เมนูข้อมูล : ทัศนะที่ก่อกระแส

หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ที่สุดแล้วแรงกดดันในเรื่องปากท้องสร้างผลสะเทือนต่อรัฐบาลผู้บริหารประเทศมากที่สุด

ในช่วงหลังนี้เสียงบ่นเรื่องความยากลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในระดับล่างเริ่มถี่และแรงขึ้น จนกลายเป็นว่าแทบทุกเรื่องราวที่รัฐบาลดำเนินการกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเอาความเหมาะควรของที่มีปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นศูนย์กลาง

รัฐบาลหารายได้เพิ่มด้วยการปรับฐานภาษี การวิพากษ์วิจารณ์แทนที่จะเอาความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาประเทศ กลับกลายเป็นการมองเรื่องเพิ่มภาระให้ประชาชนคนทำมาหากินเป็นสำคัญ และกลายเป็นเรื่องที่พยายามทำให้เกิดภาพว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการหารายได้ คิดเป็นแค่รีดภาษีจากประชาชน

ไม่ถามว่า “ประชาชนทำอะไรให้ประเทศชาติ” แค่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “ประเทศชาติให้อะไรกับประชาชน”

สภาวะความคิดเช่นนี้ กลายเป็นเรื่องที่รุกให้มีความเปลี่ยนแปลง คำถามเรื่อง “วันเลือกตั้งที่ชัดเจน” เริ่มถี่และดังขึ้น ข้ออ้างในเรื่องความสงบเรียบร้อยที่ได้ผลดีมาตลอด เริ่มมีข้อสงสัยในทำนองเป็น “ความสงบเรียบร้อยเพื่อใคร” และมุมมองเช่นนี้ได้ค่อยๆ ก่อทัศนะในแบบ “รัฐบาลทำอะไรก็ผิด” ขึ้น และทำท่าจะกลายเป็นทัศนะหลักขึ้นทุกที

ซึ่งสำหรับนักการเมืองแล้วย่อมต้องไหวตัวให้ทันทัน หากทัศนะเช่นนี้เริ่มก่อตัวและพัฒนาเป็นกระแสขึ้นมาเมื่อไร นั่นหมายถึงการไม่ยอมรับจะเพิ่มมากขึ้น

หากเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมต้องหาทางที่จะลดกระแสเช่นนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นการปรับนโยบายใหม่ การปรับคณะรัฐมนตรี หรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้เลือกรัฐบาลใหม่

จะว่าไป “นักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” หากฉลาดพอที่จะเห็นธรรมชาติของการเมืองย่อมต้องมองหาวิธีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะว่าจะมีอำนาจมากแค่ไหน แต่หากเป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่ต้องการ ย่อมไม่มีทางที่จะทำงานอย่างมีความสุขได้

ยิ่งไปกว่านั้นคือ แม้จะเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่หากยังมองไม่เห็นต้นเหตุที่ก่อทัศนะอันสร้างกระแสขึ้นมา ก็ใช่ว่าจะอยู่ได้ หนทางที่ดีที่สุดคือมองให้เห็นต้นเหตุของปัญหาและหาทางคลี่คลาย

ปัญหารายได้ย่อมขึ้นตรงกับการทำงาน “งานคือเงิน” เป็นสัจธรรม

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด จากจำนวนผู้ทำงาน 37.60 ล้านคน แบ่งเป็นในภาคเกษตรกรรม 12.29 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม 25.31 ล้านคน

คนในภาคเกษตรลดลง 6.3 แสนคน คือจาก 12.92 ล้านคนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มาเหลือ 12.29 ล้านคนในปีนี้ ลดจากกลุ่มปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และยางพารา

ขณะที่นอกภาคเกษตรลดลง 2.3 แสนคน จาก 25.34 เหลือ 25.31 จากสาขาการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมยานยนต์ การก่อสร้าง การผลิต และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

มองผ่านการลดลงของงาน ย่อมต่อเนื่องไปเห็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ผ่านมาว่านโยบายและผลงานกระทบต่อเศรษฐกิจระดับกระเป๋าสตางค์ชาวบ้านแค่ไหน

พืชผลการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเลือกสวนไร่นา ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถหารายได้ได้ จนต้องเลิกทำ

ขณะที่การค้าการลงทุนต่างๆ ทรุดลง จนมีงานให้ทำน้อยลง

นี่คือเหตุ

การแก้ไขที่เพื่อจะฟื้นทัศนะที่ดีต่อรัฐบาลอาจจะทำได้ในภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมชมชอบรัฐบาล

ผู้มีอำนาจที่ประชาชนให้ความศรัทธาสามารถจะพูดในทางขอความเห็นอกเห็นใจ ให้ประชาชนคิดหาทางช่วยกันที่จะฟื้นฟูได้

แต่ผู้มีอำนาจที่จะรักษาศรัทธาประชาชนไว้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย

เพราะต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการปกครองค่อนข้างสูง

และเรื่องก็มีอยู่ว่า “ศาสตร์และศิลป์” จะมีได้แต่ในผู้นำ “ทำเพื่อประชาชน” เท่านั้น