ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 20-26 ตุลาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ

เคล็ดประการหนึ่ง สำหรับการอ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ในแต่ละอาทิตย์
คือ ควรอ่านทุกคอลัมน์ ทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่
แล้วขยำ “เนื้อหา” รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
ผู้อ่านจะได้ “อาหารสมอง” จานโต
บริโภคแล้วเสริมให้รู้ สามารถแลกเปลี่ยน พูดคุยกับวงสนทนาไหนๆ ได้อย่างสบาย
ยกตัวอย่างสัก 3 คอลัมน์
จากใหญ่ ไปกลาง ไปเล็ก

ใหญ่ต้อง ระดับ “พระเมรุมาศ”
คอลัมน์ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ที่หน้า 83 แม้จะปูเรื่องมานานนับปี จนได้หนังสือเล่มย่อมๆ เรื่อง “งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์” มาแล้ว
แต่ผู้อ่าน ซึ่งอาจจะไม่ได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง
แค่อ่าน “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ฉบับนี้ก็สามารถเข้าใจ “พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง” ได้อย่างง่ายดาย ภายในหน้าเดียว
เข้าใจถึงภูเขาสูงระหง ชื่อพระสุเมรุ ที่ถูกยกเป็นแกนของโลก (ที่เชื่อว่าโลกแบน) หรือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แล้วจำลองเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตเทพยดา กลายเป็นพระเมรุมาศ ที่สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ยุคอยุธยา ความเชื่อจากอินเดีย
ได้รู้ถึงสวรรค์รอบเขาพระสุเมรุ
ได้เข้าใจปริมณฑลเขาพระสุเมรุที่ประกอบด้วยภูเขา, ทะเล, ชมพูทวีป, ป่าหิมพานต์ มีขอบเขตแค่ไหน
และยังจะได้เห็นภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 ปัจจุบันเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า 5 ชั้นของเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
นี่เป็นความรู้ที่ถูกย่อยออกเป็นเรื่องง่ายๆ จนสามารถอ่านจบและเข้าใจได้ในหน้าเดียวอย่างที่ว่า

เมื่อได้รู้ “พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง” เป็นแกนแล้ว
อยากจะเพิ่มสีสัน ก็ต้องเปิดไปที่หน้า 78
คอลัมน์ ล้านนาคำเมือง ของชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“คำปู้จู้” ผลิบานรออยู่
คำปู้จู้ เป็นภาษาล้านนา แปลว่า ดอกดาวเรือง
“คำ” มีความหมายถึง ทอง หรือสีทอง ซึ่งมาจากสีของดอก
ส่วนคำว่า “ปู้จู้” น่าจะมาจากลักษณะของช่อดอกของดาวเรืองซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนๆ กลมๆ
คนล้านนาเอาสีสันและทรงของช่อดอกมาตั้งเป็นชื่อเรียกของพืชชนิดนี้
ดาวเรืองเป็นสมาชิกในวงศ์ทานตะวัน Asteraceae
Aster มาจากภาษากรีก แปลว่า ดวงดาว
“ดวงดาวสีทองคำ” ที่บ้านเรานิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก ร้อยพวงมาลัยเพื่อสักการบูชา
เป็นมงคลทั้งชื่อและการนำไปใช้ประโยชน์
ยิ่งสีเหลือง เป็นสีประจำพระองค์ประจำรัชกาลที่ 9 แล้ว
จึงเหมาะสมยิ่งที่ ตุลาคมปีนี้ “ดวงดาวสีทองคำ” จะสะพรั่งบานทั่วไทย
เพื่อรำลึกและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
นี่คืออีกหนึ่งความรู้ที่คอลัมน์ “ขนาดกลาง” มอบให้

และเมื่อเพ่งพิจารณาไปยังคอลัมน์เล็กๆ
“อาทิตย์ละมื้อ” ของ “คนข้างครัว” ที่หน้า 63
จะพบเมนูพิเศษ “ไข่พระอาทิตย์”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งว่า
“เมนูไข่พระอาทิตย์ เป็นตำราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสอนตั้งแต่เล็กๆ
ทำเป็นกันทุกคนทั้งครอบครัว
เป็นเหมือนไข่เจียวทั่วไป แต่ใส่ข้าวสุก…
และที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งชื่อ ไข่พระอาทิตย์
เพราะเมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว”
เครื่องปรุงมีอะไร และปรุงอย่างไร
นี่ย่อมแสวงหาได้จากคอลัมน์เล็ก-เล็กนี้

เมื่อรวม 3 คอลัมน์ ใหญ่-กลาง-เล็ก
นี่คือความรู้อันมีเสน่ห์
สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไป “บอกต่อ” ได้อย่างผู้รู้ เปี่ยมเสน่ห์ และสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอทุกตารางนิ้วของ “มติชนสุดสัปดาห์”