เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (2) ประเมินสถานภาพความรู้ด้านล้านนาศึกษา : ในมุมมองของนักวิชาการด้านโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หัวข้อแรกใน “ล้านนาศึกษา” วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ 700 ปีเชียงใหม่ ดิฉันเป็นผู้เปิดประเด็น เรื่อง “ประเมินสถานภาพความรู้ด้านล้านนาศึกษา : ในมุมมองของนักวิชาการด้านโบราณคดี”

โดยจะมองย้อนกลับไปในรอบ 20 ปี

 

ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา นับโดยเฉลี่ยเริ่มประมาณ พ.ศ.2539 เป็นปีที่ครบรอบ 700 ปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นห้วงเวลาที่มีการตื่นตัวต่อการสืบค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ “ล้านนาศึกษา” อย่างมาก อาทิ มีการหารือถึงเรื่อง “ควรกำหนดวันกำเนิดของเชียงใหม่” อย่างเป็นกิจจะลักษณะ (มติในครั้งนั้นเห็นสมควรยึดเอาวันที่ 12 เมษายน

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2559 วาระครบรอบ 720 ปีเมืองเชียงใหม่ มีการทบทวนการคำนวณปฏิทินใหม่ พบว่าควรเปลี่ยนเป็นวันที่ 19 เมษายน จึงจะถูกต้องกว่า) ซึ่งเดิมไม่เคยมีการใส่ใจที่จะระบุเรื่องเหล่านี้กันมาก่อน

นับแต่นั้นมา ความเคลื่อนไหวเรื่องการชำระการสะกดคำศัพท์เฉพาะ ค้นหาที่มาความหมายในเชิงอักขรวิทยาของคำสำคัญๆ เช่น “ล้านนา-ลานนา” เริ่มจัดทำอย่างเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การประกาศว่า “ล้านนา” นั้นเป็นคำที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ.2540

ต่อมาเริ่มมีการเคลื่อนไหวเกิดการถกเถียงทักท้วงเรื่องนามเฉพาะของเอกสารโบราณกันมากยิ่งขึ้นว่าคำไหนถูกต้อง เช่น “พระญามังราย-พ่อขุนเม็งราย” “พระญางำเมือง-พ่อขุนงำเมือง” รวมไปถึง “พระญาร่วง/พระญารามราช-พ่อขุนรามคำแหง) กลับยังเป็นปมปัญหาที่คาราคาซัง ไม่ได้รับการชำระสะสางแก้ไขให้ถูกต้อง

ด้วยหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยเกรงว่าหากเปลี่ยนแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสำนักการศึกษาส่วนกลางที่ยังให้คุณค่าต่อคำว่า “สุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย” หรือสโลแกนที่ว่า “พ่อขุนปกครองไพร่ฟ้าแบบพ่อปกครองลูก”

 

ตีความ “ล้านนาศึกษา” จำกัดแค่ไหน

แค่หมายถึง “ประวัติศาสตร์ล้านนา ในเขตดินแดนเหนือภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ตั้งแต่ยุคพระญามังรายสร้างเชียงใหม่ พ.ศ.1839 จนถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475?”

หรือว่าจะหมายรวมถึงเรื่องราวอันหลากหลายทั้งก่อนหน้านั้น และหลังจากนั้น

ถ้าเช่นนี้ควรจำแนกกรณี “ล้านนาศึกษา” เป็นอะไรได้บ้าง ให้รอบคอบ รอบด้าน ไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆ แต่ก็ไม่เลอะเทอะเสียจนกลายเป็น “แกงโฮะ”

ในความเป็นจริงนั้น คำว่า “ล้านนาศึกษา” หาได้หมายถึงการสืบค้นเพียงแค่ในมิติทางประวัติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์เท่านั้นไม่ ทว่า ยังกินวงกว้างครอบคลุมไปถึงศาสตร์แทบทุกด้าน

รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา สถาปัตยกรรม ธรณีวิทยา โบราณคดี แพทยศาสตร์ รวมไปถึงการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา จารีตประเพณี และการท่องเที่ยว ฯลฯ

 

ประเมินสถานภาพ “ล้านนาศึกษา”สองแนวทาง

1.เอาสำนักหรือองค์กรที่ศึกษาขับเคลื่อนงานด้าน “ล้านนาคดี” เป็นตัวตั้ง แล้วค่อยจำแนกออกเป็นเนื้อหาว่าแต่ละองค์กรเน้นการศึกษาเรื่องใดบ้าง

2. เอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยระบุว่ามีองค์กรหรือหน่วยงานไหนบ้าง ที่ให้ความสนใจจับประเด็นเรื่องนั้นๆ มาทำการศึกษา

แนวทางแรก มองจากองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อน

1. กลุ่มของสถาบันระดับอุดมศึกษา ที่มี “เสาหลักทางวิชาการด้านล้านนาคดี” อย่างเข้มข้น ถือเป็น “วงในของไข่แดง”

2. กลุ่มของสถาบันการศึกษาระดับมัธยม การศึกษานอกระบบ

3. กลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อน้อยพ่อหนาน ชมรม สมาคม วัดที่มีการจัดตั้งพิพิธัณฑ์ท้องถิ่น

4. กลุ่มของนักวิชาการจากหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่สถานศึกษา

5. สถาบันการศึกษาจากส่วนกลาง

6. สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ

7. นักวิชาการอิสระ นักเขียนสารคดี ผู้รู้ตามโลกออนไลน์

แนวทางที่สอง ประเมินจาก “เนื้อหา”

ในมิตินี้จะพิจารณาจากเนื้อหาที่ได้รับการผลิตซ้ำในรอบสองทศวรรษ ว่ามีอะไรบ้างที่ยังเป็นเรื่องอยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนในลำดับต้นๆ แบ่งได้ดังนี้

1. อัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ

2. ประวัติศาสตร์ล้านนา กระแสหลัก-กระแสรอง

3. การชำระตำนาน วรรณกรรมล้านนา ประเด็นชื่อบ้านนามเมือง

4. งานด้านโบราณคดี (โบราณสถาน โบราณวัตถุ)

5. วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต ภูมิปัญญา สล่า เรือนพื้นถิ่น อาหาร ดนตรี ฟ้อนรำ ฯลฯ

 

ปัญหาการประเมิน “ล้านนาศึกษา”

หากประเมินจากปริมาณสถาบัน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ให้ความสำคัญ หรือวัดจากจำนวนวิทยานิพนธ์ที่ผลิตผลงานมาในแต่ละปี ก็ต้องบอกว่าน่าชื่นใจ เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีผู้สนใจเรื่อง “ล้านนาศึกษา” มากขึ้น

แต่หากประเมินจากคุณภาพ ยอมรับว่า ผู้รู้เฉพาะทางเริ่มเหลือน้อยลง แม้มีผู้เข้ามาสนใจและหยิบเอางานล้านนาศึกษาไปใช้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทว่า มักเอา “ข้อมูลเดิมๆ ที่ยังไม่อัพเดทมากนัก” ไปใช้งานหรือโพสต์ต่อๆ กัน

ในโลกออนไลน์อาจดูอึกทึกครึกโครม เรื่องล้านนาศึกษา ตั้งกระทู้มากมาย แต่ผู้รู้จริงๆ ในระดับปราชญ์กลับมีน้อยเท่าเดิม แทบไม่มีการสืบสานต่อยอด สร้างคนรุ่นใหม่แทนคนรุ่นเก่าไม่ทัน หรือหากจะพอมีแต่ก็ขาดบูรณาการ

งานล้านนาศึกษา ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยมิติใดๆ เราไม่อาจแยกศาสตร์ต่างๆ ออกจากกันได้เลย จำเป็นต้องทำงานร่วมกันระหว่าง นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักจารึกวิทยา นักการศาสนา นักประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม นักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์ ฯลฯ

บางครั้งได้ข้อมูลเชิงโบราณคดีเชิงลึกมากแล้ว แต่ยังขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ในด้านอื่นๆ หรือมีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ที่หนาแน่นแล้ว แต่ยังขาดการตีความด้านพุทธศาสนา การไม่กล้าฟันธง อาจเนื่องด้วยความไม่กล้าหาญพอ ที่จะ “แหกคอก” หรือหัวอนุรักษนิยมเกินไป อาจเนื่องด้วยการมองไม่รอบด้านเพียงพอ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์มักจะดำดิ่ง ศาสตร์ใครศาสตร์มัน

ทำให้ไม่มีการอภิปรายผลในภาพกว้างแบบ 360 องศา

 

ประเด็นที่คั่งค้าง มองไปข้างหน้า

ควรจับตามองความเคลื่อนไหวและให้การสนับสนุนต่อหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ หรือหอจดหมายเหตุ ขนาดเล็กๆ ตามวัด โรงเรียน เอกชน จัดทำหนังสือชื่อบ้านนามเมืองของตน

คัมภีร์ใบลานที่ยังกระจัดกระจายทั่วล้านนา วัดเล็กวัดน้อย ต้องเร่งตั้งโครงการจัดหางบประมาณชำระปริวรรตไม่งั้นสูญหาย ไม่ทันการ เก็บข้อมูลคนสำคัญที่ยังใกล้ตัว ดีกว่าปล่อยให้เวลาผ่านเลย

การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา ควรปลายเปิดไว้ก่อน เพื่อให้เกิดการโต้แย้ง เพราะประวัติศาสตร์เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และเป็นการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด ควรยอมรับข้อมูลใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง นักวิชาการยังตามไม่ทัน

การเก็บข้อมูลเชื่อมโยงล้านนากับเพื่อนบ้านสำคัญมาก ล้านนากับล้านช้าง ล้านนากับพม่ามอญ ล้านนากับ 12 ปันนา ล้านนากับจีน ล้านนากับอยุธยา ล้านนากับสุโขทัย ล้านนากับอยุธยา ล้านนากับรัตนโกสินทร์

การชำระวรรณกรรมคลาสสิคที่ทรงคุณค่า ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเหนือ สิงหนวัติ ต้องทำกันทั้งชีวิต

เน้นการตรวจสอบปริวรรตใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทบทวนแล้วทบทวนอีก ไม่จำเป็นต้องประณามดูแคลนว่าฉบับปริวรรตที่ผ่านมาในอดีตผิดพลาด

การตีความในยุคสมัยใดก็อาจจะถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้วสำหรับยุคนั้นๆ

แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีพัฒนากว้างไกลไปอีกขั้น (เช่น มี GPS ช่วยบอกพิกัดเส้นทางได้สะดวกขึ้น) ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลแบบไม่มีศักดิ์ศรีหรือถืออัตตา

ศึกษางานด้านโบราณคดีควบคู่กับงานด้านจารึกวิทยา ควรศึกษาเวียงโบราณต่างๆ ด้วยการขุดค้นให้เป็นรูปธรรม เพื่อนำหลักฐานมาอธิบายประวัติศาสตร์ บางแห่งปรากฏชื่อในตำนาน แต่ไม่ทราบสถานที่ เช่น ชะแว่ แจ้เจียงกุ๋ม

หรือบางกรณีปรากฏชื่อเมืองในจารึกเวียงเถาะ ทรทัตนคร วสวัตนคร ก็ยังไม่ทราบว่าจะหมายถึงสถานที่แห่งใด

ในอีกด้านหนึ่ง กลับไม่ทราบว่าเวียงโบราณชื่ออะไรในอดีต เช่น เวียงเกาะกลาง (เป็นชื่อใหม่) งานด้านโบราณสถานหากไม่รีบดำเนินการ ถูกทำลายไม่ทันกระแสโลกาภิวัตน์ เช่น บริเวณหลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เกรดทิ้งโบราณสถานมากกว่า 30 แห่งเพื่อสร้างโรงงาน

ปัจฉิมบท กว่าจะสร้างองค์ความรู้ด้านล้านนาศึกษาขึ้นมา ต้องอาศัยศาสตร์ทุกศาสตร์เชื่อมร้อยกัน ไม่มีศาสตร์ไหนยิ่งใหญ่กว่าศาสตร์อื่น ไม่มีนักวิชาการคนใดเหนือกว่าใคร แต่ละคนล้วนมีจุดอ่อนจุดแข็ง จุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป

ปล่อยให้ทุกคนสร้างผลงานตามศักยภาพของเขา จะไปคาดหวังอะไรในลักษณะ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” จากงานวิจัยเล่มเดียวหรือจากนักวิชาการคนใดคนหนึ่ง คงเป็นไปไม่ได้

แต่ละคนแต่ละผลงานล้วนกระจ้อยร่อย ต้องรวมตัวกันผนึกเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ ที่จะมาช่วยเติมเต็มในกระบวนการสร้าง “ล้านนาศึกษา” ให้สมบูรณ์ แบบไร้พรมแดนและไม่มีที่สิ้นสุด