ฐากูร บุนปาน : เมื่อชนะประชามติชนิด “ถล่มทลาย”

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ประสาคนโลกสวย

ไม่ว่าอะไรผ่านหน้ามาก็มโนเอาเองไปก่อนว่าจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความสงบสันติได้ทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหนที่ผ่านมา

ตอนที่เขาพูดกันหนาหูก่อนการลงคะแนนว่า โอกาสที่จะ “ไม่ผ่าน” มีมากกว่า “ผ่าน”

ใจก็ไพล่ไปคิดว่าก็ดีสิ

ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลหรือ คสช. จะได้หันหน้ากลับมาพูดจาภาษาเดียวกันกับชาวบ้าน

เผลอๆ อาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่า “เวอร์ชั่นมีชัย-บวรศักดิ์”

และเป็นต้นทางของการปรองดองที่แท้จริงได้

ก่อนจะรู้ว่านั่นแค่ฝันลมๆ แล้งๆ เมื่อคะแนนประชามติปรากฏ

แต่ถึงขนาดนั้น ก็ยังตั้งความหวังเอาไว้อีกว่า

ในเมื่อชนะประชามติชนิด “ถล่มทลาย” (ตามคำบรรยายของบรรดากองเชียร์ทั้งหลาย) แล้ว

รัฐบาลหรือ คสช. (ซึ่งควรจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ผ่อนคลายลง เพราะรู้ว่ามีมวลมหาประชาชนอย่างน้อย 16 ล้านคนหนุนหลัง) น่าจะเลือกแนวทางปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างด้วยความละมุนละม่อมมากขึ้น

เพราะเห็นชัดๆ อยู่แล้ว ว่าออกมาเย้วๆ ต่อต้านก็ทำอะไรรัฐบาลหรือ คสช. ไม่ได้

จะต้องไปไล่จับไล่ทุบให้เสียคะแนนเสียรังวัดทำไม

แต่พอเห็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ชักไม่แน่ใจ

ประเภทจะจับหนุ่มสันกำแพงทำงานเชฟรอนในฐานะมือระเบิดหรือมือวางเพลิงให้ได้

จับมาขัง 7 วันแล้วปล่อยไปเพราะหาหลักฐานไม่ได้

ก่อนจะไปขอหมายจับซ้ำแล้วทั้งศาลพลเรือน-ศาลทหารไม่อนุมัติหมาย

หรือการเหวี่ยงแหจับ “สหายเก่า” ที่ยังเชื่อมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสม์ทั้ง 17 คน

ไปจนกระทั่งถึงการลากๆ ถูๆ กรณีคุมขัง “ไผ่ ดาวดิน” และอื่นๆ

ที่กว่าจะให้ทั้งหมดประกันตัวได้ ก็แทบไม่มีความหมายต่อความรู้สึกแล้ว

ชวนให้คิดว่าวันนี้ รัฐบาล-คสช.

1. มั่นใจในตัวเองแบบทะลุเพดานไปแล้ว เชื่อว่าทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้น

หรือ

2. กลัว

กลัวความเปลี่ยนแปลงที่จับได้เค้าๆ เลาๆ

กลัวเพราะรู้สึกได้ถึงความไม่หนาแน่นเป็นแผ่นพื้นในหมู่คณะอย่างที่เคยเป็นมา

หรือกลัวว่าจะมีสิ่งนอกการควบคุมปรากฏ

แต่นาทีนี้สาเหตุยังไม่สำคัญเท่ากับผลที่ตามมา

ว่าแนวทางสายเหยี่ยว (มากขึ้น) นี้จะนำไปสู่สถานการณ์อะไร

เพราะในขณะที่กลไกด้านความมั่นคงทำงานเต็มเหนี่ยวนั้น

ในอีกด้านหนึ่งกลไกด้านอื่นๆ ในระบบบริหารและการจัดการงบประมาณของรัฐก็แสดงความพิกลพิการให้เห็นอยู่เป็นระยะ

ตัวอย่างประเภท อปท. มีสตางค์ และพร้อมจ่าย

แต่เอาเงินไปช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนอาหารกลางวันไม่ได้

มีที่อุตรดิตถ์แห่งเดียวหรือ?

หรือ อบจ. เอาเงินไปช่วยปรับปรุงโรงพยาบาลท้องถิ่น

เพื่อให้รับคนไข้ได้มากขึ้น และจะได้เข้าข่ายได้รับเงินช่วยจาก สปสช. (ก็เพื่อให้บริการประชาชนดีขึ้น)

กลายเป็นนายก อบจ. ถูกตั้งข้อหา-ถูกพักงาน

และจะด้วยสาเหตุข้างต้นหรือไม่-ไม่แจ้ง

แต่ไม่กี่วันต่อมา ท่านเสียชีวิตโดยไม่ได้มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา

ตัวอย่างของยุคที่ข้ออ้างเรื่อง “ปราบโกง” (โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่ “พวกกู”) ระบาด

เพราะถูกจริต “ผู้ดี” (หรือคนอยากเป็นผู้ดี) และผู้มีอำนาจ

อีกด้านหนึ่งก็ให้กลไกปกติง่อยเปลี้ยเสียขา

จริงอยู่ว่า โกงหรือทุจริตต้องป้องกันหรือปราบปราม

แต่ต้องถูกเรื่อง ถูกขั้นตอน

ถ้าหน่วยงานตรวจสอบที่เกาะแข้งเกาะขาผู้มีอำนาจ กลายเป็นองค์กรเสียงดัง-ได้พูดก่อน

ทั้งที่ควรจะเป็นคนพูดหลังสุด หรือทำงานปิดทองหลังพระไปตามหน้าที่ความรับผิดชอบ

คนปกติที่ไหนอยากจะเอาคอไปขึ้นตะแลงแกง

เมื่ออะไรต่อมิอะไรกลับหัวกลับหาง เพราะความระแวงต่อกันรุนแรง

นักเรียนหิวโหยก็รับเคราะห์ไป

คนป่วยที่เป็นคนจนก็รับเคราะห์ไป

ที่เคยโลกสวย หรือเคลิ้มๆ อยู่กับคำหรูประเภท “ขับเคลื่อน” หรืออะไรของใครบางคนบางกลุ่ม

ก็เหมือนถูกปลุกให้ลืมตาขึ้นมา

แต่ยังเผลอนึกว่าฝันร้ายอยู่