ภาพวาดโดย AI มีศักดิ์เป็นงานศิลปะไหม/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ภาพวาดโดย AI

มีศักดิ์เป็นงานศิลปะไหม

 

ศิลปะเป็นสิ่งที่ยึดถือกันมาโดยตลอดว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสรรค์สร้างและชื่นชมมันได้และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ใช้เพื่อจำแนกมนุษย์ออกจากสัตว์ประเภทอื่นๆ

Jason Allen เจ้าของสตูดิโอเกมแห่งหนึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดศิลปะภายใต้หมวดหมู่ ‘ศิลปะดิจิทัล’ ด้วยผลงานภาพที่เขาตั้งชื่อว่า Th??tre D’op?ra Spatial

เป็นภาพที่ฉันเชื่อว่าทุกคนที่ได้เห็นก็จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับทุกองค์ประกอบของภาพว่ามันช่างยิ่งใหญ่ตระการตา

แต่หากต้องบรรยายว่าสิ่งที่เห็นในภาพคืออะไรก็อาจจะไม่สามารถคิดคำไหนขึ้นมาได้เลย เหมือนๆ กับที่ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องบรรยายภาพนี้ว่าสถานที่ในภาพน่าจะเป็นที่ไหน หรือคนในภาพกำลังทำอะไร (จึงหยิบมาเป็นภาพประกอบบทความให้คุณผู้อ่านได้ลองใช้คำและจินตนาการของตัวเองในการบรรยาย)

หากดูจากคำแปลของชื่อภาพก็อาจจะพอเดาได้ว่านี่คือโรงโอเปร่าสถาปัตยกรรมบาโรกที่อยู่แห่งใดแห่งหนึ่งในห้วงอวกาศ ผู้คนในภาพต่างจับจ้องไปที่ช่องว่างวงกลมขนาดใหญ่ที่เผยให้เห็นทิวทัศน์ภายนอก แสงสว่างอันเจิดจ้าที่ส่องเข้ามาทำให้ส่วนอื่นของภาพย้อนแสงและมีเงาตกกระทบที่สวยงาม

ฉันว่าเสน่ห์ของภาพนี้ก็คือการที่มันอยู่เหนือจินตนาการและคำบรรยายที่เราจะสรรหามาใช้เพื่ออธิบายภาพนี้ได้ พอฉันพยายามจะจับจ้องไปที่รายละเอียดก็พบว่ามันกลับพร่าเลือนและเหมือนจะหายไปเฉยๆ แทบจะไม่มีวัตถุชิ้นไหนในภาพเลยที่ฉันสามารถชี้ไปได้อย่างมั่นใจว่าสิ่งนี้คืออะไร

บางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาพนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศก็ได้

หาก Allen เป็นคนตวัดฝีแปรงสร้างสรรค์ภาพนี้ขึ้นมาเองก็คงจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจ

แต่จุดพลิกผันของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าภาพเขียนที่ฉันพยายามอธิบายมาทั้งหมดนี้ถึงจะเกิดจากปลายนิ้วของ Allen ก็จริง แต่ไม่ได้มาจากปลายนิ้วที่จับแปรงวาด แต่มาจากปลายนิ้วที่พิมพ์คำเพียงไม่กี่คำลงบนคีย์บอร์ดและให้โปรแกรมทำหน้าที่ในการวาดภาพทั้งหมดแทน

โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่เขาใช้ในการวาดภาพ Th??tre D’op?ra Spatial นี้ขึ้นมามีชื่อว่า Midjourney ซึ่งคนไทยกลุ่มหนึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะก่อนหน้านี้ก็มีเทรนด์ที่หลายๆ คนจะโพสต์ภาพที่ตัวเองใช้ Midjourney ในการสร้างมาอวดความสวยงามบนโซเชียลมีเดียกันอย่างสนุกสนาน

คนที่ต้องการสร้างงานศิลปะด้วยการใช้ Midjourney จะต้องเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีม Discord ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นเกม เพียงใส่คีย์เวิร์ดที่ต้องการใช้เพื่อสร้างภาพเขียนเข้าไปสัก 2-3 คำ โปรแกรมก็จะสร้างภาพมาให้เลือกโดยเป็นภาพที่วาดมาบนพื้นฐานของคำเหล่านั้น

มันสามารถทำได้ดีจนคนที่ไม่รู้มาก่อนไม่มีทางเดาได้เลยว่านี่ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์

 

เมื่อข่าวว่าภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประกวดศิลปะเป็นภาพจาก AI แพร่สะพัดออกไปก็มีกระแสความไม่พอใจถาโถมเข้าหา Allen โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดาจิตรกรนักวาดภาพที่กล่าวหาว่าเขาโกงการประกวด แม้ว่า Allen จะชี้แจงไปแล้วว่าเขาตั้งชื่อภาพไว้ชัดเจนว่าเป็นภาพที่ได้มาจาก Midjourney ก็ตาม

ผู้คนที่โกรธเคืองให้เหตุผลว่างานศิลปะหรืองานใดๆ ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นงานที่ควรสงวนเอาไว้ให้กับมนุษย์เท่านั้น

ถ้าหากงานประเภทนี้ยังไม่รอดจากการฉกฉวยแย่งชิงของคอมพิวเตอร์แล้วต่อไปคนเราจะเหลืองานอะไรให้ทำอีก

ในขณะที่บางคนก็ถกเถียงว่าเขาไม่ควรเรียกตัวเองเป็นศิลปินถ้าหากจะใช้คอมพิวเตอร์สร้างงานให้แบบนี้

บางคนที่เข้าข้าง Allen ก็ช่วยให้เหตุผลในเชิงปกป้องเขาว่าการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยวาดภาพก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรจากการใช้โปรแกรมอย่าง Photoshop หรือเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ มาช่วยวาด

ไม่ว่าจะอย่างไรงานศิลปะที่ได้รับรางวัลชิ้นนี้ก็เกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ นั่นก็คือคำที่ Allen ป้อนเข้าไปให้ AI วาดภาพให้ซึ่งก็จะต้องเป็นคำที่เหมาะสมและเต็มไปด้วยจินตนาการตั้งแต่แรก คอมพิวเตอร์ถึงจะสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาในรูปแบบนี้ได้ (แต่เขาไม่ยอมเปิดเผยนะคะว่าเขาใช้คำว่าอะไรบ้าง)

ทางด้านคณะกรรมการที่จัดงานประกวดครั้งนี้ขึ้นมาก็ให้สัมภาษณ์ว่าถึงแม้เขาจะใส่คำว่า ‘โดย Midjourney’ เข้าไปไว้ในชื่อผลงานอยู่แล้ว กรรมการก็ไม่รู้อยู่ดีว่า Midjourney คือโปรแกรม AI ที่วาดภาพแทนให้

แต่ก็บอกว่าต่อให้รู้ตั้งแต่ตอนนั้นก็อาจจะให้ภาพนี้ชนะรางวัลอยู่ดี

 

นอกจาก Midjourney ช่วงหลังๆ มานี้ก็มีเครื่องมือ AI อีกหลายตัวที่ออกแบบมาให้ทำงานคล้ายๆ กันแบบนี้ อย่างเช่น DALL-E 2 หรือ Stable Diffusion โดยการทำงานหลักๆ ก็คือการช่วยให้มือสมัครเล่นด้านศิลปะสามารถสร้างภาพเขียนที่มีความสวยงาม ซับซ้อนได้อย่างมืออาชีพโดยใช้เพียงแค่การพิมพ์คำไม่กี่คำลงในกล่องข้อความเท่านั้น

เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างงานศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ก็มักจะเป็นเรื่องที่สร้างความขัดแย้งมาได้ทุกยุคทุกสมัย นับย้อนกลับไปก็อย่างเช่น การประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปครั้งแรกก็สร้างความไม่พึงพอใจให้กับนักวาดภาพมาแล้ว

หรือเครื่องมือตัดแต่งภาพดิจิทัลสมัยใหม่ก็เคยถูกปัดตกในฐานะงานศิลปะด้วยเหตุผลว่าใช้ทักษะและฝีมือของมนุษย์เข้าร่วมในการสร้างงานน้อยเกินไป

ความกลัวอีกอย่างที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงก็คือเครื่องมือเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้เศษชิ้นส่วนของภาพบนอินเตอร์เน็ตเป็นหลายล้านชิ้นเพื่อมาสอนอัลกอริธึ่มให้รู้จักแพตเทิร์นและสามารถหาความเชื่อมโยงกันระหว่างภาพแต่ละภาพเพื่อสร้างภาพใหม่ๆ ออกมาโดยใช้สไตล์แบบเดียวกันได้

นั่นก็หมายความว่าหากนักวาดภาพอัพโหลดภาพของตัวเองขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์มเปิดก็อาจถูกนำไปใช้เพื่อฝึกฝนอัลกอริธึ่มเหล่านี้ให้กลับกลายมาเป็นคู่แข่งของตัวเองได้โดยไม่รู้ตัว

ดีไม่ดีฝีแปรงที่ได้ออกมาก็อาจจะเหมือนหรือใกล้เคียงมากกับสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของนักวาดภาพแต่ละคนก็ได้

ดังนั้น ต่อไปนักวาดภาพคนไหนจะอยากอัปโหลดภาพตัวเองขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตอีก ก็จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์โดยรวมถดถอยลง

 

สําหรับคนนอกวงการอย่างฉันหรือคุณผู้อ่านอีกหลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่านี่เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ใครๆ ก็สามารถสร้างงานศิลปะได้

แต่เราอาจจะลืมนึกถึงหัวอกของนักวาดภาพว่าการมาถึงของ AI ที่วาดภาพได้ตามโจทย์ก็แปลว่าในอนาคตอันใกล้ความต้องการในการจ้างนักวาดภาพในการทำงานต่างๆ อย่างเช่น การวาดภาพประกอบ ก็จะลดน้อยลงเป็นอย่างมากหรืออาจจะไม่เหลืออีกเลยก็ได้ เช่นเดียวกับอีกหลายๆ อาชีพที่ถูกเทคโนโลยีทดแทนมาแล้ว

ฉันเชื่อมั่นว่าเมื่อวันนั้นมาถึง คนทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จะสามารถพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นโอกาสและรูปแบบงานใหม่ๆ ที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิมได้ แม้ว่าระหว่างทางอาจจะล้มลุกคลุกฝุ่นบ้าง

แต่มนุษย์เราก็พิสูจน์มาให้เห็นทุกยุคทุกสมัยแล้วว่าเราสามารถปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีที่คุกคามอาชีพเรามาเป็นตัวช่วยให้เราเหนื่อยน้อยลงแต่ทำงานได้ดีขึ้นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ฉันยังถือว่ามองโลกในแง่บวกมากกว่า Allen ผู้ซึ่งประกาศกร้าวว่าศิลปะตายแล้ว มนุษย์สิ้นท่าแล้ว! AI ชนะแล้ว!