รวยรินไร (4) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

รวยรินไร (4)

 

13

“จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) บันทึกเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดเส้นผมของคนไทยสมัยอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังนี้

“ชาวสยามสระผมด้วยน้ำและใส่น้ำมันจันทน์ทำนองเดียวกับพวกสเปญ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

น้ำมันจันทน์ คือ น้ำมันที่กลั่นจากไม้จันทน์มีกลิ่นหอม เป็นน้ำมันหอมใช้แต่งผม ดังที่นิโกลาส์ แชรแวส บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ฉบับผู้แปลเดียวกัน เล่าถึงความนิยมใช้น้ำมันหอมของผู้ดีชาวสยามครั้งกระนั้นว่า

“สตรีเหล่านี้สะอาดสะอ้าน แม้จะเดินด้วยเท้าเปล่าและไว้ผมสั้นเหมือนผู้ชาย เพื่อทำเส้นผมให้เป็นเงางาม นางใช้น้ำมันทา เรียกว่า น้ำมันหอม (naman hym) หมายความว่าน้ำมันอันมีกลิ่นหอมชื่นใจ พวกผู้ชายก็ใช้น้ำมันหอมอย่างผู้หญิงเหมือนกัน เพราะถือกันว่าเป็นความไม่สุภาพอย่างเอก ถ้าสามีจะเข้าไปหาภรรยา ภรรยาจะเข้าไปหาสามี หรือบุตรธิดาจะเข้าไปหาบิดามารดาโดยไม่ทำผมให้หอมด้วยน้ำมันเช่นนั้นเสียก่อน”

การแต่งผมด้วยน้ำมันหอมน่าจะเป็นที่นิยมมายาวนาน กาพย์ห่อโคลง “นิราศธารโศก” เล่าถึงผมหอมและดำเป็นมันวาวยาวประบ่าของนางในราชสำนักสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า

“ชมเผ้าเจ้าดำขลับ แสงยับยับกลิ่นหอมรวย

ประบ่าอ่าสละสลวย คือมณีสีแสงนิล”

 

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงพระธิดาทั้ง 7 ของท้าวสามลแต่งตัวเตรียมไปเลือกคู่ไว้ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง”

“กระจกตั้งคันฉ่องส่องเงา ผิวพรรณผมเผ้างามสลวย

ใส่น้ำมันกันกวดกระหมวดมวย …………………………………”

สมัยก่อนถ้าอยากให้ผมดำขึ้นก็มี ‘เขม่า’ หรือ ‘กระเหม่า’ เป็นตัวช่วยที่ได้ผล เพราะสิ่งที่ต้องการคือ สีดำจากเขม่า

“พจนานุกรมศิลป์” ของ น. ณ ปากน้ำ อธิบายว่า

“เขม่าเกิดจากการเผาฟืนในครัวไฟ ซึ่งเกาะอยู่ตามก้นหม้อดินหรือตามหยักไย่และชายคา เขม่าคือควันที่ไปเกาะ”

คนโบราณขูดเขม่าดำๆ ที่ติดก้นหม้อ เป็นผงหรือละอองดำๆ เกิดจากควันไฟมาใช้แต่งผม ‘เขม่า’ ในที่นี้เรียกว่า ‘มินหม้อ’ หรือพูดเพี้ยนเป็น ‘ดินหม้อ’

จะใช้แต่ ‘เขม่า’ เท่านั้นไม่ได้ ต้องอาศัย ‘น้ำมันตานี’ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘จับเขม่า’ ดังที่ “กาญจนาคพันธุ์” ให้รายละเอียดไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” เล่ม 1 ว่า

“จับเขม่า คือ เอาเขม่าผสมกับน้ำมันตานีให้เป็นสีดำแล้วทาผมหรือย้อมผมให้เป็นสีดำ”

สมัยรัชกาลที่ 1 พระยาตรังบันทึกไว้ใน “โคลงดั้นตามเสด็จลำน้ำน้อย” ว่านางผู้เป็นที่รักมีเส้นผมสะอาดหอม จัดทรงเป็นผมปีกที่จับกระเหม่ารอบรอยไร

“อวลอบสะอาดเกล้า เกลาใจ พี่แม่

เซนซ่านปีกเปิดลอย เล่ห์ปั้น

เจิมจับกระเหม่าไร รุรอบ

กลมประเหน็จนั้นล้ำ ลวดทอง”

ที่ต้องจับเขม่า (กระเหม่า) ก็เพื่อเน้นรอยไรให้เด่นขึ้น

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ว่า

“เมื่อยังไว้จุก ผมที่อยู่ในไรจุกนั้นก็เกล้าเป็นจุกไป แต่พ้นไรออกมาแล้ว ศีรษะส่วนใหญ่จะโกน ไม่ให้มีเส้นผม เมื่อเป็นเช่นนั้นรอยไรก็จะไม่เด่น จึงต้อง ‘จับเขม่า’ ได้แก่เอาเขม่าหรือดินหม้อมาทาเป็นวงกลมให้ใหญ่กว่าไร ในขอบนอกของไร และตัวไรนั้นเองก็จะลงแป้งหรือดินสอพองให้เห็นเป็นเส้นขาว”

การจับเขม่าเป็นแฟชั่นแต่งผมที่ได้รับความนิยมทั่วถึงทั้งภาคเหนือและภาคกลาง เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงแม่ค้าในตลาดเมืองพิจิตรว่า

“แต่ละหน้าหน้านวลชวนบำรุง ให้กลิ่นหอมฟุ้งสองฟากทาง

นุ่งลายห่มสีไม่มีเศร้า ผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวล่าง”

จับเขม่าแล้วใช่จะงามเสมอไป ดังจะเห็นได้จากแม่ค้าใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ผ่านสายตาสุนทรภู่

“นางแม่ค้าขายเต่าสาวทึมทึก

ปิดกระหมับจับกระเหม่าเข้ามินหม้อ ดูมอซอสีสันเป็นมันหมึก”

รุ่นเดอะอย่าง นางคันธมาลีก็เช่นกัน บทละครนอกเรื่อง “คาวี” ให้ภาพแก่ไม่ยอมแก่

“กระจกตั้งนั่งส่องมองดูเงา จับเขม่ากันไรไปล่ปลิว”

นางอายุมาก ผมคงหงอกขาวมาก ยิ่งต้องจับเขม่าให้ผมดำปิดหงอก

กระบวนการแต่งผมให้ดกดำเป็นสิ่งที่คนผมน้อยใส่ใจยิ่ง เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงขุนช้างแต่งตัวเตรียมไปงานพระไวย ลูกเลี้ยง ดังนี้

“ให้คิดแค้นใจตัวหัวอัปรีย์ วิ่งไปสีเอามินหม้อมาพอแรง

ปนเข้ากับน้ำมันแล้วปั้นปีก ยังไม่ดำซ้ำอีกออกเป็นแสง

แต่สิ้นมินหม้อกว่าฝาหอยแครง …………………………………….”

เขม่าหรือมินหม้อต้องใช้ปริมาณพอดีๆ ถ้าเกินพอดีก็จะเป็นอย่างขุนช้างสมัยหนุ่มๆ

“จับกระจกขึ้นชูดูกระบาล เห็นตัวหัวล้านรำคาญใจ

กูแค้นน่าแพ่นลงสักโขก โสโครกไม่เอาแก้วเอาการได้

เกลี้ยงหน้าเกลี้ยงหลังดูจังไร จับเขม่าเข้าใส่สักสองเพรียง

เปื้อนเปรอะเลอะหน้าเหมือนทาเล่น ……………………………………..”

อยากได้ผมดกดำ กลับได้หน้าดำ ฮ่วย! •