ตยาคราช : ดนตรีคืออีกวิถีแห่งความหลุดพ้น / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ตยาคราช

: ดนตรีคืออีกวิถีแห่งความหลุดพ้น

 

“โอ้บรรดาผู้ภักดี โปรดบอกข้าทีหากได้พบพานพระองค์ ข้าขอประนมก้มกราบท่าน พระองค์รุ่งเรืองด้วยศรศิลป์ในพระหัตถ์ แววพระเนตรเปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณ ใครได้ยลก็ต้องหลงใหลพระรูปลักษณ์ทรงเสน่ห์ พระองค์เชี่ยวชาญการเจรจาพาทีกับสาวก ทรงเข้าใจอุปนิสัยสันดานของพวกเขา การแยกจากพระองค์ทำให้กายข้าแห้งเหี่ยว เมื่อยืนอยู่เบื้องหน้าใจข้ามลายหายไปกับพระองค์ ข้ามิอาจบรรยายความโทมนัสในหทัย โปรดบอกความลับในการค้นหาพระองค์ด้วย เพราะข้าเห็นพระองค์เป็นเสมือนมิตรรัก”

วันที่ 4 เดือนพฤษภาคม ปีคริสต์ศักราช 1767 ณ เมืองติรุวารุร์ (Tiruvarur) เด็กน้อยซึ่งในภายหน้าจะเป็นถึงมหาสังคีตาจารย์แห่งอินเดียใต้ได้ถือกำเนิดขึ้น ตระกูลของท่านเป็นพราหมณ์เตลุคุภาษา ส่วนท่านเป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสามคน

นาม “ตยาคราช” (Tyagaraja) ซึ่งชาวอินเดียใต้มักจะเขียนเป็น Thyagaraj หรือ “ราชาแห่งผู้สละโลก” ของท่านนั้น ได้มาจากนามแห่งพระศิวะในเทวาลัยใกล้ถิ่นกำเนิด นามเดิมของท่านคือ กาการลา ตยาคพราหมัน

ว่ากันว่าบิดาและมารดาพากันไปขอพรต่อพระศิวะตยาคราชเจ้าเพื่อให้ได้บุตรที่ดี ไม่ดื้อรั้นเหมือนบุตรสองคนแรก เมื่อกลับจากเทวาลัย ศานตาเทวีมารดาของตยาคราชฝันไปว่า พระศิวะได้ประทานพรโดยกล่าวว่าบุตรที่เธอกำลังจะตั้งครรภ์นี้ จะเป็นยอดนักร้องและเป็นผู้ภักดีแห่งพระรามหาใครเสมอเหมือน

ตยาคราชแสดงความสนใจในดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุเพียงห้าขวบ บิดาได้พาท่านไปเทวาลัย เด็กชายสามารถขับร้องร่วมกับนักดนตรีที่บรรเลงถวายพระเป็นเจ้าได้อย่างน่าอัศจรรย์ น้ำเสียงสดใสน่ารักของท่านทำให้ผู้คนประทับใจ รามพราหมันผู้บิดารู้แล้วว่าจะต้องส่งเสริมให้ตยาคราชเรียนดนตรีให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ตำนานยังเล่าว่าตยาคราชสามารถประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

 

การเรียนดนตรีในสมัยโบราณจำต้องฝากตัวอยู่กับครูหลายปี จนกว่าจะเชี่ยวชาญจึงออกจากสำนักได้ การรับศิษย์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าเมื่อโสนติ เวงกฏรามันไนยาผู้เป็นนักดนตรีแห่งราชสำนักตันชาวูร์ ได้เห็นอัจฉริยภาพของตยาคราชเพียงครั้งเดียวก็รับเขาไว้เป็นศิษย์

ตยาคราชอายุสิบหกปีก็สำเร็จการศึกษา ท่านเชี่ยวชาญทั้งการขับร้อง การประพันธ์และภาษาสันสกฤต จึงได้ออกจากสำนักไปอยู่ที่เมืองติรุไวยรุ (Thiruvaiyaru) และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นส่วนใหญ่

ครั้นมีอายุได้สิบแปดปีก็แต่งงานกับปารวตี หลังแต่งงานไม่นานบิดามารดาก็สิ้นชีวิต สี่ปีให้หลังภรรยาก็จากไปอีกคน

ตยาคราชรู้สึกถึงความไม่เที่ยงแท้ของโลก แม้อยากจะสละจากการเป็นผู้ครองเรือน แต่ผู้คนรายรอบเห็นว่าท่านยังหนุ่มแน่น จึงให้แต่งงานกับกมลาพาน้องสาวของปารวตีตามประเพณีในสมัยนั้น ตยาคราชก็ยินยอม

แม้จะแต่งงานแล้ว แต่ตยาคราชกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ในการขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า พี่ชายคนโตจึงดุด่าเพราะเห็นว่าการมัวแต่ขับร้องสรรเสริญเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้อะไร และยังทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของครอบครัว

ตยาคราชตอบโต้พี่ชายว่า หากเห็นเขากำลังผลาญทรัพย์สินมรดกของบิดา ก็จะยกส่วนของตนเองให้พี่ทั้งหมด แล้วออกจากบ้านไปอยู่ในเพิงพักเล็กๆ ตยาคราชและภรรยาจึงไม่มีทรัพย์สินมีค่าติดตัว เขานำมาแค่เทวรูปพระรามและพิณตานปุระสำหรับประกอบการขับร้องเท่านั้น

แม้จะยากลำบาก ภรรยาของท่านก็มิเคยทอดทิ้งหรือว่ากล่าวสามี ได้แต่ดูแลตยาคราชด้วยความรักที่จริงแท้ ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างยากจนแต่เปี่ยมไปด้วยความภักดีต่อพระรามเป็นเจ้า

 

วันหนึ่งท่านได้พบกับนักบวชนามว่ารามกฤษณานันทะ ตยาคราชขอมนต์เพื่อจะข้ามพ้นสังสารวัฏนี้ รามกฤษณานันทะจึงได้อภิเษกและให้ตยาคราชท่อง “พระรามนาม” จำนวนสิบล้านจบ ตยาคราชสามารถท่องนาม “ราม” ได้ถึงวันละหนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันจบติดต่อกันทุกวัน

เมื่อท่องมนต์ครบตามจำนวนที่ตั้งไว้ ท่านได้บรรลุ “วจนสิทธิ” หรือวาจาสิทธิ์ คือกล่าวสิ่งใดก็จะเป็นไปตามนั้น แต่ตยาคราชกังวลว่า แม้จะให้พรได้ก็สามารถสาปแช่งผู้คนได้เช่นกัน จึงทำพิธีคืนวจนสิทธิไป ท่านตระหนักดีว่าตนเองต้องการเพียงแค่ได้พบพระเจ้าเท่านั้น

พระรามผู้รักสาวกได้มาปรากฏต่อตยาคราชพร้อมทั้งพระลักษมณ์และพระวิศวามิตรฤษี ความตกตะลึงทำให้ตยาคราชลืมแม้แต่จะกล่าวต้อนรับ ท่านรู้สึกหลอมรวมกับนิมิตพระรามที่ได้เห็นนั้น และเมื่อได้สติก็กล่าวต้อนรับทั้งๆ ที่นิมิตเหล่านั้นเลือนหายไปแล้ว

ครั้งหนึ่ง หนุมานมาพบตยาคราชในเวลากลางคืน ร้องขอว่าตนเองได้พบพระรามเมื่อพระรามได้ผ่านพิธีแต่งงานอันเป็นสิริมงคลและน่าชื่นใจไปแล้ว จึงอยากให้ตยาคราชช่วยประพันธ์เพลงถึงวันนั้นให้ฟัง ตยาคราชจึงประพันธ์เพลงชื่อ “สีตากัลยาณะ ไวโภคเม” (Sita Kalyana Vaibhogame) “ความยิ่งใหญ่แห่งพิธีแต่งงานของสีดา” และขับร้องให้หนุมานฟัง

บทประพันธ์ข้างต้นนับว่าเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเพลงหนึ่งของตยาคราช ยังคงนิยมขับร้องในพิธีมงคลวิวาห์ของชาวอินเดียใต้จนทุกวันนี้

 

เพลงของตยาคราชส่วนใหญ่เป็นภาษาเตลุคุและสันสกฤตเรียกว่า “กีรติ” (kirti) หรือเพลงสรรเสริญ รวมแล้วมีจำนวนมากมายหลายร้อยบทซึ่งบรรดาศิษย์ได้จดจารบันทึกไว้ มีที่นิยมนับถือกันว่าเป็นเพลงยอดเยี่ยมที่สุดห้าเพลงแห่งดนตรีอินเดียใต้ (กรรณาฏิกสังคีต) เรียกว่า “ปัญจรัตนะกีรติ” หรือ อัญมณีทั้งห้าแห่งเพลงสรรเสริญ

ตยาคราชได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสามมหาสังคีตาจารย์แห่งดนตรีอินเดียใต้ อันได้แก่ ศยาม ศาสตรี (Shyam Shastri), ตยาคราช และมุตตุสวามีทิกษิตร์ (Muttuswami Dikshitar)

แม้ท่านจะเป็นสาวกผู้ภักดีของพระราม แต่ก็ได้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเทพเจ้าอื่นๆ ไว้อย่างไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นพระพิฆเนศวร์ พระศิวะ พระเทวีต่างๆ และสรรเสริญสาวกผู้ภักดีด้วย

ตยาคราชรักพระรามดั่งดวงใจ ตำนานเล่าว่า วันหนึ่งกษัตริย์แห่งตันชาวูร์ได้ขอร้องให้ท่านไปสู่ราชสำนักของพระองค์ พร้อมเสนอของกำนัลและเงินทองจำนวนมากแต่ตยาคราชปฏิเสธ สิ่งนี้ทำให้พี่ชายของท่านโกรธมาก จึงแอบขโมยเทวรูปพระราม สมบัติสำคัญไม่กี่ชิ้นของตยาคราชไปโยนทิ้งในแม่น้ำกาเวรี

เมื่อตยาคราชตื่นขึ้นไม่พบเทวรูป ท่านร้องไห้คร่ำครวญแล้วออกตามหาตลอดทั้งวัน ชาวบ้านทั้งหลายก็ช่วยกันค้นหา สุดท้ายตยาคราชพบเทวรูปพระรามของท่าน พี่ชายจึงประจักษ์ในความรักที่ตยาคราชมีต่อพระเป็นเจ้า และได้เปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น

 

มหาสังคีตาจารย์ผู้นี้สิ้นชีพไปสู่ไวกูณฑ์โลกของพระเป็นเจ้าเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี ค.ศ.1847 สิริอายุได้ 80 ปี ว่ากันว่าท่านสิ้นชีพในขณะประพันธ์บทเพลง

ทุกๆ ปีราวต้นเดือนมกราคม บรรดานักดนตรีอินเดียใต้หลายร้อยคนจะพากันมายังเมืองติรุไวยารุ เพื่อร่วมการบรรเลงดนตรี “ตยาคราชอาราธนา” เพื่อรำลึกถึงนักบุญตยาคราช ณ สมาธิสถานของท่าน นับเป็นงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอินเดีย

ปรัชญาของตยาคราชเน้น “ภักติ” รวมกับ “ไวราคยะ” (การสละความยึดมั่นถือมั่น) และเนื่องจากท่านเป็นนักดนตรี ท่านจึงเห็นว่าดนตรีเป็นหนทางที่สำคัญที่ทำให้เข้าถึงสภาวะภักติตั้งแต่เริ่มต้นแล้วละเอียดสูงขึ้นไปจนถึงความหลุดพ้นได้ อีกทั้งดนตรีคือ “นาทะโยคะ” หรือโยคะแห่งเสียงอันมีความลึกล้ำสูงส่ง เป็นอีกหนทางในการปฏิบัติที่ผู้คนอาจไม่ค่อยรู้จัก

ท่านกล่าวถึงตนเองว่า “รูปพระรามและสีดาคือโชคของฉัน ตานปุระ (เครื่องดนตรี) คือเรือพาข้ามห้วงโอฆะสงสาร และพระรามนามคือโมกษะของฉัน” และได้ประพันธ์บทเพลงที่กล่าวถึงคุณของดนตรีไว้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งผมขอนำมาปิดท้ายบทความ

“ใจเอย อย่าละเลยการบูชาดนตรี อันพระศรีบดีเคลื่อนไปตามสวระ (โน้ต) ทั้งเจ็ดที่ตยาคราชขับร้องอยู่

ผู้รู้ความสง่าแห่งทุกราคะ (บันไดเสียง) อันไพเราะ

ได้อวตารมาเป็นรูปอันควรเหมาะ กับกระพรวนเท้าที่จำเพาะนาฏลีลา”

“ใจเอย จงลุถึงบรมสุขโดยสลายตนเองไปกับนาทะ (เสียง) อันมีราคะ (บันไดเสียง) หลากหลาย

ประกอบด้วยสวระ (โน้ต) ทั้งเจ็ด จงบรรลุความปรารถนาอันถูกต้อง

พระตรีมูรติ บรรดาทวยเทพและฤษี มีพระคเณศเป็นอาทิ ต่างดำเนินไปบนหนทางนี้ทั้งสิ้น

ตยาคราชรู้สิ่งนี้” •