ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ล้านนาคำเมือง
ชมรมฮักตั๋วเมือง
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“วัดกู่เต้า”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดกู่เต้า”
วัดกู่เต้า มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
คำว่า “เวฬุวนาราม” แปลว่า ที่อยู่ในป่าไม้ไผ่ ในอดีตวัดนี้ตั้งอยู่ในป่าไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันไม่มีไม้ไผ่แล้ว จากหนังสือประวัติวัดกู่เต้า ได้กล่าวว่า วัดกู่เต้าสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1993 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.1995
คำว่า “กู่เต้า” เป็นภาษาไทยยวน
“กู่” หมายถึง ที่บรรจุอัฐิ “เต้า” หมายถึง ผลแตงโม
“กู่เต้า” จึงหมายถึง ที่บรรจุอัฐิรูปทรงแตงโม ซึ่งเป็นลักษณะของเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัด เจดีย์นี้ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ชั้นถัดไปมีลักษณะทรงกลมคล้ายบาตรคว่ำซ้อนกัน 5 ชั้น เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มีการประดับปูนปั้นด้วยเครื่องเคลือบดินเผาประดับกระจกสีเป็นลายดอกไม้เล็กๆ
สันนิษฐานว่าคงจะถูกบูรณะเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 24 ส่วนยอดเป็นเจดีย์สีทององค์เล็กและยอดฉัตรตรงปลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเจดีย์แบบพม่า
จากลักษณะของเจดีย์ที่คล้ายบาตรคว่ำ 5 ใบ อาจหมายถึง พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระศรีอริยเมตไตรย ที่จะทรงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต

ความเป็นมาของเจดีย์องค์นี้ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า สมัยที่พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ แต่ตีเอาเมืองไม่ได้ จึงท้าพนันสร้างเจดีย์แข่ง หากฝ่ายไหนสร้างเสร็จก่อนเป็นผู้ชนะ
ทางพม่าสร้างเจดีย์กู่เต้า ทางเชียงใหม่สร้างเจดีย์ใหญ่กลางใจเมือง ขณะที่เชียงใหม่สร้างได้เพียงฐานเจดีย์ ทางพม่าสร้างเจดีย์ได้กว่าครึ่งองค์แล้ว ทางเชียงใหม่จึงออกอุบายสานเสื่อลำแพนทาสีดินแดงคล้ายอิฐ ใช้ไม้ไผ่ลำยาวเอาโคนไผ่ฝังดินทำเป็นรูปเจดีย์ เอาเสื่อลำแพนมัดติดโครงไม้ไผ่จนถึงยอด มองไกลๆ คล้ายเจดีย์ใหญ่
เมื่อฝ่ายพม่าเห็นก็นึกว่าแพ้ จึงยกทัพกลับไป
เจดีย์แห่งนี้ ยังเป็นที่บรรจุอัฐิของมังนรธาช่อ ซึ่งยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในช่วง พ.ศ.2122-2156 ตามบัญชาของพระมหาอุปราชนันทบุเรง แต่ถูกพระนเรศวรตีแตกพ่ายและยอมสวามิภักดิ์ต่อพระนเรศวร จึงถูกตัดขาดและไม่สามารถกลับพม่า ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2156
พระมหามังชวยเทา ซึ่งเป็นพระอนุชาได้จัดการถวายพระเพลิงพระศพ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นในบริเวณดงไผ่
ปัจจุบันผู้คนที่มาทำบุญที่วัดกู่เต้า ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยใหญ่
พ.ศ.2540 มีการก่อตั้งชมรมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่ และมีการจัดงานปีใหม่ไทยใหญ่ครั้งแรกที่วัดกู่เต้าในปี พ.ศ.2554 •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022