ฉากนรก โดย อิเคงามิ เรียวอิจิ / การ์ตูนที่รัก : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

ฉากนรก

โดย อิเคงามิ เรียวอิจิ

 

เมื่อทราบว่ามีหนังสือการ์ตูนวรรณกรรมญี่ปุ่นคลาสสิคฝีมือของ อิเคงามิ เรียวอิจิ ก็รีบหามาครอบครองโดยไม่ต้องดูว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ขึ้นชื่อว่าเป็นงานของเรียวอิจิก็พอแล้ว

เป็นหนังสือของ Cat Comics เพิ่งวางแผงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น ประกอบด้วยเรื่องสั้น 5 เรื่องของนักเขียน 5 คน แต่ละเรื่องขึ้นหิ้ง อ่านจากซ้ายไปขวา มีภาพสีสวยงามหลายรูป ท่านที่ไม่เคยอ่านงานเขียนห้าเรื่องนี้มาก่อนจะได้อรรถรสแบบหนึ่ง ท่านที่อ่านมาก่อนแล้วย่อมได้อีกแบบหนึ่ง

พลาดไม่ได้เลยคือ ฉากนรก จากงานเขียนของริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ

เรื่องฉากนรกนี้ผมเคยอ่านมาก่อนแล้ว จากหนังสือ คนที่ไม่อาจลืมและเรื่องสั้นญี่ปุ่นคัดสรรอื่นๆ วิภาดา กิตติโกวิท แปล สำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ พ.ศ.2562 เป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่านมากและทรงพลังอย่างยิ่ง ไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมีศิลปินที่ไหนเขียนออกมาเป็นการ์ตูนได้

อาจจะไม่ยุติธรรมเล็กน้อยหากจะบอกว่าตัวหนังสือของริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ บรรยายความวิปริตของตัวละคร ความซับซ้อนในจิตใจ และความน่าสะพรึงกลัวของ “ฉากนรก” ได้สยองขวัญกว่าที่เห็นในการ์ตูน เชื่อได้ว่าท่านที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมมาก่อนก็จะชอบการ์ตูนเรื่องนี้อย่างแน่นอน

เรามาอ่านการ์ตูนกันก่อนตามกติกานะครับ

เปิดหนังสือออกมามีภาพสี่สีหลายภาพ หนึ่งในนั้นเป็นภาพขนาดใหญ่สามพับต้องคลี่ออกมาดู สำหรับคนที่อ่านวรรณกรรมต้นฉบับมาแล้วย่อมทายได้ทันทีว่านี่คือรูป “ฉากนรก” ในความคิดของเรียวอิจิ ซึ่งสวยงามน่าดูชม

ฉากนรกจะเป็นเรื่องแรกของหนังสือเล่มนี้ เปิดมาหน้าแรกเป็นภาพเสนาบดีโฮริทาวะ พร้อมบรรยายว่าท่านเป็นคนดีเพียงใด สูงส่งเพียงใด เมตตาเพียงใด จากนั้นเป็นรูปของศิลปินต่ำช้าชื่อโยชิฮิเดะ โยชิฮิเดะไม่เพียงมีรูปกายอัปลักษณ์เหมือนลิงแต่ยังมีนิสัยหยาบโลน อย่างไรก็ตาม เขามีฝีมือวาดรูปสูงส่ง งานเขียนที่เขาทำได้ดีเหนือชั้นคือรูปซากศพในรูปแบบต่างๆ ที่ซึ่งเขาเดินทางไปหาแบบวาดถึงที่อยู่เสมอๆ ท่านที่อยากเห็นรูปศพสวยๆ เชิญเปิดดู

มีข่าวลือว่ารูปวาดของเขาก่อเรื่องสยองขวัญอยู่เนืองๆ

แม้ว่าท่านเสนาบดีจะขึ้นชื่อเรื่องไม่เจ้ายศ ใส่ใจผู้น้อย เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไป แต่เขาจงเกลียดจงชังโยชิฮิเดะ และไม่ยอมปล่อยตัวนางกำนัลคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวของโยชิฮิเดะคืนให้แก่บิดา ดูเหมือนท่านเสนาบดีจะมีอะไรไม่ชอบมาพากลเสียแล้วแต่หามิได้ เรื่องนั้นไม่เป็นความจริง

ท่านเสนาบดีมีเหตุผลที่ไม่ยอมให้ลูกสาวกลับไปอยู่กับบิดา จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อถูกเซ้าซี้หนักๆ เข้าจึงได้ยื่นข้อเสนอแก่โยชิฮิเดะให้วาดรูปบนฉากพับชิ้นหนึ่ง

รูปที่ท่านต้องการคือรูป “ขุมนรก”

นำไปสู่จุดจบที่คาดไม่ถึง

ที่น่าชมเชยและคลาสสิคมากๆ คือแม้ว่านักอ่านจะเริ่มทายได้บ้างแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนจบแต่ก็ยังอดทึ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นมิได้ ในทำนองเดียวกันแม้ผมจะรู้ตอนจบแล้วจากงานเขียนของอาคุตางาวะ ก็ยังอดทึ่งงานเขียนของเรียวอิจิมิได้

ฉากนรกเป็นงานเขียนปี 1918 ของ ริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ (1892-1927) คือผู้เขียนเรื่อง In a Grove ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในหนังปี 1950 ของอาคิระ คุโรซาว่า ที่ชื่อว่า Rashomon อาคุตางาวะฆ่าตัวตายด้วยการกินยาบาร์บิทูเนตเกินขนาดเมื่ออายุ 35 ปี ตามประวัติเขามีมารดาป่วยทางจิตและตัวเองก็เห็นภาพหลอนในตอนท้าย

ริวโนสุเกะ อาคุตางาวะ เขียนเรื่องสั้นนี้ผ่านมุมมองของคนรับใช้คนหนึ่งของเสนาบดี ในสายตาของคนรับใช้นี้ท่านเสนาบดีกับโยชิฮิเดะน่าเกรงขามพอกัน หลังจากบรรยายถึงภูมิหลังของคนน่ากลัวทั้งสองแล้วจึงมาถึงฉากสุดท้ายอันเป็นที่มาของฉากนรก ภาพวาดที่น่ากลัวที่สุดของศิลปินที่น่ากลัวที่สุดโดยการขู่เข็ญเชิงบังคับของเสนาบดีที่น่ากลัวที่สุดจะเป็นอย่างไร

อาคุตางาวะเขียนงานชิ้นนี้เมื่อปี 1918 ซึ่งน่าจะยังไม่มีอาการทางจิต เหตุเพราะผู้ป่วยย่อมไม่สามารถสร้างผลงานระดับนี้ ศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะรวมทั้งงานวรรณกรรมทุกคนย่อมต้องถดถอยจิตใจ (regression) ไประดับหนึ่งจึงจะสร้างงานได้ แต่มิใช่ถดถอยมากไปจนเสียสติ

Ernst Kris (1900-1957) นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียได้เขียนงานที่มีชื่อเสียงไว้ชิ้นหนึ่งคือ Adaptive Regression in the Service of the Ego (ARISE) ความโดยย่อว่าคนเราจำเป็นต้องถดถอยเป็นเด็กในระดับหนึ่งเพื่อที่จะทำอะไรแบบเด็กๆ ที่สังคมยอมรับได้ เช่น การร้องรำทำเพลง งานศิลปะ รวมถึงงานเขียนนวนิยาย อย่างไรก็ตาม การถดถอยนั้นมิได้เลยเถิดจนบ้าคลั่ง (แม้ว่าการเต้นรำในหลายวัฒนธรรมจะดูบ้าคลั่ง) งานเขียนของปิคัสโซ่หรือแวนโก๊ะห์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใครๆ มักพูดเล่นๆ ว่าเขียนภาพเหมือนเด็กเขียนแต่ที่จริงแล้วเด็กคนนั้นอยู่ในร่างของผู้ใหญ่ที่มีความสามารถควบคุมและจัดการการถดถอยนั้นได้อยู่หมัด ฉากนรกของโยชิฮิเดะอธิบายด้วยกลไกเดียวกัน งานเขียนของอาคุตางาวะก็เช่นกัน

หาอ่านให้ได้นะครับ และหาวรรณกรรมต้นฉบับอ่านให้ได้

โอเชปรากฏตัว ของเอโดงาวะ รัมโป เป็นการ์ตูนเรื่องที่สองของหนังสือเล่มนี้ ลำพังชื่อเอโดงาวะ รัมโปก็พลาดมิได้อีกเช่นกัน เรื่องนี้เล่าเรื่องการฆาตกรรมในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งจะเป็นที่เปิดเผยในตอนจบด้วยภาพสยองขวัญฝีมือของเรียวอิจิอีกเช่นกัน

งานของเรียวอิจิเล่มนี้ใช้ภาพประชิดใบหน้าบ่อยครั้ง ดวงตา รอยย่น ริมฝีปากของตัวละครที่กดดันคนอ่าน หากเป็นตัวละครที่เป็นคนนั้นเรื่องหนึ่ง

แต่บางกรอบมิใช่คน •