ตายแล้ว…เกิดใหม่ เมื่อการเมืองลุกลามเข้าบ้าน และการปลดแอกตัวเองออกจากกรงขังแห่งทัศนคติ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

ตายแล้ว…เกิดใหม่

เมื่อการเมืองลุกลามเข้าบ้าน

และการปลดแอกตัวเองออกจากกรงขังแห่งทัศนคติ

 

“การที่ต้องทนอยู่กับปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างอยากเอาชนะและใช้ความพยายามทุกทางเพื่อให้อีกฝ่ายยอม พวกคุณไม่รู้อะไรหรอก นอกจากเรื่องที่พวกเราอยากให้รู้…”

กล่าวได้ว่าเรื่องสั้น ‘ตายแล้ว…เกิดใหม่’ ของ ‘น้อยคำพันธ์’ ที่เข้ารอบชิงรางวัลมติชนอวอร์ด ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 สิงหาคม 2565 เป็นอีกเรื่องที่ชวนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเมือง เพศสถานะ พิธีกรรมทางศาสนา ที่เมื่อกล่าวถึงทีไร ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลมาคะคานกันได้เสมอ เหมือนไม่มีทางบรรจบรวมเป็นเส้นเดียวกัน

ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในครอบครัวหนึ่งที่ฝ่ายแม่สุดโต่งเรื่องการเมืองฝั่งม็อบเป่านกหวีด และพ่อที่มีทัศนคติความคิดไปอีกขั้วอีกทางหนึ่งอย่างชัดเจน ส่วนอดีตลูกชายที่อยู่ตรงกลาง บัดนี้แต่งหญิงมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แม่รับไม่ได้ ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่พูดคุยกันมาร่วม 3 ปี

จนกระทั่งวันหนึ่ง แม่เขียนกระดาษโน้ตแปะไว้หน้าตู้เย็นชวนลูกไปวัด พร้อมทำแคร์รอตเค้กวางไว้บนโต๊ะอาหาร (แม่มักทำเนื่องในโอกาสพิเศษ) ลูกคิดว่าคงต้องมีเรื่องสำคัญ แต่พอไปถึงจึงรู้ว่าไปทำพิธีกรรม “ตายแล้วเกิดใหม่” โดยให้ลูกนอนในโลงศพเพื่อให้พระท่านปัดเป่าผีร้ายที่มาสิงสู่ “ผู้หญิงตาย ผู้ชายเกิดใหม่”

หวังเอาลูกชายคนเดิมกลับมา

 

เรื่องสั้นเรื่องนี้ จึงพูดอย่างชัดเจนและบอกเราแต่เนิ่นๆ ว่า

‘พวกคุณไม่รู้อะไรหรอก นอกจากเรื่องที่พวกเราอยากให้รู้…’ และอยากบอกให้รู้ไว้ว่า แม่ฉันเผด็จการ!

เราจึงรู้พอสังเขปว่าลูกกับแม่ไม่กินเส้นกันมาได้ 3 ปีแล้ว (แม่อยู่ชั้นบนลูกอยู่ชั้นล่างแบ่งอาณาเขตกันชัดเจน) พ่อกับแม่เลิกร้างกันไปเพราะเหตุฝักใฝ่การเมืองคนละฝ่าย ด้านแม่นั้นมีกลุ่มเพื่อนม็อบที่ไปทำกิจกรรมเป่านกหวีดด้วยกันหลายครั้ง (มีนกหวีดห้อยเต็มบ้าน)

พ่อทะเลาะกับแม่บ่อยและไม่อาจทนอยู่กับแม่เพราะสาเหตุนี้ ส่วนหนึ่งจึงพอเข้าใจได้ แต่อีกส่วนหนึ่ง อาจมองว่านี่เป็นการหนีปัญหา ทิ้งภาระให้ผู้เป็นแม่ได้อีกเช่นกัน ระหว่างทางที่อ่าน จึงเกิดคำถามขึ้นมาเป็นระยะๆ ทำไมพ่อทิ้งไป พ่อหายไปไหน จนกระทั่งถึงตอนที่พ่อปรากฏตัวขึ้นมาอีกครั้ง (ในส่วนนี้ไว้ตอนท้ายจะมาขยายความให้ฟังอีกที)

ด้านความเชื่อที่แม่หลงใหลศรัทธา (หรือเรียกว่าหมกมุ่น) ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ในสังคมทุกวันนี้ ตั้งแต่การบนบานศาลกล่าว พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่าทวยเทพเทวดา พระสงฆ์องค์เจ้า เครื่องรางของขลัง วัดไหนใครว่าดี มีเกจิอาจารย์ดังน่าศรัทธาเลื่อมใส หรือการใส่เสื้อผ้าสีมงคลตามวันต่างๆ การทำพิธีกรรม การสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ เหล่านี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” นั้นมีผลศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าการหยิบนำหลักทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน

 

ส่วนประเด็นเรื่อง LGBTQ หรือความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในวันนี้เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น เปิดเผยกันมากขึ้น ไม่ต้องมัวมาคอยปกปิดซ่อนเร้นเหมือนแต่ก่อน แต่กลับกลายเป็นว่าแม่มีธงในใจของแม่ชัดเจนคือ เลือกที่จะไม่เห็นดีเห็นงามหรือสนับสนุนตามใจลูกไม่ต่างจากเรื่องการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยมีปัญหากับสามี

ดังจะเห็นว่าแม่เลือกที่จะไม่ฟังความคิดใคร เลือกเอาความคิดตัวเป็นใหญ่และชี้นำคนอื่นให้คิดเห็นคล้อยตาม (“แม่ใช้แบบแผนเดียวกันไม่ว่าจะฉันหรือพ่อหรือกับใครๆ”) และถ้าไม่เห็นดีเห็นงามด้วยแม่ก็พร้อมแตกหักกันไปข้าง แม่จึงกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเมื่อสามีจากไปและเมื่อมีปัญหากับลูก แม่ก็เลือกที่จะไม่คุยไม่มีปากเสียงกับลูกอีก โดยการเลือกหันหน้าเข้าวัดแทน แม้ในสายตาของลูกจะมองสิ่งที่แม่ประพฤติปฏิบัติเป็นอีกอย่างก็ตาม

“หลังจากที่พ่อออกจากบ้านไป ฉันก็เรียนหนังสือและทำงานไปด้วย ส่วนแม่นอกจากทำงานก็หันไปเข้าวัด แต่น่าแปลกที่ฉันไม่เห็นว่าแม่จะจิตใจสงบหรือมีความสุขเลยสักนิด แม่เอาแต่ขนเครื่องรางที่เขาว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์เข้าบ้าน จนชั้นสองแทบจะเป็นที่รวบรวมของขลังสำนักดังทั้งหลายเอาไว้จนครบ”

นอกจากแม่แล้ว ในสิ่งที่ลูกกำลังเฝ้ามองแม่จากทัศนคติส่วนตน ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจในแบบหนึ่ง หากมองตามความเข้าใจอย่างคนไม่มีความเชื่อ ความศรัทธาในแบบเดียวกันกับแม่ ก็มีเหตุผลรองรับสนับสนุนความถูกต้องตรงตามที่ลูกพูดให้แม่ฟังทุกประการ

“ฉันเคยพูดกับแม่หลายครั้งว่าหลักธรรมเขามีแต่สอนให้ปล่อยวาง คิดแต่เรื่องดีๆ ละเว้นทำเรื่องชั่วๆ แล้วก็ค่อยๆ ฝึกละความอยากและควบคุมอารมณ์ แต่แม่ไม่ฟัง แม่มีแต่ความอยาก ยังคงฉุนเฉียว ถือตัวถือตนถือฤกษ์ถือโฉลกถือมงคลถือเสนียด จะทำอะไรก็เป็นภาระไปหมดเพราะหมอดูทำนายทายทักว่าควรทำเมื่อไหร่ ควรใส่สีไหน สิ่งใดห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ต้องไหว้นั่นไหว้นี่ตามแต่หมอดูบอก ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันได้ผลดีจริงหรือไม่อย่างไร เพราะแม่ติดอยู่กับคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ไม่รู้อย่าอวดดี”

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ทำไมแม่ไม่เชื่อในสิ่งที่ลูกพูด แต่กลับไปเชื่อหมอดู เชื่อถือโชคลางของขลัง อาจกล่าวได้ว่า ประโยคเดียวกัน คำพูดเดียวกันนี้ ถ้าออกจากปากคนอื่น คนที่แม่พร้อมจะเชื่อพร้อมจะฟัง แรงจูงใจจะมีมากกว่า แต่ลูกกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ลูกเป็นสิ่งที่แม่ต่อต้าน (กะเทย) และไม่เป็นดังที่แม่หวัง (ลูกชายคนเดิม) เสียงที่ลูกพูดจึงมีน้ำหนักไม่มากพอเข้ากระทบกระเทือนถึงใจ (หรือแรงจูงใจมีไม่มากพอ)

และเช่นเดียวกันเมื่อมองย้อนกลับในสิ่งที่แม่พูด “เมื่อไหร่แกจะเป็นคนปกติเหมือนคนอื่นเขาสักที” แต่ลูกไม่ได้เชื่อตามในสิ่งที่แม่อยากให้เป็น แว่นแห่งทัศนคติของแม่กับลูกจึงส่องมองไปคนละทิศละทางกัน เมื่อลูกมีความเชื่อหนักแน่นในสิ่งที่ตนเป็นและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทำไมแม่จะต้องไปสนใจสายตาของคนอื่น

“ถ้าการอยู่บนโลกภายใต้ความคาดหวังหรือความพอใจของคนอื่นหรือต้องเป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็น ต้องคอยสนใจสายตาคนที่มองมาตลอดเวลา มันก็คือการตายทั้งๆ ที่ยังมีชีวิต หากต้องเสแสร้งหรือโกหกในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราเพื่อให้คนอื่นพอใจ เราจะมีตัวตนที่เป็นเราจริงๆ ได้อย่างไร…”

ยิ่งในฉากทำพิธีกรรมปัดเป่าผีร้ายที่มาสิงสู่โดยการให้ลูกลงไปนอนในโลงศพนั่นก็เหมือนกัน ซึ่งน่าจะเป็นฉากเดียวที่ลูกได้เห็น ‘รอยยิ้ม’ ของผู้เป็นแม่ เมื่อลูกแต่งชุดผู้ชายที่แม่เตรียมไว้ให้และลงไปนอนในโลงตามที่แม่ต้องการ

โดยในฉากเดียวกันนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นว่า สิ่งที่แม่ศรัทธากราบไหว้นับถือกับสิ่งที่ลูกเป็นและชัดเจนในจุดยืนมาตลอดได้ถูกนำมาหักล้างและชดเชย ‘รอยร้าว’ ตลอด 3 ปีที่ผ่านให้กลับมาปะติดปะต่อเข้ากันได้อีกครั้ง

 

ทีแรกผู้เขียนบทความเกิดคำถามขึ้นในใจทันทีที่อ่านจบว่า ทำไมพ่อจึงตัดสินใจหนีไปบวชละทางโลกเข้าสู่ทางธรรม แต่ทีต่อมาก็บังเกิดความเข้าใจเมื่อได้อ่านทวนข้อความที่ ‘น้อยคำพันธ์’ ผู้เขียนทิ้งไว้ให้เราแต่ต้นว่า ‘พวกคุณไม่รู้อะไรหรอก นอกจากเรื่องที่พวกเราอยากให้รู้’

บางทีการ ‘คิดแทน’ หรือจ้องมองเข้าไปในครอบครัวหนึ่งของคนอื่น (แม้จะเป็นเรื่องแต่ง) เราคงได้แต่คาดเดาไปต่างๆ นานา ดังคำกล่าวที่ว่า ‘สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นดังที่เห็น’ ก็น่าจะถูกต้องที่สุด แวบแรกก็คิดทำนองว่าทำไมต้องหนีปัญหาไม่หันหน้ามาคุยมาปรับความเข้าใจกัน เรื่องการเมืองนอกบ้าน ทำไมต้องนำเข้ามาทำให้คนในบ้านสั่นคลอนทั้งที่เป็นพ่อแม่คนแล้ว แต่นั่นก็เป็นแค่ทัศนคติมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนบทความ

แต่ในทัศนคติมุมมองของน้อยคำพันธ์อาจมีเหตุผลส่วนตนที่มองว่า ทางโลกที่สับสนวุ่นวายและการเมืองที่สาแหรกขาดมาเนิ่นนานนี้ นับวันจะยิ่งทำให้ผู้คนแตกแยกกันมากขึ้นๆ พ่อไม่ได้เลือกไปมีภรรยาใหม่ ไปเข้ากลุ่มชุมนุมกับเพื่อนสีเดียวกันและพบใครคนใหม่ในนั้น แต่พ่อเลือกเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ดับขันธ์ทางโลกพึ่งร่มเงาพระพุทธศาสนา ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นการยุติบทบาท เลือกที่จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ใดอีก

โดยเฉพาะในตอนท้ายๆ ภาพแม่กับ ‘ลูกสาว’ (ที่แม่ยอมรับแล้ว) กำลังใส่บาตรกับหลวงตารูปหนึ่ง พร้อมๆ กับเสียงคุ้นหูตอนก้มรับพรว่า

“ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวมีลูกชายที่น่ารัก ใครจะคิดว่าพอแก่ตัวลงจะมีลูกสาวที่น่ารักยิ่งกว่า”

ก็ยิ่งฉายภาพที่ยิ่งใหญ่อาบอิ่มหัวใจสองแม่ลูกกว่าเรื่องอื่นใดที่เคยทำร้ายครอบครัวให้เงียบงันมานาน การหันกลับมารอมชอมยอมลงให้กันของผู้เป็นแม่ที่มองเห็นการเมืองในรูปแบบเดิมๆ แล้วไม่ได้อะไรมีแต่จะทำให้ครอบครัวแตกแยกหนักขึ้นกว่าเดิมนั้น สิ่งนี้อาจจะเป็น ‘ทางเลือก’ ที่ประนีประนอมที่สุดแล้วสำหรับทุกคน

และโดยไม่ต้องไปทำพิธีกรรมอื่นใดให้สูญสิ้นศรัทธาไปมากกว่านี้ เมื่อแม่เลือกที่จะเปิดใจฟังลูกมากขึ้น เข้าใจลูกมากขึ้น มองปัญหาในบ้านมากกว่าปัญหาที่อยู่ภายนอกบ้าน ยอมหักบ้าง ยอมงอบ้าง ก็เพื่อให้ลูกที่ไม่ใช่คนอื่นคนไกลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แม่จึงทำถูกแล้วที่เลือกทำหน้าที่แม่มากกว่าที่จะทำผิดซ้ำด้วยกรงขังแห่งทัศนคติที่แม่เป็นคนสร้างขึ้นมาเอง และเมื่อปลดแอกตัวเองออกจากกรง…แม่จึงเป็นอิสระ

ดังคำกล่าวของลูกที่บอกกับแม่ว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นย่อมดีเสมอ” ถึงแม้การเมืองนอกบ้านในวันนี้จะยังคาราคาซังและเหมือนไม่มีวันจบสิ้น แต่คนในบ้านได้กลับมาปรองดองกันดังเดิม จึงเป็นเหมือนของขวัญของการเริ่มต้นจากการ ‘ตายแล้ว…เกิดใหม่’ ของทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง!