ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
‘พุทธภูมิ’
: การก่อร่างแผ่นดิน ‘พุทธศาสนา’
ครั้งใหม่ของอินเดีย
อินเดีย ถือเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญของโลกอย่างพุทธศาสนา ซึ่งได้ก่อเกิดเรื่องราวและกลายเป็นสถานที่สำคัญที่บรรดาศาสนิกชนจากหลายประเทศทั่วโลก ได้เข้ามาเดินทางเที่ยวชม รวมถึงการแสวงบุญไปสักการะยังสถานที่สำคัญในพุทธประวัติ ซึ่งอาจรู้จักกันดีอย่าง 4 สังเวชนียสถานที่ตั้งอยู่ทั้งในอินเดียและเนปาล
แต่ก็มีอีกหลายสถานที่ที่เกิดขึ้นในยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในอินเดีย ทั้งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงจนกลายเป็นแหล่งมรดกโลก สถานที่ที่เพิ่งมีการค้นพบ และสถานที่อีกหลายแห่งที่กำลังถูกสร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นจุดสำคัญให้ผู้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญด้วย
เพื่อทำให้อินเดียกลับมาเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา หรือ “พุทธภูมิ” อีกครั้ง เฉกเช่นในอดีต
สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย และหน่วยงานของรัฐในอินเดียอย่างเกรละ, ราชาสถาน, มัธยประเทศ, มหาราษฏระ ร่วมกับสมาคมไตรรัตนภูมิและสมาพันธ์พุทธสากล ร่วมจัดงานส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ผ่านนิทรรศการ “พุทธภูมิ” ด้วยการตามรอยเส้นทางของพระพุทธเจ้าผ่านสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาและสถานที่ทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่บ่งบอกถึงยุคทองของพุทธศาสนาในดินแดนอนุทวีปอินเดีย
ในยุคของรัฐบาลนเรนทรา โมดี แม้จะมีนโยบายแบบชาตินิยมอินเดีย แต่โมดีก็เป็นคนมีความสนใจในพุทธศาสนาและส่งเสริมนโยบายเกี่ยวกับพุทธศาสนา ทั้งการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูแหล่งโบราณสถาน เพื่อดึงดูดพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว เข้าเยี่ยมชมและแสวงหาบุญสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
ดร.เนจาห์กล่าวว่า ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในพุทธศาสนาอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีการส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือด้านข้อมูลจากหลายฝ่ายมากขึ้น เพื่อทำให้แพ็กเกจการท่องเที่ยวมีความน่าสนใจ ให้นักท่องเที่ยวได้ประโยชน์และเปิดประสบการณ์ใหม่ที่น่าจดจำพร้อมกับการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งทั้งหมดเราสามารถทำได้ในทันที
นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและรองประธานสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังมีสถานที่ใหม่อีกหลายแห่งที่ปรากฏในยุคพุทธกาล ถ้าจะเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ตอนนี้มีหลายสายการบินราว 12 สายการบิน โดยมีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-ปลายทางกรุงนิวเดลี หรือเมืองกัลกัตตา ไปยังบูบันเนสวาร์ เพื่อไปเที่ยวเมืองโอริชชาหรือโอริสสา
เมืองสำคัญที่เป็นหมุดแรกของการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช
การรักษางานศิลปะกรรมแบบดิจิทัล
ถํ้าอชันตา ที่ตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฏระ เป็นถ้ำสำคัญในพุทธศาสนาที่มีขนาดใหญ่ อายุ 2,000 ปี เป็นสถานที่ที่แสดงถึงความสามารถในวิศวกรรมตัดหินผาให้กลายเป็นถ้ำขนาดใหญ่ได้ และยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังถ้ำที่ถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติอย่างวิจิตรงดงาม จนถูกยกย่องเป็นมรดกโลกในปี 1983
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาและสภาพอากาศ ทำให้งานจิตรกรรมฝาผนัง เริ่มเสื่อมสภาพและเสียหาย สีเดิมก็เปลี่ยนเป็นอีกสี หรือหลุดร่อนจากผนังถ้ำ จึงมีความพยายามที่จะรักษาและฟื้นฟูงานจิตรกรรม รวมถึงการแปลงสภาพเป็นดิจิทัล เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของงานศิลป์ชั้นครูไว้
ปราสาท พาวา ศิลปินช่างภาพจากมุมไบและเจ้าของโครงการศึกษาวิจัยและฟื้นฟูงานจิตรกรรมถ้ำอชันตา กล่าวถึงงานฟื้นฟูในรูปแบบดิจิทัลว่า อย่างที่ทราบว่า งานจิตรกรรมฝาหนังในถ้ำอชันตานั้นเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ด้วยความกังวลว่ามรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะพุทธศาสนาจะเสียหายหรือไม่สมบูรณ์ เขาจึงได้ศึกษาและทำการถ่ายภาพงานจิตรกรรมจำนวนมาก โดยใช้เวลาหลายพันชั่วโมงในการเก็บสะสมงานจิตรกรรมส่วนที่สูญเสียให้กลับมาเหมือนเดิมได้มากที่สุด เพื่อรักษาคุณค่าทางอารยธรรมทางพุทธศาสนาและความภูมิใจของอินเดีย
“จากตรงนี้ ผมได้สร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บงานจิตรกรรมในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ ได้เห็นผลงานของวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาในสภาพที่สมบูรณ์” ปราสาทกล่าว
การสร้างแหล่งมรดกทางพุทธศาสนาแห่งใหม่
นอกจากการรักษาและฟื้นฟูแหล่งโบราณสถานสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว หลายฝ่ายทั้งรัฐบาลและองค์กรพุทธศาสนาก็มีความมุ่งมั่นในการก่อสร้างสถานที่ที่จะกลายเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพุทธศาสนาขึ้นใหม่อีกครั้ง
โดยสมาพันธ์พุทธสากล หรือไอบีซี ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างศาสนสถานและอาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ซึ่งมี 3 โครงการใหญ่ ที่จะเริ่มดำเนินการ ได้แก่
1. ศูนย์อินเดียสากลเพื่อวัฒนธรรมและมรดกพุทธศาสนา ในเมืองลุมพินี ประเทศเนปาล จะเป็นอาคารสูงแบบขั้นบันได 7 ขั้นที่หมายถึง 7 ก้าวย่างของพระพุทธเจ้าในวันประสูติ และยอดสูงสุดเป็นอาคารทรงดอกบัว ซึ่งภายในอาคารจะเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ หอประชุม ห้องโถงสำหรับการประกอบศาสนพิธี ซึ่งจะใช้รองรับศาสนิกชนและพระสงฆ์จากทั่วโลก
2. สถูปเก็บพระธาตุในกรุงนิวเดลี ซึ่งในอนาคตจะเก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ที่ตอนนี้ยังจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดียในกรุงนิวเดลี โดยสถูปที่จะถูกสร้างขึ้น มีการยกฐานสูง 8 ขั้นแสดงถึงหนทางของการดับทุกข์หรือมรรค 8 ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และภายในสถูปจะเก็บรักษาพระธาตุไว้
3. ศูนย์พุทธศาสนาเดฟนิโมลี เดฟนิโมลี ถือเป็นแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนาที่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ในเมืองชยัมลาจี ในรัฐคุชราฏ แต่แหล่งโบราณคดีได้จมอยู่ใต้แม่น้ำเมชวาแล้ว จึงเกิดโครงการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ให้กลายเป็นศูนย์พุทธศาสนา ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ งานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานแบบใหม่และดั้งเดิม การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนสิ่งก่อสร้างจุดเด่นคือ เจดีย์เก็บพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกขุดพบในเดฟนิโมลี ซึ่งเป็นเจดีย์สีทองและมีฐานอาคารชั้นล่างสีขาว โดยหลังคายื่นออกเป็นกลีบบัว 8 ทิศ ความสูงรวมกัน 108 เมตร โดยโถงเจดีย์กลาง เป็นลานนั่งสมาธิและสถานที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างศาสนสถานแห่งใหม่ รวมถึงที่เดฟนิโมลี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียอย่างเต็มที่ ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายของโมดีในการทำนุบำรุงพุทธศาสนาผ่านการดำเนินโครงการก่อสร้าง การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพุทธศาสนาหลายนิกายจากทั่วโลก
อาจเรียกได้ว่า อินเดียกำลังนำคุณค่าทางศาสนาเพื่อมาฟื้นฟูประเทศทั้งเป็นการสร้างโอกาส การสร้างความศรัทธาครั้งใหม่ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าจับตาอย่างยิ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022