ยาสามัญประจำบ้าน ต.จอมศรี จ.อุดรธานี / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ยาสามัญประจำบ้าน

ต.จอมศรี จ.อุดรธานี

 

ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจอมศรี อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ผ่านมาหมาดๆ เป็นจุดหลอมรวมคนรักสมุนไพร

เกิดการก่อตัวการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ

รวบรวมสมาชิกตั้งแต่หมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำโดย พ่อหมอสิงห์ บรรเทาโฮม และเพื่อนหมอพื้นบ้านอีก 3 ท่าน นายอภิศักดิ์ วงศ์ประชุม (รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมศรี) นายบรรจง สาวะสิทธิ์ (กำนัน) คุณครูวิชชุดา อินนาทร (โรงเรียนบ้านจอมศรี) ก็มาเตรียมการเรียนรู้และสืบต่อภูมิปัญญาให้เด็ก

ที่เป็นกำลังหลักในพื้นที่ คือ คุณวาสนา ผิวเหลือง ผอ.รพ.สต.จอมศรี พร้อมทีมบุคลากร และ คุณสุนิศา ลุจริง แพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลจอมศรี สำหรับมูลนิธิสุขภาพไทยและกลุ่มงานแพทย์แผนไทยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีมาสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง

ความรู้และต้นทุนทางสังคมในตำบลจอมศรีมีมากมาย ทั้งที่ได้ทำไว้และที่กำลังจัดการความรู้ เพื่อจัดระบบเชื่อมโยงทุนทางสังคมในการพึ่งพาตนเองในชุมชนไปถึงสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนด้วย

ตัวอย่างเช่น ชมรมหมอพื้นบ้านจอมศรีที่รวมตัวกันมานานกว่าสิบปี ได้ทุนสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ จากหน่วยงานเป็นครั้งคราว แต่ด้วยจิตอาสาที่ใหญ่ก็ช่วยกันนำทรัพยากรของหมอพื้นบ้านมาส่งเสริมการใช้สมุนไพร

ที่โดดเด่นคือการช่วยกันตระเวนนำ “รถเข็นยาต้มสมุนไพร” และใช้รถกระบะส่วนตัวไปตามวัดในวันพระทุก 15 ค่ำของทุกเดือนเพื่อตั้งหม้อยาต้มสมุนไพรแจกจ่ายคนมาวัดถือศีลฟังธรรม

และยังไปช่วยต้มยาสมุนไพรในงานศพเพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ ชวนคนมาดื่มยาต้มบำรุงกำลังดีกว่ากัน

ซึ่งนับเป็นการสืบสานคุณค่าสมุนไพรที่จับต้องได้อย่างแท้จริง

 

สูตรยาตำรับของพ่อหมอสิงห์ บรรเทาโฮม 1) เถาวัลย์เปรียง 2) เถาเอ็นอ่อน 3) เถาโคคลาน 4) เถาประดงข้อ 5) เถาประดงเส้น อย่างละ 15 กรัม 6) ผลมะตูมอ่อน 7) กิ่งและใบต้นทองพันชั่ง 8) โด่ไม่รู้ล้ม (ทั้งต้น) อย่างละ 5 กรัม ต้มน้ำกิน

ถ้าให้ยาออกฤทธิ์ตามตำรับให้ต้มน้ำ 3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน กินครั้ง 1 แก้ว วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

แต่ในรถเข็นจิบกินในงานบุญอาจต้มยาเติมน้ำไปเรื่อยๆ ยาอาจจางนิด เพราะคนกินติดใจดื่มหลายแก้ว ยาต้มนี้กินบำรุงกำลัง คลายปวดเมื่อยร่างกาย

ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพนั้น ได้ตกลงวางแผนจะตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ

1) บรรเทาอาการและโรคที่คนในชุมชนเป็นกันบ่อย อาจเรียกว่าเป็นสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน พร้อมกับปลูกต้นไม้ใช้ดูแลสุขภาพหรือพึ่งตนเองได้

2) หากมองตามตัวเลขสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขก็พบว่า กลุ่มโรค NCDs โรคเรื้อรังนั้น เป็นภัยคุกคามสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ จึงคิดว่าน่าจะมีความรู้จากหมอพื้นบ้านช่วยบรรเทาโรคและอาการเหล่านี้ได้อย่างไร

และ 3) ที่เป็นจุดเด่นคือ ตำรับยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยแก้อาการและโรคที่หมอพื้นบ้านมีศักยภาพและยังเป็นกันบ่อยๆ ในชุมชน เช่น อาการผิดสำแดง ไข้ ริดสีดวงทวาร โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ทุกวันนี้มียาขมิ้นชัน บรรเทาอาการโรคกระเพาะ จ่ายให้ผู้ป่วยในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ และเป็นยาที่อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่สามารถเบิกจ่ายในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้ในกองทุนทั้ง 3 แห่ง คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม แต่ชาวบ้านมั่นใจใช้บริการตำรับยาแก้โรคกระเพาะของหมอพื้นบ้านอยู่เสมอ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากหมอพื้นบ้านจังหวัดอุดรธานี ช่วงปี 2562-2563 ของสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทย

ร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทย พบว่าในจังหวัดอุดรธานียังมีตำรับยาแก้โรคกระเพาะมากถึง 15 ตำรับ และยังเป็นที่นิยมของชาวบ้าน

หนึ่งในตำรับยาแก้โรคกระเพาะนี้เป็นของพ่อหมอสิงห์ บรรเทาโฮม ที่ ต.จอมศรีนี่เอง โดยพ่อหมอก็ยินดีเปิดเผยสูตรตำรับ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงยาในการดูแลสุขภาพตนเองได้

ตัวยาประกอบด้วย 1) แก่นตาไก้ 20 กรัม 2) ตากวง 20 กรัม 3) แก้มอ้น 20 กรัม 4) เครือหางก่วง 20 กรัม 5) กะเพราแดง 20 กรัม 6) รากตะไคร้หอม 5 กรัม 7) พริกไทย 5 กรัม 8) ดีปลี 5 กรัม 9) โด่ไม่รู้ล้ม 5 กรัม 10) คิงไคต้น 5 กรัม 11) เจตพังคี 1 กรัม (ใส่หางกวางในกรณีมีแผลในกระเพาะอาหาร) ใส่น้ำสะอาดให้ท่วมตัวยา

ทั้งหมดนี้ นำไปต้มให้เดือด 10-15 นาที กินครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเช้า กลางวันและเย็น

 

ในการริเริ่มระบบสุขภาพชุมชนนี้จำเป็นต้องรวมพลังของผู้บริหารทั้งฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน สาธารณสุข โดยมีชมรมหมอพื้นบ้านจอมศรี เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ ที่จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ได้

นอกจากนี้ งานที่สำคัญอีกงานหนึ่งคือการช่วยกันปลูกต้นยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาต่างๆ ด้วย เพราะตระหนักว่ามีหมอพื้นบ้าน มีความรู้มากมาย

แต่ถ้าป่าหมดหรือสมุนไพรขาดแคลนก็จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์แน่นอน ซึ่งชาวจอมศรีกล่าวว่า “หมอดี ยาดี ป่าดี” สมุนไพรในป่าชุมชนจึงเป็นแหล่งความมั่นคงด้านยาในพื้นที่ แล้วยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรให้กับโรงพยาบาลเพ็ญ (โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่) ด้วย

และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพราะเครือข่ายหมอพื้นบ้านสามารถส่งวัตถุดิบ เช่น มะขามป้อม และสมุนไพรอื่นๆ ให้กับทางโรงพยาบาลได้

ผู้อำนวยการ รพ.สต.จอมศรี เตรียมยกระดับบริการสุขภาพในคลินิกแพทย์แผนไทย โดยนำเอาสูตรยาอบสมุนไพรตำรับเฉพาะของหมอพื้นบ้านจอมศรี ที่ไม่ซ้ำแบบใคร แต่มาจากภูมิปัญญาและใช้สมุนไพรในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ระบบสุขภาพชุมชนเป็นของคนในชุมชนได้แท้จริง

(จะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อๆ ไป) •