มองทวนสวนกระแสรัสเซีย : บอริส คาการ์ลิตสกี (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสรัสเซีย

: บอริส คาการ์ลิตสกี (จบ)

 

Boris Kagarlitsky ปัญญาชนสาธารณะมาร์กซิสต์ชาวรัสเซียได้ให้สัมภาษณ์ ลอเรน บัลฮอร์น บก.วารสาร Jacobin เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเชื่อมโยงสงครามรุกรานยูเครนเข้ากับการเมือง ภายในรัสเซียภายใต้ระบอบปูติน (https://jacobin.com/2022/07/russia-ukraine-war-media-public-apolitical-vladimir-putin)

ด้วยมุมมองทวนสวนกระแสหลักได้น่าสนใจ

ผมขอเรียบเรียงนำมาเล่าต่อดังนี้ :

 

บัลฮอร์น : อ้าว ถ้าหากไม่มีแผน งั้นอะไรที่ผลักดันปูตินให้ข้ามแม่น้ำรูบิคอน (สำนวนอิงประวัติศาสตร์โรมัน สมัยจูเลียส ซีซาร์ หมายถึงการล่วงละเมิดบัญญัติข้อห้ามซึ่งจะนำไปสู่สงครามแตกหักกัน) แล้วรุกรานยูเครน หลังตรึงกำลังชะงักงันกันอยู่ในเขตดอนบาสตั้งแปดปีล่ะครับ?

คาการ์ลิตสกี : นั่นก็เป็นความหลงผิดที่แพร่หลายแต่เข้าใจได้อีกอย่างหนึ่งในการวิเคราะห์ของฝ่ายตะวันตก กล่าวคือ หลงคิดไปว่าสงครามครั้งนี้มีรากเหง้ามาจากภูมิรัฐศาสตร์ ผมกลับคิดว่าการเมืองระหว่างประเทศมีบทบาทรองมากๆ เลยครับถ้าหากจะมีอยู่บ้างในการตัดสินใจครั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วมันถูกกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นโดยสถานการณ์ในประเทศต่างหาก ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมมันถึงได้เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกเฉียบพลันและล้มเหลวอย่างน่าสังเวชถึงขนาดนั้น มันไม่ได้เตรียมการไว้ครับ ไม่มีการทูตอยู่เบื้องหลังมันเลยเพราะมันไม่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ มันเป็นเรื่องนโยบายในประเทศต่างหาก

ระหว่างช่วงที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก” จากปี 2008 ถึง 2010 นั้น เศรษฐกิจรัสเซียหดตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอื่นใดครับ รัสเซียพึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งเนื้อทั้งตัว ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกหดตัว อุปสงค์ต่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ตกฮวบ และนั่นนำไปสู่ความล่มจมทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ถึงปี 2011 รัสเซียกลับจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วที่สุด พอธนาคารกลางสหรัฐเริ่มโครงการผ่อนคลายปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ (quantitative easing program ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/q/quantitative-easing) การเก็งกำไรกันระดับสูงในตลาดน้ำมันก็ช่วยเทเงินเข้าใส่หน้าตักบรรดาบริษัทและชนชั้นนำของรัสเซีย นำไปสู่วิกฤตการสะสมทุนล้นเกินแบบคลาสสิค

กล่าวคือ พวกเขามีเงินล้นเหลือเฟือฟายแต่ไม่มีที่ให้เอาไปลงทุน การจะมีที่ให้ลงทุนนั้นจะเป็นไปได้ก็แต่โดยคุณต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจรัสเซียเสีย ซึ่งย่อมหมายความด้วยว่าต้องเปลี่ยนโครงสร้างสังคมรัสเซีย ซึ่งมันไม่ใช่อะไรที่คุณจะทำในเมื่อคุณมีรัฐบาลและชนชั้นนำที่อนุรักษนิยมทั้งแท่งขนาดนั้นนะครับ

นี่กลายเป็นเชื้อเพลิงขับดันความขัดแย้งให้แรงขึ้นเพราะทุกคนมองเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกำลังถ่างกว้างออกไปรวดเร็วยิ่งต่อให้เอาไปเปรียบกับช่วงก่อนก็ตาม มันยังนำไปสู่ความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำด้วยว่าจะแบ่งสันปันส่วนเงินมหึมาก้อนนี้กันอย่างไรระหว่างกลุ่มต่างๆ

ผลลัพธ์ก็คือเกิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างสะพานไครเมียซึ่งเป็นสะพานแพงระยับที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว (สะพานไครเมียข้ามช่องแคบ Kerch ซึ่งมีทั้งทางรถยนต์และรางรถไฟยาวที่สุดในยุโรปถึง 19 กิโลเมตรนี้ก่อสร้างเสร็จในปี 2018 และมีค่าก่อสร้างสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะพานดังกล่าวอาจตกเป็นเป้าโจมตีทำลายของฝ่ายยูเครนในสงครามปัจจุบันได้ https://eurasiantimes.com/russia-boosts-3-7b-kerch-bridge-defenses-as-us-says-ukraine/)

ในสถานการณ์เช่นนี้ การขยายแสนยานุภาพจึงเป็นวิธีใช้เงินพิเศษก้อนนี้อีกทางหนึ่ง คุณสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นมามากมายแล้วคุณก็ต้องหาทางใช้มันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณก็เลยเข้าไปที่ซีเรีย (หมายถึงการที่รัสเซียแทรกแซงทางทหารเข้าไปในสงครามกลางเมืองของซีเรียตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา https://reliefweb.int/report/syrian-arab-republic/what-russian-invasion-means-syria)

กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว คุณก็แค่เผาเงินเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคุณเท่านั้นเอง ลัทธิขยายอำนาจที่ว่านี้มาพร้อมกับแง่มุมที่สามอันได้แก่เรื่องปูตินกำลังป่วยหนักครับ

บัลฮอร์น : ป่วยทางกายภาพหรือไงครับ?

คาการ์ลิตสกี : เขาป่วยเป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ ครับ แน่ล่ะมันเป็นข่าวลือแต่ใครๆ ตามท้องถนนก็รู้เรื่องนี้กันทั้งนั้น หรือต่อให้เขาไม่ป่วย เขาก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่ตลอดไป เขาอยู่ในอำนาจมากว่ายี่สิบปีแล้วนะครับ และพอคุณกำลังมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ใครขึ้นมาปกครองต่อจากคุณ คุณย่อมต้องถามว่า : คุณจะจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไรดี?

ปูตินพร่ำสัญญาว่าจะเดินเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่าน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยทำสักที เพราะลงเขาเสนอชื่อผู้สืบทอดอำนาจเมื่อไหร่ เขาก็จะคุมเกมไม่อยู่อีกต่อไปเมื่อนั้น เดิมทีมีแผนจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันในปี 2020 ซึ่งตัวปูตินเองก็เห็นชอบด้วย เพื่อจะจัดระเบียบช่วงเปลี่ยนผ่านออกมาในลักษณะที่ปูตินจะยังคงเป็นผู้นำสูงสุดอยู่ทำนองอยาตอลเลาะห์ในอิหร่าน แต่แล้วในวันเดียวกับที่สภาดูมากำลังวางแผนจะโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเอง จู่ๆ วาเลนตินา เทเรชโควา ซึ่งเป็นสมาชิกสภาดูมาฝ่ายสนับสนุนปูตินก็เรียกร้องให้ต่ออายุการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปูตินออกไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และแน่นอนครับว่าทุกคนก็เปลี่ยนใจภายในยี่สิบนาทีแล้วโหวตแหกโผตามกันไป

สรุปคือ พวกเขาทำลายเหล่าสถาบันที่ออกแบบมาเพื่อจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านลงไป ดังนั้น ตอนนี้พวกเขาก็เลยมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่ปราศจากกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้นและจัดการโดยตัวปูตินเอง เพื่อการนั้น คุณจำต้องมีอำนาจพิเศษ แล้วทำไงคุณถึงจะมีอำนาจพิเศษได้ล่ะ? ก็ทำสงครามน่ะซีครับ

นั่นแหละครับคือเรื่องราวความเป็นมาของการที่พวกเขามาถึงจุดที่จำต้องมีสงคราม แต่พวกเขาไม่ได้ต้องการสงครามประเภทที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้นะครับ ที่พวกเขาคิดไว้คือรบกันช่วงสั้นๆ ประกาศชัยชนะแล้วก็บริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้ตามใจชอบ หลังกระบวนการเสร็จสิ้นลง บางทีประธานาธิบดีคนถัดไปก็จะจัดการดูแลการรอมชอมคืนดีกับโลกตะวันตกเองน่ะแหละ

พวกเขามั่นใจเต็มร้อยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในยูเครนจะล่มสลายลงภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงครับ บางทีแผนที่ว่าอาจใช้การได้เมื่อปี 2014 แต่มันใช้การไม่ได้ในปี 2022 พวกเขาล้มเหลวไม่เป็นท่าครับ

 

บัลฮอร์น : เมื่อพวกชนชั้นนำตกอยู่ในวิกฤตขนาดนั้น ฝ่ายซ้ายในรัสเซียล่ะครับแตกแยกกันแค่ไหนอย่างไรเรื่องสงครามรุกรานยูเครน? มองไกลๆ จากภายนอก ดูเหมือนว่าพรรคคอมมิวนิสต์และสหภาพแรงงานส่วนใหญ่เอาเข้าจริงสนับสนุนสงคราม

คาการ์ลิตสกี : ขบวนการสหภาพแรงงานอิสระในรัสเซียอ่อนแอยิ่งครับ ส่วนสหภาพแรงงานทางการก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับขบวนการแรงงานจริงๆ

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพรัสเซียนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 แนวโน้มครับ แนวโน้มแรกคือฝ่ายนำพวกเขาบูรณาการเข้ากับระบบหมดเนื้อหมดตัวและทำอะไรก็แล้วแต่ที่ได้รับคำสั่งให้ทำ จากนั้นคุณก็มีพวกพลพรรคซึ่งส่วนใหญ่แล้วคัดค้านสงครามอย่างอังเดร ดานิลอฟ เป็นต้น (https://thebarentsobserver.com/en/life-and-public/2022/04/sami-activist-and-war-protester-kola-seeks-asylum-norway) และก็มีพวกที่อยู่ตรงกลางเหมือนแต่ไหนแต่ไรล่ะครับ นักการเมืองที่หุบปากรอดูว่าชนะไหนเล่นด้วยช่วยกระพือ

ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยอีกพรรคที่ชื่อว่า ธรรมรัสเซีย (A Just Russia) นั่นยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ครับ พวกเขาพากันออกคำแถลงคลั่งชาติเหลือเชื่อที่แทบจะเป็นฟาสซิสต์ แต่หลายคนเหมือนกันก็ออกจากพรรคไป และพลพรรคทั้งหลายก็เรียกได้ว่าสลายหายวับกันไปเลยทีเดียว ผมรู้จักสมาชิกพรรคอีกบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์สงครามเข้มข้นยิ่ง แต่เลือกที่จะสงบปากคำมากกว่า นอกเหนือจากนี้ก็แน่ล่ะครับว่ามีพวกซ้ายอิสระซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เคลื่อนไหวกันทางยูทูบและเทเลแกรม

บัลฮอร์น : มีกลุ่มอิสระขนาดเล็กกลุ่มไหนบ้างไหมครับที่พอมีฐานจริงในสังคม?

คาการ์ลิตสกี : ผมว่าก็พอมีนะครับ พวกเขาอาจดูเหมือนเป็นแค่กลุ่มชายขอบ แต่กิจกรรมการเมืองที่เป็นจริงใดๆ ในรัสเซียตอนนี้ก็ล้วนอยู่ชายขอบกันทั้งนั้นแหละครับ กำลังมีการผสมผสานก่อตัวกันขึ้นใหม่อยู่ และในความหมายนั้น

การส่งเสียงให้ปรากฏก็จำเป็นยิ่งเพื่อหยั่งรากจริงลงในสังคม ผมคิดว่าพวกเรากำลังทำกันได้ค่อนข้างดีนะครับในสภาพการณ์ปัจจุบัน

 

บัลฮอร์น : แลไปข้างหน้าในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปครับ? คุณพอเห็นช่องทางเปิดสำหรับขบวนการต่อต้านสงครามหรือหัวก้าวหน้าในสังคมรัสเซียบ้างไหมครับ?

คาการ์ลิตสกี : ผมคิดว่ากองทัพกำลังจะล้าหมดแรงครับ การที่โลกตะวันตกจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้ฝ่ายยูเครนกำลังเปลี่ยนสถานการณ์ทางทหารไปอย่างร้ายแรงยิ่งครับ มันเหมือนกับสงครามไครเมียมากทีเดียว (หมายถึงสงครามในคาบสมุทรไครเมียระหว่างปี 1853-1856 ซึ่งรัสเซียปราชัยให้แก่กำลังพันธมิตรของจักรวรรดิออตโตมัน, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และปิเอด์มองต์-ซาร์ดิเนีย) เมื่อครั้งบริเตนกับฝรั่งเศสมีอาวุธเหนือกว่ารัสเซีย ถ้าคุณคุยกับคนใกล้ชิดสถาบันทหารรัสเซียก็จะพบว่าพวกเขาวิตกกังวลยิ่ง และบางทีก็ถึงขั้นตื่นกลัวเลยทีเดียว

ผมคิดว่าถ้าหากรัสเซียประสบความพ่ายแพ้มากขึ้นในยูเครนละก็ อาจมีบางอย่างเกิดขึ้นได้ ผมไม่รู้หรอกว่าอะไร แต่เหตุพลิกผันชวนแตกตื่นบางอย่างน่าจะเกิดขึ้น ผมไม่ได้กำลังบอกนะครับว่าพวกเขาจะก่อรัฐประหาร เพราะมันเป็นอะไรที่อยู่นอกแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติของทหารรัสเซียเอามากๆ แต่พวกเขาอาจเข้าแทรกแซงทางใดทางหนึ่งก็เป็นได้

ถ้าหากพวกเขาขืนประกาศระดมพลทั่วไป หรือขยายการเกณฑ์ทหารไปครอบคลุมคนจำพวกใหม่ๆ ละก็ เราจะเจอกับการก่อกบฏ เราไม่รู้หรอกครับว่าเอาเข้าจริงปฏิกิริยาที่แน่ชัดจะเป็นไง แต่มันจะเป็นเชิงลบอย่างยิ่งเลยทีเดียว

เมื่อวานนี้เองผมพูดคุยกับกริกอรี ยูดิน นักสังคมวิทยาฝ่ายซ้ายอีกคนในมอสโกผู้เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ เขาพูดว่า “ดูสิ ถ้าคุณไปรอบกรุงมอสโก คุณจะเห็นอะไรรู้ไหม? รั้วมหึมาขึ้นอยู่ทุกหนแห่ง ไม่มีประเทศอื่นใดในยุโรปนะครับที่มีรั้วเยอะอย่างนี้” คนหลังรั้วน่ะไม่แคร์หรอกครับว่าอะไรอยู่อีกฟากรั้ว พวกเขาล้อมรั้วอยู่ในโลกเล็กๆ ของตัวเอง

รัฐบาลแฮปปี้มากทีเดียวกับสังคมตอนนี้ แต่ถ้าพวกเขาถูกบีบให้รื้อรั้วลงหมด อะไรบางอย่างจะโผล่ออกมาซึ่งจะพลิกเกมจากหน้ามือเป็นหลังมือ นี่เป็นสังคมที่คนกลุ่มเล็กๆ อยู่โดดเดี่ยวต่างหากจากกัน แต่ถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะพบปะกันไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม และนั่นน่ะคือจังหวะโอกาสสำหรับฝ่ายซ้ายและทุกคนที่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลงครับ ผู้คนต้องเรียนรู้ที่จะติดต่อสื่อสารกัน จะจัดตั้งกันอย่างไรและระบุบอกผลประโยชน์รวมหมู่ของพวกตนออกมาอย่างไร

นั่นคือจังหวะที่กำลังคืบใกล้เข้ามาและนั่นแหละครับคือโอกาสของเรา