เสน่ห์สำเนียงเพชร / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เสน่ห์สำเนียงเพชร

 

ร่วมงานดนตรีกับวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ที่เมืองเพชร เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ในโครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรี เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จิตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้อุปถัมภ์

เจ้าของโครงการและอำนวยการวงดนตรีคือ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ควบคุมการบรรเลงโดย พ.อ.ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ สถานที่จัดแสดงคือ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี

ตามกำหนดการจะแสดงเวลาหกโมงเย็น แต่ฝนกระหน่ำหนัก ไม่มีทีท่าจะผ่อนเพลาหรือสร่างซา จึงต้องย้ายวงเข้ามาเล่นในศาลาใกล้เวทีนั้น จบรายการแล้วฝนมาหยุดเอาเกือบครึ่งคืนจึงให้เวลากับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์บนเวทีหลังจากนั้นได้

 

เมืองเพชรนั้นที่จริงแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงของดนตรีไทยเลยทีเดียว ด้วยมีวงดนตรีปี่พาทย์มากมายหลายวงแทบจะประจำทุกวัด ซึ่งมีมากมายหลายวัดด้วย

วัดใหญ่เก่าแก่ก็วัดใหญ่สุวรรณารามนี่คู่มากับวัดพระมหาธาตุวรวิหารและอีกกว่า 20 วัดล้วนเป็นวัดรุ่นกรุงศรีอยุธยากว่าสองถึงสามร้อยปีสืบเนื่องมาถึงวันนี้

เมืองใดมีพระปรางค์มหาธาตุกล่าวกันว่า เมืองนั้นมีความสำคัญยิ่ง ด้วยเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชน ตั้งเมืองจนเป็นแหล่งอารยธรรมดังมีพระเจดีย์หรือพระปรางค์มหาธาตุเป็นประธานเป็นภูมิฐานภูมิธรรมสำคัญของเมืองนั้น เสมือนมิ่งขวัญเมืองนั่นเลย

เส้นทางคมนาคมสำคัญจากทะเลทั้งสองฟากสมุทรตะวันตกตะวันออกมาขึ้นฝั่งที่เมืองเพชร เพื่อเดินทางขึ้นแผ่นดินใหญ่สู่ศรีอยุธยา แต่โบราณล้วนมีเมืองเพชรเป็นชุมทางใหญ่กว่าเมืองใดทั้งสิ้น

แม้เมืองเพชรจะไม่มีบทบาทดังเดิมแต่ร่องรอยความรุ่งเรืองยังคงอร่ามด้วยแสงเพชรน้ำหนึ่งไม่มีลดราเลย

บางคนถึงกับกล่าวว่า “เมืองเพชรคืออยุธยาที่มีชีวิต”

นิราศเมืองเพชรของท่านกวีเอกสุนทรภู่ ยืนยันว่า ต้นตระกูลฝ่ายแม่ของท่านสุนทรภู่เองคือ พราหมณ์เมืองเพชร

นี่ก็น่าสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านที่เมืองเพชรด้วย

 

ครั้งไปนราธิวาสที่ถิ่นเจ๊ะเห ต.ตากใบ ได้ฟังสำเนียงใต้ชาวเจ๊ะเหขอยืนยันว่าสำเนียงนี่แหละคือสำเนียงชาว “เผ็ดรี้” ของจริง เหมือนสำเนียงชาวเมืองระยอง เมืองจันท์ เมืองตราด เช่นกัน ตัวอย่างสำเนียงชาวตราดว่า

“ท้างมันขด หรดมั้น หั๊วฝัด ปลุ๊กสั๊มปะหรด ไม้ถิ่นหลัด คว้ายมั้นหยัดเช่ด”

พอแปลได้ว่า “ทางมันคด รถวิ่งหัวฟัด ปลูกสับปะรดไม่ทันขึ้นดี ควายมันกินหมด” …ประมาณนี้

แต่สำเนียงพูดนั้น ทั้งเจ๊ะเห ตากใบ ระยอง จันท์ ตราด จนเพชรบุรี เหมือนกันเป๊ะ

นี้คือเส้นทาง “สุดเหน่อ” ของสำเนียงไทย ที่ลากยาวขึ้นไปจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย เลย อุตรดิตถ์ หลวงพระบาง ถึงเดียนเบียนฟู และอาณาจักรน่านเจ้า ชาวจ้วง ยูนนาน โน่นเลย

ฝากท่านนักประวัติศาสตร์โบราณคดีด้านภูมิภาษาด้วย ว่าล้วนรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกันทั้งนั้น อย่าให้ต้องมาแบ่งแยกกันแค่ด้วยขอบเขตเส้นแบ่งพรมแดนประเทศ หรือแค่ “คิดต่าง” กันเพียงแค่นั้นเลย

แม้คนละภาษาเผ่าพันธุ์ก็เถิด เราล้วนคือ มนุษยชาติร่วมโลก ร่วมดวงดาว ร่วมจักรวาล ร่วมชะตาเดียวด้วยกันทั้งสิ้น

เอาพลังที่ต่างมีมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อประโยชน์สุขสงบร่วมกันเถิด…สาธุ

 

ดนตรีนี่แหละคือภาษาสากลที่สื่อความกันได้ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติ ทุกภาษา เพราะดนตรีเป็นภาษาของความรู้สึกของมนุษยชาติ

ความรู้สึกนี้ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติและกาลเวลา มนุษย์นั้นไม่ว่าจะย้อนอดีตไปถึงอยู่ถ้ำดึกดำบรรพ์หรือจะไปอยู่ยังดาวดวงอื่นในอนาคต

มนุษย์ก็ยังหัวเราะและร้องไห้ด้วยเสียงเดียวกันและน้ำตาเม็ดเดียวกันโดยแท้

ดนตรีคือเสียงของความรู้สึกนั้น

 

บทกวีดีๆ ก็เช่นกันกับดนตรี คือเป็นภาษาของความรู้สึก ต่างกันเพียงสัญลักษณ์อักษรที่ใช้สื่อความเท่านั้น

ขงจื๊อปราชญ์จีนกล่าวไว้กว่าพันปีแล้วว่า

“มนุษย์งอกงามด้วยบทกวี

มั่นคงด้วยศีลธรรม

เติมเต็มด้วยดนตรี”

โครงการดนตรีของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หรือ “อว.” นี้จึงเป็นการ “เติมเต็มความเป็นมนุษย์” ที่นอกเหนือไปจากพัฒนาการด้านการศึกษาเพียงเท่านั้น

แผ่นดินนี้มีรากเหง้ามีเรื่องเล่ามากมาย ยังขาดอยู่เพียงการเล่าเรื่องโดยเฉพาะ “ศิลปะการเล่าเรื่อง” งานศิลปะหลากหลายนี่แหละที่จะเป็นผู้รังสรรค์มันขึ้นมา

ด้วยมือของศิลปิน •

 

• ลั่นทมร่มห่มเงาภูเขาหอม

ครึ้มไม้ล้อมลาดดงลงลดหลั่น

เจดีย์ดอยลอยฟ้าเจิดตาวัน

คู่เขตขัณฑ์บัลลังก์วังคีรี

 

ขึ้นรายรอบขอบลานล้วนตาลทุ่ง

โอ้ตาลเอ๋ยเคยรุ่งเลี้ยงกรุงศรี

ประชุมชนล้นหลากฟากนัทธี

อยู่ลิบลิบพริบพรีบุรีเรือง

 

ที่จีนจามพราหมณ์แขกมาแลกค้า

ยังสืบทรงพงศามาเนืองเนื่อง

ทะเลท่านารายไม้ร่มเมือง

เพชรบุรีลือเลื่องแต่เบื้องบูรพ์

 

ชื่นแผ่นดินถิ่นหวานน้ำตาลเพชร

ประกายเก็จกรวดทรายอาบอายสูรย์

สืบอาลักษณ์อักษรสุนทรทูน

คงค้ำคูณคู่ถิ่นแผ่นดินเพชร

เพชรพริบพรี •