บน ‘ขื่อคา’ เดียวกัน ของผู้รายงานพิเศษ/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

บน ‘ขื่อคา’ เดียวกัน

ของผู้รายงานพิเศษ

 

กราวรูดมาหลายครา ในที่สุด สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติก็ไปเยือนกัมพูชาทันที พนมเปญก็เกิดอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นประหลาด โดยเป็นที่รู้กันดีว่า หากผู้รายงานพิเศษยูเอ็น มาเยือนที่นี่ทีไร คณะอำนาจที่นี่มีท่าทีแข็งกร้าว แต่ต่างจากรอบนี้

เพราะคนที่ถูกส่งมา มีหน้าตาภาษากายต่างไปจากอดีตที่ไม่ยอมหักยอมงอและดูเป็นเจ้านาย นอกเหนือจากหน้าตาเหมือนคู่ปรับตะวันตกซึ่งแค่เริ่มต้นก็ล้มเหลวในความไม่พูดจาภาษาเดียวกันได้ โดยเฉพาะตอนที่รายงานว่า กัมพูชาตกต่ำด้านสิทธิมนุษยชนและภาพรวมการเมืองซึ่งเป็นปัญหาเดียวกัน

แต่รอบนี้อย่างที่เล่า ยูเอ็นส่งผู้รายงานคนหนึ่ง ที่นอกจากแตกต่างจากทุกคนที่ผ่านมาแล้ว กัมพูชารอบนี้ก็มาถึงจุดบอดของปัญหาทุกด้านอย่างจนเกือบจะเป็นภาพอดีตของการเจรจาใน “เขมร 4 ฝ่าย” ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนานา ทว่า ก็มีไทยนั่นล่ะที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาในช่วงแรกๆ ก่อนถูกอินโดนีเซียเสียบแทนและเป็นฝรั่งเศสในที่สุด

แต่ต้องไม่ลืมว่า รอบนั้น ระบอบพนมเปญมีปัญหากับคณะนโรดมสีหนุและซอน ซานน์ ที่ตั้งสำนักงานในต่างประเทศ ส่วนอีกภาคีหนึ่ง-เขมรแดงก็เขตปกครองตัวเอง แต่ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะกัมพูชายังไม่เขาร่วมเป็นสมาชิกในภาคีสากล และจากที่ล้มเหลวมามาก

ยูเอ็นเที่ยวนี้จึงส่งคนที่มีภาษีดีที่ภาษากายเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เคยเป็นตัวกลางของปัญหากัมพูชามาบ้าง

และผลคือศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิทิต มันตาภรณ์ (70) นักกฎหมายชาวไทยที่ทำงานฝ่ายสิทธิมนุษยชนให้ยูเอ็นมากว่า 30 ปี ผ่านประสบการณ์ในฐานะผู้รายงานพิเศษอย่างน้อย 2 ครั้ง และข้อเด่นวิทิตคือเป็นอาสาสมัครในองค์กรแห่งนี้

ความด่างพร้อยจึงไม่มี ที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกรับจ้างมาเป็น “บ่างช่างยุ” ยุแยงซ้ำเติมให้ประเทศกัมพูชาประสบปัญหาลงไปอีก

ในนามยูเอ็น ภารกิจของผู้แทนพิเศษฯ กัมพูชา แม้จะไม่เกี่ยวกับไทยก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ครั้งหนึ่งสนามสันติภาพแห่งนี้ มีไทยเคยร่วมภารกิจที่เคยประสบความสำเร็จ” และใครจะเชื่อว่า วันนั้น วิทิต มันตาภรณ์ ที่เพิ่งอาสาเข้ามาทำงานสายนี้ ผ่านไป 30 ปี กลับมาอีกที ที่ตรงนี้ มีเขายืนอยู่และกำลังทำหน้าที่นั้นอีกครา

ด้านหนึ่งก็รู้สึกว่า ช่างกระไรกัมพูชา วันเวลาไม่เปลี่ยนแปลงเลย

วิทิต มันตาภรณ์ ได้ใช้เวลา 11 วันต่อการรับฟังภาคีทุกฝ่าย ตั้งแต่นักการเมือง อิสรชน นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ กรรมกรแรงงาน นักสื่อมวลชนและนักโทษ รวมทั้งสมเด็จฮุน เซน ที่ยังสงวนท่าทีไม่ให้ความสำคัญ

แต่นั่นแหละ เมื่อระบอบของตนได้สะสมปัญหาเรื้อรังและกำลังไปต่อไม่น่าจะถูกทางหากขืนทุรัง ขณะที่ประชาชนเขมรนั้น โอบรับอย่างมากต่อการมาเยือนของผู้รายงานพิเศษรอบนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าบางทีพวกเขาอาจมีความหวังที่รอคอยมาแรมปี

โดยเฉพาะสุ้มเสียงความต้องการใฝ่หา “คนกลาง” ที่จะทำหน้าที่กดดันให้สมเด็จฮุน เซน เปิดทาง “เจรจา” ให้สำเร็จจงได้ อย่างน้อยก็ก่อนการเลือกตั้งปีหน้า นับเป็น 11 วันแห่งการรอคอยที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง

จนทำให้ฉันรู้สึกว่า ใกล้เคียงกับภารกิจลับการพบปะเจรจาของเขมร 4 ฝ่ายเมื่ออดีตเลยทีเดียว

Phnompenhpost.com

หลังจากเฝ้าดูการคว่ำไม่เป็นท่าของผู้รายงานพิเศษกัมพูชาในรอบหลายปีที่ผ่านมา ฉันไม่แน่ใจว่า มันเกิดจากที่เป็นปัญหาแต่ข้อหนึ่งคือรู้สึกว่าภาษากายของผู้แทนยูเอ็นช่างแข็งกร้าวเกินไป กระทั่งรอบนี้ของ ศ.วิทิต มันตาภรณ์ สุ้มเสียงของเขาที่บ่งบอกว่า หลายฝ่ายกัมพูชารู้สึกอบอุ่นใจ

จากบทสัมภาษณ์ VOA ภาคเขมรที่ฉันสัมผัสได้ ถึงบ่อน้ำ (ตา) แห่ง “ความหวัง” หลังจากที่มันเหือดแห้งมาแสนนาน แต่มันได้กลับมาแล้วอีกครั้ง และพลุ่งโพลงอยู่ในความรู้สึกชาวเขมรส่วนหนึ่งที่หวังว่า ผู้รายงานพิเศษจะแบกความหวังนั้นได้จนวิทิต มันตาภรณ์ ต้องแตะเบรกเตือนว่า “มันอาจไม่สำเร็จได้ในวันเดียว”

ศ.วิทิต มันตาภรณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเขาร่างรายงานฉบับนี้เสร็จตั้งแต่เดือนมิถุนายน และการลงพื้นที่ก็เพื่อจะเพิ่มเติมเนื้อหาจากภาคีทุกฝ่าย ก่อนส่งไปสำนักงานที่เจนีวาและนิวยอร์ก ก่อนที่เขาจะขึ้นกล่าวรายงานในเดือนตุลาคม และนั่น การหยิบยกปัญหาทั้งหมดก็จะตามมา

แต่ขณะนี้กัมพูชาโดยหลักๆ อันหนักหน่วงของปัญหาคือ สิทธิมนุษยชน-ประชาธิปไตย ซึ่งน่าแปลกว่าที่ผ่านมา กัมพูชาได้ทำหน้าที่นี้ดีมากทั้งระดับนานาชาติและอาเซียน (เพิ่มเติมจากผู้เขียน-กรณีเมียนมาและยูเครน) วิทิต มันตาภรณ์ เองก็ย้ำว่ากัมพูชาได้ทำหน้าที่นั้นเป็นอย่างดี กระนั้น ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนคือทุกส่วนขององคาพยพที่นี้ การเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมไปหมด

และนั่นคือสิ่งที่กำลังทำให้กัมพูชาติดกับดักเงื่อนตาย-ไร้ทางออก

Cambodianess.com

ตอนหนึ่ง ซึน นาริน/วีโอเอ ถามวิทิต มันตาภรณ์ ว่า แล้วมีอนุศาสน์อะไรบ้างที่สำคัญในครั้งนี้ ขณะที่กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า?

“ผมคิดว่า เราเห็นมีบทพิสูจน์นี้ตอนเลือกตั้งท้องถิ่นที่เพิ่งผ่านไป ในฐานะนักกฎหมายผมเห็นว่า เพื่อแก้ปัญหาสถานะต่างๆ กัมพูชาจำเป็นต้องชำระกฎหมายเลือกตั้ง ความจริงแล้ว การแก้ไขมาตราในกฎหมายสูงสุดไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ หากสามารถทำให้กฎหมายมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายใด”

และ 1 ใน 10 ข้อที่ผู้รายงานพิเศษ และภาคีเห็นพ้องต่อรัฐบาลกัมพูชาคือ “ยุติการจับกุมและลงโทษผู้ต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้คนทั้งหมดได้มีส่วนร่วมทางการเมือง”

ถ้าแผนเบื้องต้นนี้เกิดขึ้นได้ รายงานการแก้ไข “กลวิธีไปสู่การเลือกตั้ง” ของเขาก็แทบจะไม่มีความหมายใดๆ เพราะในที่สุด ทุกฝ่ายก็จะร่วมกันทำในสิ่งที่พวกเขาเห็นพ้องกันเองว่า จะต้องสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งจากภาคีทุกฝ่าย

ซึ่งขณะนี้ไม่ใช่ และเป็นปัญหาที่ผู้รายงานพิเศษเห็นว่า จะต้อง “บูรณาการ” ให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้น การเลือกตั้งก็จะไม่เข้าสู่หลักการสันติภาพและประชาธิปไตย

Kamboja

“แล้วคุณมีความเห็นประชาธิปไตยกัมพูชาว่าเป็นเช่นใด?” นาริน-ถาม

วิทิตกล่าว : กัมพูชาเดินมาสู่ปรัชญาสิทธิมนุษยชนตามสากลโลก มากกว่าด้วยซ้ำหากจะกล่าวไป กัมพูชาเป็นภาคีในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนในจำนวน 8 ข้อจากทั้งหมด 9 นั้น นับเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับพื้นฐานประชาธิปไตย แต่ปัญหาเดียวกันที่กัมพูชาก็เผชิญกับปัญหาเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกตั้งที่มีบริสุทธิ์ยุติธรรม อย่างที่กล่าวมาข้างต้น แน่นอน ใช่ว่าผู้รายงานพิเศษจะแก้ปัญหาอะไรๆ ได้ทั้งหมด

“หน้าที่หลัก 4 ข้อของเราคือ พิจารณาติดตาม, การลงพื้นที่เพื่อพบปะกับทุกฝ่าย, ยอมรับคำร้องจากภาคีเหล่านั้น และผลักดันไปสู่ปฏิบัติการที่เป็นจริง”

“แต่สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจอย่างมาก คือการได้พบกับชาวบ้านที่ใช้เวลาเดินทาง บางคนเป็น 10 ชั่วโมงก็มี เพื่อที่จะมาพบพวกเรา ผมเหนื่อยแน่นอน แต่คนที่เหน็ดเหนื่อยกว่าผมมาก คนที่รอคอยพยายามจะมาพบกับพวกเรา เพื่อรับฟัง รับรู้และได้ยินในสิ่งที่เขาพูด เขาได้แสดงมติความเห็น เราแค่ทำหน้าที่รับรู้และส่งต่อปัญหาที่ยากลำบาก นี่ต่างหากที่สำคัญ และทำให้เรามีกำลังใจที่ร่วมแก้ปัญหาไปกับพวกเขา”

และ “ผมคงเขียนรายงานขึ้นโดยฝ่ายเดียวไม่ได้ หากไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการได้พบกับนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในกัมพูชาหนนี้” วิทิต มันตาภรณ์ ย้ำ

ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของพนักงานบ่อนกาสิโน (นาคาเวิลด์) ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่โยงไปสู่ธุรกิจสีเทาโดยเฉพาะสีหนุวิลล์ที่เป็นแหล่งรวมของขบวนการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค และทำให้กัมพูชาอยู่ในระดับ Tier3 หรือประเทศที่ไม่สนับสนุนความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตกต่ำร้ายแรงขั้นสุด

ผนวกกับวิถีสันติภาพและประชาธิปไตยที่สิ้นหวังในกัมพูชา แม้ขณะนี้จะดูเหมือนว่าพวกเขากำลังเห็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์อยู่นั้น อีกฟากหนึ่งของไทย?

หรือทฤษฎีประชาธิปไตยฉบับไทย-เขมรภาคพิสดารที่บังเอิญมาบรรจบกัน แม้จะเหมือน-ต่างพ้องขนบบ้าง สารภาพเทียวว่า นี่ไม่ใช่ชะตากรรม

Phnompenhpost.com