พฤษภารำลึก (17) ฤดูใบไม้ผลิไทยไม่เคยยั่งยืน!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (17)

ฤดูใบไม้ผลิไทยไม่เคยยั่งยืน!

 

“ถ้ากองทัพมีนิยามปฏิบัติการเรื่องประชาธิปไตยแตกต่างจากนิยามนี้ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตยกับกองทัพจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย”

Alfred Stepan (1988)

 

หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดขึ้น อันเป็นผลจากการตัดสินใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จะยุติบทบาทของตนเองด้วยความสมัครใจแล้ว

การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติเช่นนี้มีนัยถึงการพาการเมืองไทยกลับสู่ยุคของรัฐบาลเลือกตั้งอย่างแท้จริง

เพราะเป็นการขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นการปิดฉากยุครัฐบาลพันทางด้วย

การเมืองนับจากนี้ควรเดินไปในทิศทางของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ตามด้วยการถดถอยของอำนาจทางการเมืองของกองทัพ ขั้นตอนทางทฤษฎีเป็นเช่นนั้น

 

แต่ไม่ใช่ความจริงของไทย

ย้อนทวนอดีต

หากย้อนกลับไปในปี 2534 แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย กับผู้นำทหารรุ่น 5 ในขณะนั้น จะนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ของปีดังกล่าว

การยึดอำนาจรัฐบาลชาติชายจึงเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากกับบรรดาผู้สังเกตการณ์การเมืองไทย ซึ่งหากมองในมุมทางเศรษฐกิจแล้ว ไทยกำลังเดินหน้าสู่ความเติบโต และถูกยกให้เป็นตัวแบบหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในขณะนั้น

ในทางทฤษฎีแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะเป็น “ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง” การรัฐประหารได้บ้าง และผู้นำทหารเองก็ได้ประโยชน์จากความเติบโตเช่นนั้นด้วย เช่นในกรณีของตลาดหุ้นไทย อีกทั้งตัวแปรนี้ถูกใช้เป็นคำอธิบายในหลายกรณี

ในด้านหนึ่งการยุติบทบาทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีก เปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2531 ที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในปี 2519 อันเป็นดังสัญญาณของการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตยในการเมืองไทย

อีกทั้งความล้มเหลวของรัฐประหารที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้นำทหารว่า รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะประสบความสำเร็จได้ง่าย และอาจไม่ได้รับความสนับสนุนจากสังคมเช่นในอดีตของการเมืองไทย

ฉะนั้น ความล้มเหลวจากการยึดอำนาจถึง 2 ครั้งในปี 2524 และ 2528 เคยถูกใช้เป็นคำอธิบายเสมอว่า ผู้นำทหาร “เข็ดแล้ว” และจะไม่หันกลับมาเล่นบทเดิมอีก ดังนั้น ความล้มเหลวดังกล่าวจึงน่าจะเป็น “ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง” ที่สำคัญต่อการทำรัฐประหารในอนาคต

ในขณะเดียวกันสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยที่เป็นภัยคุกคามที่มักถูกใช้เป็นข้ออ้างของบรรดานักรัฐประหารก็ลดระดับลง สงครามในไทยคลายตัวออก จนหมดสถานะของการเป็นภัยคุกคามตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องเข้าปี 2526 เช่นเดียวกับสงครามเย็นในเวทีโลก ก็ขยับไปสู่จุดสุดท้าย จากการปฏิวัติครั้งใหม่ในยุโรปตะวันออก ไปสู่จุดผลิกผันใหญ่ด้วยการประกาศรวมชาติของเยอรมนี และตามมาด้วยการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปลายปี 2532… สัญญาณการสิ้นสุดของสงครามเย็นมาถึงแล้ว

โลกของทหารกำลังถูกเขย่าอย่างรุนแรง ไม่มีสงครามเย็นที่เคยใช้เป็นการแสวงหาความสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจภายนอก ไม่มีลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กองทัพใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ

ถ้าเช่นนั้น กองทัพในยุคหลังสงครามเย็น จะอยู่อย่างไรในทางการเมือง

และถ้าไม่มีสงครามเย็นเป็น “หลังพิง” ให้แก่ผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดแล้ว พวกเขาจะยังคิดที่จะยึดอำนาจอีกหรือไม่

ดังนั้น การลดระดับที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามภายในของไทยก็น่าจะเป็น “ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง” ที่สำคัญอีกประการ อย่างน้อยก็ทำให้กองทัพไม่มีข้ออ้างในการใช้ภัยคุกคามสงครามเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ

ในอีกด้านหนึ่ง “ภูมิทัศน์การเมืองโลก” กำลังเดินเข้าสู่จุดเปลี่ยน สงครามเย็นที่เกิดขึ้นในเวทีโลกกำลังจะปิดฉากลง เช่นเดียวกันกับโลกกำลังหมดภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และ “กระแสโลกาภิวัตน์” เริ่มขยับตัวที่จะพัดไปในมุมต่างๆ ของโลก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกาภิวัตน์เป็น “กระแสเสรีนิยม” ดังนั้น การเมืองโลกจึงค่อยๆ เดินออกจากระบอบอำนาจนิยม เปลี่ยนผ่านเป็นระบอบที่มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น

เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ตอบรับกับการรัฐประหาร ระบอบทหารที่เข้มแข็งที่สุดในละตินอเมริกาก็ถอยออกจากการเมือง ระบอบอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ก็อยู่ในภาวะถดถอย ทั้งในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก

อีกทั้งรัฐมหาอำนาจตะวันตกก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนรัฐบาลทหารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้ จึงน่าจะมีส่วนเป็น “ปัจจัยเหนี่ยวรั้ง” อย่างสำคัญต่อทหารไทย ดังเช่นที่เกิดในละตินอเมริกา

 

สดใส-ไร้กังวล!

ในไทยเอง สงครามคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงมานานก็ยุติลงแล้วตั้งแต่ปี 2526 หรือภัยคุกคามทางทหารชุดใหญ่ของสงครามของเวียดนามในกัมพูชาก็คลายตัวลงตั้งแต่ปี 2532

อีกทั้งรัฐบาลชาติชายยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการนำเสนอนโยบายแบบฉีกแนวคิดด้านความมั่นคงไทยในแบบเดิม ด้วยการ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า”

อันเป็นดังสัญญาณที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนชุดความคิดของผู้นำไทย อีกทั้งเป็นภาพสะท้อนอีกด้านถึงการพาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่การยุติสงครามเย็นอย่างชัดเจน

สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้สังคมไทยโดยรวม มีความรู้สึกแบบ “ไร้กังวล” กับปัญหาสงครามทั้งภายนอกและภายใน

สังคมเริ่มไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทของกองทัพในการเมืองเป็นปัจจัยหลักในการค้ำประกันความมั่นคงไทยเช่นในอดีต

ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในยุครัฐบาลชาติชายมีความเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ อันส่งผลให้เกิด “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ของประเทศ และสถานะทางเศรษฐกิจของไทยเป็น “ประเทศที่น่าลงทุน” อย่างมากในภูมิภาค

ไม่แปลกเลยที่จะกล่าวว่าในช่วงระยะเวลานั้น ไทยได้กลายเป็น “ตัวแบบ” ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่มีภาพปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ด้วยการเดินคู่ขนานระหว่าง “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” กับ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” อีกทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นดัง “ตัวอย่างของความสำเร็จ” สำหรับประเทศในภูมิภาค เช่น ทหารอินโดนีเซียและทหารพม่าควรต้องเรียนรู้จากไทย

แม้การเมืองภายในของไทยจะมีจุดอ่อนหลายประการก็ตาม แต่หลายฝ่ายล้วนประเมินในแง่ดีว่า ไทยกำลังเดินทางเข้าสู่การเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือ “นิค” (NIC) ตามเส้นทางของการสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม…

อนาคตของไทยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจดูสดใสอย่างยิ่ง จนแทบไม่ต้องกังวลกับการหวนคืนของรัฐประหารจริงหรือ?

แต่ในความสดใสไร้กังวลเช่นนี้… เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยเฉพาะเกิดความหวาดระแวงของผู้นำทหารที่กลัวหมดอำนาจ ใครเลยจะกล้ารับประกันว่า ผู้นำทหารจะไม่หวนคืนสู่การยึดอำนาจ

ฉะนั้น รัฐประหาร 2534 จึงเป็นคำตอบในตัวเองอีกครั้งถึง “กับดักรัฐประหาร” ที่การเมืองไทยยังไม่สามารถตัดขาดและหยุดวงจรเช่นนี้ได้จริง

ฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมีความเปราะบางเสมอ อันส่งผลให้ “ระบอบประชาธิปไตยใหม่” (The New Democracy) มีความเปราะบางตามไปด้วย การจัด “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร” ในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ข้อ (ไม่) คิด-บท (ไม่) เรียน!

หลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปตาม “สูตรเก่า” ที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ และจะตั้งพรรคทหารเพื่อเป็นเครื่องมือในการพาผู้นำรัฐบาลรัฐประหารให้เป็นผู้นำรัฐบาลเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 และพรรคสามัคคีธรรมจึงเป็นกลไกหลักในการพา พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ผิดจากคำสัญญาของเขาที่มีต่อสังคม แม้จะอธิบายว่าจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” แต่วาทกรรมนี้กลับเติมเชื้อไฟให้กองเพลิงของการประท้วงใหญ่ที่ถนนราชดำเนิน และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางไม่ต่างจากปี 2516

ในที่สุด เมื่อรัฐบาลของผู้นำทหารเผชิญกับแรงกดดันของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไม่ได้ รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจใช้กำลังในการล้อมปราบผู้ชุมนุมในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535…

ผู้นำทหารอาจจะเชื่อมั่นใน “อำนาจปืน” และเชื่อเสมอว่า ปืนจะควบคุมทุกอย่างในสังคมการเมืองไทยได้ เช่นที่เขาประสบความสำเร็จในการรัฐประหารมาแล้วในต้นปี 2534

แต่ครั้งนี้กลับไม่เป็นไปดังที่ผู้นำทหารคาดหวัง สถานการณ์เกิดอาการ “ตีกลับ” การปราบปรามไม่ประสบความสำเร็จ ผู้นำทหารเป็นฝ่ายแพ้ และมีนัยที่สำคัญคือ “กองทัพแพ้สงครามบนถนน” ไม่ต่างจากปี 2516 และเป็น “ฤดูใบไม้ผลิ” อีกครั้งของการเมืองไทย

แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันใน 4 ประการว่า

1) การลดบทบาทของทหารในปี 2535 ไม่ได้บ่งบอกถึงการยุติบทบาททางการเมืองของกองทัพ

2) ไม่มีเครื่องบ่งชี้แต่อย่างใดว่า รัฐประหาร 2534 จะเป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้าย

3) ความพ่ายแพ้ของทหารในกรณีนี้มิได้มีนัยถึงการปฏิรูปกองทัพ แม้จะมีการดำเนินการบางประการ แต่ก็มิได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของทหารในการเมืองไทย กองทัพยังมีฐานะ “ศูนย์อำนาจ” ทางการเมือง

และ 4) แม้สงครามเย็นยุติลง ก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพในทางทหารแต่อย่างใดด้วย

เราจึงอาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า “พฤษภาประชาธิปไตย” มิได้ก่อให้เกิดการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่ เพื่อรองรับต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของไทยในอนาคต

ในอีกด้านของคำตอบอย่างเจ็บปวดหลัง “พฤษภาประชาธิปไตย” จึงเป็นเสมือนกับการนั่งรอการมาของความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ เพื่อที่จะนำไปสู่การยึดอำนาจใหม่…

รัฐประหาร 2549 ตามมาอีกครั้งในปี 2557 คือคำตอบที่เป็นรูปธรรมในกรณีนี้ ปัจจัยเหนี่ยวรั้งทางทฤษฎีไม่ช่วยหยุดการรัฐประหารไทยได้เลย จนแม้วันนี้ การเมืองไทยก็ยังติดอยู่ใน “กับดักรัฐประหาร” ไม่จบ!

2565- ครบรอบ 3 ทศวรรษของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรายังคงมีรัฐบาลพันทางจากการรัฐประหารอยู่ในอำนาจไม่แตกต่างจากปี 2535 แต่ต้องไม่ลืมว่าครั้งนั้น “ประชาชนชนะและกองทัพแพ้” หรือว่า 2565 คือด้านกลับที่เจ็บปวดของ “ชัยชนะชั่วคราว” ในปี 2535!…

ขอร่วมรำลึกและคารวะ “วีรชนประชาธิปไตย 2535”