ไก่ประดับบารมี/ไก่กิน : การเลี้ยงไก่ สมัยรัฐนิยม กับสามเกลอ (2)/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ไก่ประดับบารมี/ไก่กิน

: การเลี้ยงไก่ สมัยรัฐนิยม กับสามเกลอ (2)

 

เมื่อกลิ่นอายของสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังแพร่กระจายทั่วยุโรปและตั้งเค้าระอุขึ้นในเอเชีย

และพลันที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (2481) แล้ว เขาดำเนินการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และทำสวนครัว (2482)

นำไปสู่การแพร่หลายของ การเลี้ยงไก่ ในสังคมไทย

พลนิกรกิมหงวน และสุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี (2482)

เล้าไก่สามสหาย

ในพลนิกรกิมหงวน ตอนสามเกลอ เลี้ยงไก่ สะท้อนเหตุการณ์ร่วมสมัยว่า พวกเขาเนรมิตเล้าไก่ขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงไก่ขึ้นตามนโยบายรัฐนิยม

แต่เป็นการเลี้ยงไก่ฝรั่ง เนื่องจากสามเกลอถูกเจ้าคุณปัจจนึกฯ ดูถูกไว้ว่า พวกเขาไม่มีความสามารถในการหาไก่ราคาแพงมาเลี้ยงได้ สร้างความโมโหโกรธาให้กับสามสหายยิ่งนัก

ภรรยาของพล พัชราภรณ์เตือนสติสามีของเธอว่า “รัฐบาลของเราต้องการให้ประชาชนทำสวนครัวและเลี้ยงไก่ แต่ไม่ประสงค์ให้เลี้ยงไก่ฝรั่ง ที่ให้ราษฎรเลี้ยงก็หวังจะให้เลี้ยงไก่ในเมืองไทยราคาถูกๆ จะได้มีไว้กินตัวและไข่ของมัน” (ป.อินทรปาลิต, 2535, 54-55)

แต่สุดท้ายแล้ว สามเกลอก็ยืนกรานแบบหัวชนฝาว่าจะเลี้ยงไก่ฝรั่งให้ได้เนื่องจากมีทิฐิที่ถูกเจ้าคุณดูถูกดูแคลนเอาไว้

ในที่สุดแล้ว ไม่ใครหยุดยั้งความคิดของสามเกลอได้ ตามท้องเรื่องแล้ว เมื่อเสียงแตรไฟฟ้าของรถยนต์ดังขึ้น สตู๊ดเก๋งแล่นมาตามด้วยรถยนต์บรรทุกอีก 3 คัน รถบรรทุก 2 คันแรกบรรทุกไก่อย่างดีที่สุด แบ่งแยกไว้ในกรงชั่วคราวเป็นชุด ชุดละ 4 ตัว ตัวผู้ 1 ตัวเมีย 3 ส่วนรถบรรทุกคันหลังบรรทุกเครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องบำรุงความสุขของไก่ เป็นต้นว่า ยาและเครื่องเวชภัณฑ์ วิทยุ หีบเสียงกับสัมภาระอื่นๆ มากมาย (ป.อินทราปาลิต, 2535, 62)

พวกเขาใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงในการไปตระเวนซื้อไก่ตามเล้าดังๆ ร่วมสมัยหลายแห่งทั่วพระนคร ทำให้เราทราบว่า ในช่วงเวลานั้น สังคมไทยในพระนครมีเล้าไก่ดังๆ ที่เพาะไก่พันธุ์ต่างประเทศจำหน่ายแก่นักเลี้ยงผู้มีอันจะกินหลายแห่ง เช่น เล้านพมาศ เล้าปรีชา เล้านายไชย เล้าเหลวงสกลฯ เป็นต้น

ไก่พันธุ์ที่เหล่าสามเกลอซื้อมาเลี้ยงนั้น มีไก่ทั้งพันธุ์บัฟเล็กฮอร์น ไวต์ยันด๊อต บาร์พลีมัธร็อก แบล็กออร์พิงตัน บลูออร์พิงตัน ไวต์ออร์พิงตัน ออสตราล็อป และไลต์ซัสเซกส์ รวมเป็นเงินราว 3,500 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงมากที่สามารถซื้อรถได้หนึ่งคันในสมัยนั้น

เมื่อความฟุ่มเฟือยของเหล่าสามีทราบถึงเหล่าภริยา พวกเธอไม่พอใจที่สามีไปซื้อไก่ฝรั่งราคาแพงมาเลี้ยง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยเลี้ยงไก่ไทยเพื่อเป็นอาหาร มิใช่เลี้ยงเพื่อประชันขันแข่งกัน

เรื่องราวในสามเกลอตอนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ค่านิยมสังคมของผู้ดีผู้มีอันจะกินครั้งนี้ อยู่ในช่วงของการปะทะกันระหว่างค่านิยมเก่า-ใหม่ ดังที่เขาบรรยายว่า หลังจากสามเกลอตั้งเล้าไก่สำเร็จ พวกเขาหมกหมุ่นอยู่กับไก่ทั้งวันทั้งคืน กินนอนในเล้าไก่ วันทั้งวันพูดถึงแต่เรื่องไก่ จนถึงขนาด “ป้วนเปี้ยนอยู่ในเล้าไก่นี้ อาบน้ำให้ไก่บ้าง ไขแผ่นเสียงให้ไก่ฟังบ้าง ไม่ก็เปิดวิทยุหรือสีซอ โดยเฉพาะกิมหงวนที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ไก่และหมอรักษาไก่” (ป.อินทราปาลิต, 67)

ไก่บาร์พลีมัธร็อก (Barred Plymouth Rock) และแบล็กออร์พิงตัน (Black Orpington)

สามเกลอย้อมไก่

เพื่อ “ถอนขน” เจ้าคุณปัจจนึกฯ

การเสียดสีค่านิยมของขุนนางเก่าโดย ป.อินทรปาลิตถูกสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียนในสามเกลอตอนนี้ว่า ในวันหนึ่ง เจ้าคุณปัจจนึกฯ มาเยี่ยมสามเกลอที่บ้านพัชราภรณ์ พร้อมจูงสุนัขฝรั่งตัวใหญ่มาด้วย เขาบรรยายการแต่งกายของขุนนางระดับพระยาไว้ว่า

“เจ้าคุณนุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำตาล สวมถุงเท้าสปอร์ตและรองเท้ายาง บาจา สวมเสื้อบลูคอแบะมีผ้าไหมพรมพันคอป้องกันความหนาว ท่าออกมอร์นิ่งวอล์กตั้งแต่ 6 นาฬิกาเศษจากบ้านศิริสวัสดิ์…เพื่อดูไก่ของสามสหาย ด้วยความอยากรู้ว่าไก่ดีเลวเพียงไร” (ป.อินทรปาลิต, 2535, 90)

เจ้าคุณ “มองลอดแว่นแลเห็นพลนิกรกิมหงวนกับฝูงไก่ ท่านก็หยุดชะงัก ด้วยตื่นตาตื่นใจบังเกิดขึ้นทันที ไก่ตั้งยี่สิบแปดตัวนี้เป็นไก่ที่มีราคาแพงทั้งนั้น เจ้าคุณจ้องตาเขม็งมองดูไลต์ซัสเซกส์ทั้งสี่ตัว ความอยากได้บังเกิดแก่ท่านทันที” (ป.อินทรปาลิต, 90-91)

สามเกลอทักทายท่านพร้อมกล่าวว่า “เชิญครับคุณอา มาดูไก่สับปะรังเคของเราบ้างซีครับ” แต่สุนัขฝรั่งของเจ้าคุณเข้าขย้ำไก่พวกเขาตาย นำไปสู่การลงโทษสุนัขนั้น แต่เจ้าคุณยังคงอยากได้ไก่ของสามสหายมาก

ด้วยเหตุที่สามเกลอเลี้ยงไก่เกิดจากความคิดชั่วแล่นที่ถูกปรามาสจากเจ้าคุณปัจจนึกฯ นั้น ป.อินทรปาลิตเล่าไว้ว่า แต่ในที่สุด “ด้วยวิธีการเลี้ยงไก่อันแยบคายที่พลนิกรกิมหงวนคิดว่าทันสมัยที่สุดและดีที่สุดนั้น ทำให้ไก่พันธุ์ต่างๆ ตายไปเกือบหมดแล้ว ชั่วเวลาหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น”

ผลปรากฏว่า สามสหายหมดอาลัยตายอยาก กิมหงวนเปรยว่า ที่คนไทยเห่อเลี้ยงไก่ฝรั่งเพราะว่าไก่ฝรั่งตัวโตและสวยงามกว่าไก่ไทย ทำไมเราไม่เอาไก่ไทย เช่น ไก่ตะเภาราคาถูกๆ มาแปลงเป็นไก่ฝรั่งกันบ้าง จากนั้น พวกเขาลงมือ “ย้อมไก่” ให้เป็นไก่ที่มีสีสันสวยงาม พร้อมตั้งชื่ออย่างสวยหรูพิสดารว่า “หิรัญฟินแลนด์” “ไลต์บลูชิคาโก้” “เยลโล่ปารีส” และ “โร้ดอบิสซีเนีย”

จากนั้น พวกเขานำไก่ย้อมสีไปขายให้เจ้าคุณ ผู้ปรามาสคนหนุ่มอย่างพวกเขาเพื่อแก้เผ็ดด้วยการหลอกเอาเงินจากเจ้าคุณแทน

ในช่วงแห่งความนิยมเลี้ยงไก่ครั้งนั้น ปี 2482 เกิดปรากฏการณ์ในหมู่ชนชั้นกลางที่นิยมเลี้ยงไก่พันธุ์จากต่างประเทศเพื่อเลี้ยงประกวดประขันกัน แต่ในที่สุดแล้ว เกิดโรคระบาดขึ้นในเขตพระนครทำให้ความนิยมในการเลี้ยงไก่โดยทั่วไปขณะนั้นซบเซาลงด้วย (ชาติชาย, 2556, 160)

อันเห็นได้จากสิ่งที่ ป.อินทรปาลิตบันทึกไว้ว่า เขาเองก็เสียเงินไปมากมายกับการเลี้ยงไก่เช่นกัน

เขาบันทึกเรื่องการเลี้ยงไก่ไว้ว่า ครั้งวัยเด็ก เขาเคยเลี้ยงไก่ไทยตามแบบชาวบ้านทั่วไป ต่อมา เขาเคยเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์นตามสมัยนิยม เขาลงทุนกับไก่มากด้วยหวังจะเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือขาย

ในช่วงแรกที่เลี้ยง เขาเห่อไก่มาก ขนาดเขียนหนังสือถึงตี 1 ตี 2 เขาก็ลงมาเปิดไฟดูไก่ แต่การเปิดไฟบ่อยๆ ทำให้ไก่ตกใจบ่อยๆ ทำให้มันไม่ออกไข่ บางทีไก่ร้องเสียงดัง รบกวนสมาธิการเขียนหนังสือ เขาก็ลงมาใช้ไม้ตักอาหารไก่ตีกรงให้เงียบ

เขาเล่าปิดท้ายไว้ต่ออีกว่า “ยังจำได้ไหม เมื่อคุณเลี้ยงไก่…ไก่ คุณหวังจะขายไข่…ไข่ แต่เลี้ยงไม่เป็น เลยเห็นผลทันตา ไก่ม้วยมรณาพาให้คุณหมดตัว ยังจำได้ไหม ไก่ไม่ออกไข่…พอเช้าเห็นไก่…ไก่นอนหงายชี้ฟ้า…” (เริงชัย พุทธาโร, 2530, 233)

เฉกเช่นเดียวกับพลนิกรกิมหงวน ตัวละครในหัสนิยายของเขาในครั้งนั้นนั่นเอง นี่คือร่องรอยที่ปรากฏถึงกระแสความเป็นไปของการเลี้ยงไก่ในครั้งนั้นที่มีสีสัน มีชีวิตชีวาแตกต่างไปจากเอกสารราชการ

ดังนั้น การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในสมัยรัฐนิยม ด้วยรัฐหวังให้ประชาชนมีรายได้และมีอาหารที่อุดมคุณประโยชน์ต่อสุขภาพครั้งสร้างชาติ จึงเป็นนโยบายที่เผชิญหน้ากับค่านิยมเก่า คือ การเลี้ยงไก่เพื่ออวดร่ำอวดรวยหรือการเสริมบารมีให้กับผู้เลี้ยง ดังที่พลนิกรกิมหงวนในครั้งนั้นสะท้อนออกมานั่นเอง

ตำราเลี้ยงไก่หลังบ้านและการทำสวนครัว (2483) และภาพไก่พันธุ์