท่าที่จำเป็น
ผู้ที่เดือดร้อนมากในขณะนั้น คือผู้ที่ค้าขายและนำสินค้าออกมาสู่ตลาดยามวิกาล หากไม่ยกเลิกคำสั่งนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นพืชผักผลไม้ที่ข้ามวันข้ามคืนจะเสียหายได้ ทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจประจำวันด้วย
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่ง ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ให้นิตยสารายสัปดาห์และสิ่งพิมพ์อื่นๆ และหนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่ายได้ โดยมีข้อกำหนดหลายประการ จากการควบคุมของคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร ก่อนพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจก เป็นรายฉบับ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร
หากมีการฝ่าฝืนตามข้อกำหนด ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ยึด ทำลาย สั่งพัก ถอนใบอนุญาต สั่งงดเป็นผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้ทันที โดยมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้

นอกจากคณะปฏิรูปจะปิดหนังสือพิมพ์แล้ว ที่ทำงานต่อเนื่องของประชาชาติ คือโรงพิมพ์พิฆเณศยังต้องปิดทำงานไปด้วย แม้จะไม่มีคำสั่งให้ปิดก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจมาตรวจว่ามีเอกสารหรือหนังสือต้องห้ามอะไรบ้าง
ทราบว่าเจ้าหน้าที่พบหนังสือชื่อ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” พิมพ์เสร็จแล้ว แต่ยังไม่เป็นเล่ม เห็นว่าพลิกดูแล้วสั่งให้ยึดไปด้วย (หวังว่าท่านทั้งหลายคงรู้จักหนังสือ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ว่าเป็นเรื่องของนักเขียนฝรั่งมาแปลเป็นไทย เป็นหนังสือนิยายนิทานหรืออะไรทำนองนั้น จำไม่ได้เสียแล้ว)
ผู้ที่อยู่ดูแลโรงพิมพ์พิฆเฌศ คือพนักงานสองสามคน บรรดาช่างทั้งหลายไม่มีใครอยู่ ผู้หนึ่งที่บันทึกถึงสถานการณ์ตอนนั้นไว้ในหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ว่าไปไหนมาไหน คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ
“สถานการณ์ขณะนั้น นักเขียน นักข่าวรุ่นใหม่ถูกตามล่า โดยเฉพาะ ‘พวกประชาชาติ’ แต่ละคนแยกย้ายกันหนีโดยไม่รู้ชะตากรรมของเพื่อน
“ต้องร่อนเร่ไปตามบ้านเพื่อนนานเป็นเดือน นอนคืนละบ้าน ตั้งแต่สวนบางขุนเทียน อพาร์ตเมนต์กลางกรุง กระทั่งบ้านพักนายทหารอากาศดอนเมือง และบ้านตลกโขนละแวกบางขุนนนท์ อาศัยโทรศัพท์แต่ละบ้านติดต่อหัวหน้าช่างพิมพ์ที่มอบหมายให้ดูแลงาน
“ขรรค์ชัยกับเรืองชัยไปทางไหนไม่ทราบ เพราะยุคนั้นยังไม่มีมือถือ ถึงมีก็ไม่ควรติดต่อกัน
“สุดท้ายอดเป็นห่วงโรงพิมพ์ (พิฆเณศ) ไม่ได้ เลยไปร้านก๋วยเตี๋ยวของเจ๊ที่เคยเหมาให้ทำกับข้าวเลี้ยงเด็กโรงพิมพ์ทุกเย็น เพื่อถามไถ่เหตุการณ์ เจ๊เห็นผมก็คว้าข้อมือกระชากเข้าบ้าน พอแง้มหน้าต่างดูจากชั้นบน เห็นรถจี๊ปทหารตั้งปืนหันปากกระบอกเข้าโรงพิมพ์ ตอนนั้นกลัวมาก ยืนตัวแข็งทื่อ พอรถทหารแล่นออกไป เลยกราบลาหาแท็กซี่เผ่นไปหลบที่อื่นต่อ”
“สุจิตต์ วงษ์เทศ” ยืนยันกับตัวเองว่า “จิตวิญญาณกู คือ หนังสือพิมพ์รายวัน” ทั้งยังเขียนบทกวีไว้บทหนึ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2517 ลงพิมพ์ในหนังสือประชาชาติ รายสัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ว่า

กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ ปลื้มปริ่มปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
ทั่วไปใหญ่โตมโหฬาร ถือปากกากล้าหาญชาญชัย
กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทิ่มทิ่มลงกระดาษแล้วดีได้
เพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมืองไทย ราคาแพงช่วยให้กูเขียนดี
กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ ยามยิ้มก็ยิ้มด้วยศักดิ์ศรี
ใครฤๅจะกล้ามาราวี ศักดิ์ฐานันดรสี่จะโรมรัน
กูเป็นนักหนังสือำพิมพ์ ถึงกูผิดกูก็ทิ่มไม่หวาดหวั่น
เพราะแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน แล้วใครที่ไหนกันจะกล้าตอม
กูโว้ยเป็นนักหนังสือพิมพ์ มีชื่อจิ้มลิ้มหวนหอม
ใครใครก็เอาใจลอมชอม ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู
เฮ้ย – กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ มาหาให้กูทิ่มหน่อยอีหนู
บ้านเมืองจะรุ่งเรืองเพราะมือกู เพราะฉะนั้นพันธุ์กูรุ่งเรืองเอย